หลายคนคงรู้จักแค่ว่า “ไต” คือ อวัยวะที่ทำงานเกี่ยวกับการขับของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ภายในอวัยวะไตของเราทุกคนนั้น มีหน่วยไตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการทำงานของไตอยู่
ความหมายของหน่วยไต
หน่วยไต (Nephrone) คือ หน่วยการทำงานสำคัญภายในไต และเป็นโครงสร้างสำคัญในการขับเอาของเสียในร่างกายออกไป ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะ ของเสียส่วนเกินในเลือด ในไตของคน 1 คนนั้น มีหน่วยไตกว่า 1 ล้านหน่วยอยู่ข้างใน
นอกจากนี้ หน่วยไตยังทำหน้าที่ควบคุมน้ำ หรือสารต่างๆ ภายในร่างกายให้สมดุล ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมระบบต่อมไร้ท่อผ่านทางฮอร์โมนต่างๆ เช่น ฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม และฮอร์โมนพาราไทรอยด์
ส่วนประกอบของหน่วยไต
ภายในหน่วยไต ประกอบไปด้วย
- โบว์แมน แคปซูล (Bowman’s Capsule) มีลักษณะคล้ายถ้วยที่พองออกมาจากท่อของหลอดไต ภายในเต็มไปด้วยกระจุกหลอดเลือดฝอย (Glomerulus) ทำหน้าที่กรองสารต่างๆ ออกจากร่างกาย
- โกลเมอรูลัส (Glumerulus) เป็นกลุ่มเส้นเลือดฝอยต่อจากเส้นเลือดแดงที่ต่อเข้ากับไต จะอยู่ในโบว์แมน แคปซูลอีกที
- หลอดไตส่วนต้น (Proximal Convoluted Tubule: PCT) เป็นส่วนแรกของระบบท่อซึ่งต่อกับโบว์แมน แคปซูล มีลักษณะคดไปมา ทำหน้าที่ดูดซึมสารที่ยังมีประโยชน์กลับสู่ของเหลว แล้วเข้าสู่กระแสเลือด
- หลอดไตส่วนปลาย (Distal Convoluted Tubule: DCT) เป็นส่วนอยู่ปลายสุดของระบบท่อขนาดเล็กของไต อยู่ต่อจากท่อขาขึ้นของห่วงเฮนเล มีลักษณะเหมือนหลอดไตส่วนต้น แต่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า
หลอดไตส่วนปลายนี้ทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งดูดซึมน้ำ ดูดซึม และขับออกในส่วนของสารโซเดียม แคลเซียม โพแทสเซียม ไฮโดรเจน แอมโมเนียม ไอออน อีกทั้งช่วยขับสารพิษ และยาออกสู่น้ำกรองด้วย - หลอดไตรวม (Collecting tube) เป็นท่อส่วนที่รวบรวมของเหลวซึ่งผ่านมาจากหลอดไตส่วนปลาย หลอดไตรวมหลายๆ หลอดเมื่อรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น จะเรียกได้อีกชื่อว่า “ท่อพาพิลลารี (Papillary duct)”
- ท่อของหน่วยไต (Concoluted tubule) ทำหน้าที่ในการดูดกลับ และหลั่งสาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ท่อขดส่วนต้น (Proximal convoluted tubule) ทำหน้าที่ดูดซึมสารต่างๆ กลับเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งในส่วนนี้เป็นบริเวณที่มีการดูดซึมสารกลับเข้ากระแสเลือดได้มากที่สุด คือ ประมาณ 65 % ของร่างกาย
- ห่วงเฮนเล (Loop of Henle) เป็นบริเวณที่มีการดูดน้ำกลับมากที่สุด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ท่อขาลง (descending limb) และท่อขาขึ้น (ascending limb)
- ท่อขดส่วนท้าย (distal convoluted tubule) ทำหน้าที่เชื่อมต่อไปยังกรวยไต และท่อไต เพื่อนำน้ำปัสสาวะไปเก็บที่กระเพาะปัสสาวะ และรอการขับถ่าย
การทำงานของหน่วยไต
หน้าที่ของหน่วยไต มีดังต่อไปนี้
- กรองของเสียออกจากร่างกาย ส่วนประกอบของหน่วยไตที่ทําหน้าที่กรองของเสีย คือ โกลเมอรูลัส โดยกระบวนการกรองของเสียออกจากร่างกายจะผ่านเยื่อบุ 3 ชั้น ได้แก่
- ชั้นที่ 1 กรองผ่านผนังหลอดเลือดฝอยโกลเมอรูลัสในชั้นนี้ จะมีแค่น้ำที่ผ่านไปได้พร้อมกับสารที่เป็นโมเลกุลเล็กๆ เท่านั้น เช่น เกลือ ยูเรีย กลูโคส กรดอะมิโน แต่ถ้าโกลเมอรูลัสทำงานผิดปกติ จะพบเม็ดเลือดแดงและอัลบูมินโปรตีนในปัสสาวะ
- ชั้นที่ 2 กรองผ่านชั้นเบสเมนต์เมมเบรน (Basement Membrane) ของโกลเมอรูลัส ซึ่งจะทำหน้าที่กรองสารที่เป็นโปรตีนขนาดใหญ่
- ชั้นที่ 3 กรองผ่านเยื่อบุผนังของโบว์แมนแคปซูล (Bowman capsule) ทำหน้าที่กรองของเหลวออกจากเลือด
- ดูดของเหลวกลับไปที่ท่อของหน่วยไต ในแต่ละวันจะมีของเหลวที่ถูกกรองออกมาอย่างน้อย 180 ลิตร ซึ่งร่างกายไม่ได้ขับของเหลวเหล่านั้นออกทิ้งทั้งหมด
เพราะเมื่อของเหลวถูกกรองผ่านโกลเมอรูลัสแล้ว สารที่มีประโยชน์ เช่น กลูโคส กรดอะมิโน วิตามิน น้ำ และสารอาหารต่างๆ จะถูกดูดกลับเข้ากระแสเลือดประมาณ 98-99 % ส่วนที่เหลือ 1-2 % คือ น้ำปัสสาวะ ซึ่งถูกขับทิ้งออกจากร่างกายประมาณวันละ 1.5 ลิตร - หลั่งสารออกมาจากท่อของหน่วยไต ซึ่งสารที่หลั่งออกมา จะได้แก่
- โพแทสเซียมไอออน (K+) โพแทสเซียมไอออนจะหลั่งออกมาจากหน่วยไตเมื่อมีความเข้มข้นสูงเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจ
- หลั่งไฮโดรเจนไอออน (H+) เพื่อรักษาระดับค่า pH ในของเหลวในร่างกายให้คงที่และควบคุม pH ในเลือด
- หลั่งแอมโมเนีย (NH3) เพื่อลดความเป็นกรดในของเหลว
คุณจะเห็นได้ว่า ทุกส่วนของอวัยวะไต มีหน้าที่สำคัญในการขับของเสียซึ่งเป็นอันตรายออกไปจากร่างกาย และกักเก็บของเหลวส่วนที่มีประโยชน์เอาไว้ใช้งานต่อ ดังนั้นคุณจึงต้องบำรุงดุแลสุขภาพไตให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งวิธีการบำรุงไตนั้นทำได้ไม่ยาก โดยหลักๆ คือ ให้คุณดื่มน้ำให้เพียงพอทุกๆ วัน เพื่อให้ร่างกายมีสารน้ำขจัดของเสียในร่างกายได้เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีผัก และผลไม้บางชนิดซึ่งช่วยบำรุงไตได้ เช่น งาดำ กระเทียมสด แครนเบอร์รี่ หอมหัวใหญ่ เกาลัด