ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดได้ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจนในระยะแรก หากไม่รู้ตัวและปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ในการตรวจซิฟิลิสมาฝากกัน
สารบัญ
ซิฟิลิสคืออะไร?
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) เชื้อแบคทีเรียนี้จะอยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย รวมถึงในน้ำลายด้วย สามารถติดต่อด้วยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย การจูบ รวมถึงการทำออรัลเซ็กซ์
โรคซิฟิลิสหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาจนถึงอาการระยะสุดท้ายอาจอันตรายถึงชีวิต
ซิฟิลิสติดต่อทางไหน?
แม้ซิฟิลิสจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้จากหลายทาง ดังนี้
- สามารถติดผ่านการสัมผัสโดยตรงกับแผลซิฟิลิสขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก
- สตรีที่ตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปให้สู่ทารกที่อยู่ในครรภ์
- รับเลือดจากผู้ป่วยซิฟิลิส
อาการของซิฟิลิส?
โรคซิฟิลิสมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจนในระยะแรกๆ จึงปล่อยไว้ไม่ได้รับการตรวจและรักษา จนโรคลุกลามและรุนแรงขึ้นในที่สุด โดยโรคซิฟิลิสสามารถแบ่งอาการออกเป็นระยะได้ดังนี้
อาการของโรคซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary Syphilis)
อาการระยะแรกคือมีแผลริมแข็งเล็กๆ กลม ไม่เจ็บ ขอบยกนูนแข็ง อาจมีหลายแผลเกิดที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ผู้ป่วยอาจไม่สังเกตหรือไม่รู้ตัวเพราะแผลมีขนาดเล็กและไม่รู้สึกเจ็บ ระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนเกิดอาการใช้เวลา 10-90 วัน โดยปกติอาการเหล่านี้จะหายไปเองแต่เชื้อยังอยู่ในร่างกาย หากไม่ได้รับการตรวจและรักษาก็จะเข้าสู่ระยะที่ 2
อาการของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary Syphilis)
อาการโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 มักเกิดผื่นขึ้นที่ตัว ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางครั้งอาจเกิดแผลนูนบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย และอาจลุกลามไปทั่วร่างกายแต่จะไม่มีอาการคัน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
อาการเหล่านี้สามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย
ช่วงนี้จะเข้าสู่ระยะแฝงของโรคซิฟิลิส (Latent Stage) เป็นช่วงที่ไม่มีอาการใดๆ เลยเป็นเวลานาน บางคนอาจอยู่ในระยะนี้นาน 10-20 ปี จึงทำให้เข้าใจว่าตนเองหายดีแล้ว และไม่ไปรับการตรวจรักษา จนเข้าสู่ระยะที่ 3 ในที่สุด
อาการของโรคซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary Stage)
ซิฟิลิสในระยะที่ 3 เชื้อจะลุกลามไปยังระบบหัวใจและหลอดเลือด ตา ตับ กระดูก และระบบประสาท ทำให้มีอาการตั้งแต่ปวดข้อต่อตามร่างกาย บางรายอาจหูหนวก ตาบอด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมอาจอันตรายถึงชีวิตได้
โรคซิฟิลิสมีต่อการตั้งครรภ์และทารกไหม?
โรคซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อไปยังทารกระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยทารกอาจเสียชีวิตขณะคลอดหรือหลังคลอด ทารกที่ติดเชื้อเมื่อคลอดออกมาอาจไม่มีอาการ และถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็อาจเกิดอาการรุนแรงได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด และในระยะยาวหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาทารกอาจมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ รวมถึงอาจมีความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น จมูกมีรุปร่างบิดเบี้ยว โครงสร้างฟันผิดปกติ การได้ยินผิดปกติ เป็นต้น
โรคซิฟิลิสกับเอชไอวีสัมพันธ์กันอย่างไร?
ผู้เป็นโรคซิฟิลิสมีโอกาสติดเอชไอวี (HIV) ได้มากกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่าเมื่อเทียบกับคนธรรมดาเพราะผู้เป็นโรคซิฟิลิสจะมีแผลที่ผิวหนังหรือแผลในเยื่อบุ ทำให้สูญเสียความสามารถในการป้องกันโรค และแผลซิฟิลิสจะมีเลือดออกง่าย ถ้าสัมผัสกับเยื่อบุในปาก ทวารหนักขณะมีเพศสัมพันธ์จะเพิ่มโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น
ใครควรตรวจซิฟิลิส?
แม้โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็มีโอกาสติดต่อจากช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน ทำให้ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่คิดว่าคู่นอนของตัวเองมีความเสี่ยงต่อโรคซิฟิลิส
- ผู้ที่ไม่ได้ป้องกันตัวเอง ไม่ใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่กำลังวางแผนจะมีบุตร
- กลุ่มคนทั่วไปที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
- กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับบริจาคเลือด
ตรวจซิฟิลิสมีกี่วิธี?
การตรวจซิฟิลิสมีหลายวิธี ทั้งแบบตรวจด้วยตัวเองและตรวจที่โรงพยาบาล สำหรับการตรวจตัวด้วยเองมีชุดตรวจสำเร็จรูป (Rapid Test) ซึ่งสามารถซื้อมาตรวจเองได้ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่แนะนำให้ตรวจด้วยวิธีนี้ เพราะประสิทธิภาพเหมาะกับการตรวจคัดกรองเท่านั้น ควรเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการจะได้ผลตรวจที่แม่นยำและแน่นอนกว่า โดยเราสามารถจำแนกวิธีตรวจซิฟิลิสได้หลักๆ 3 วิธีคือ
1. Darkfield Exam
การตรวจ Darkfield Exam คือการนำหนองจากแผลผู้เข้ารับการตรวจไปส่องกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ Darkfield เพื่อหาตัวเชื้อซิฟิลิสโดยดูผ่านกล้องวิดีโอและสามารถดูผลได้บนจอภาพ วิธีนี้เหมาะกับผู้มีอาการระยะเริ่มต้นที่พบแผลบริเวณอวัยวะเพศ
2. การตรวจเลือด
เป็นการตรวจเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 วิธี คือ
2.1. การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส
เป็นวิธีการง่ายๆ ค่าใช้จ่ายไม่แพง จัดเป็น Rapid test ปัจจุบันมีแบบชุดตรวจสำเร็จที่ใช้หลักการเดียวกันนี้ขายโดยสามารถหาซื้อมาตรวจเองหรือเลือกใช้บริการที่โรงพยาบาลก็ได้ โดยมี 2 วิธีดังนี้
- การตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยวิธี VDRL (Venereal Disease Research Laboratory test) ใช้ Cardiolipin, Lecithin, Cholesterol Antigen จากเนื้อเยื่อของสัตว์มาทดสอบกับแอนติบอดีของผู้เข้ารับการตรวจ
- การตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยวิธี RPR (Rapid Plasma Reagin)ใช้สาร Cardiolipin (โมเลกุลของไขมันที่ซับซ้อนที่พบในสัตว์พืชและแบคทีเรีย) เคลือบบนผงถ่านเล็กๆ มาทดสอบกับแอนติบอดีของผู้เข้ารับการตรวจ
หากผลตรวจแบบ VDRL หรือ RPR เป็นบวก ควรตรวจเลือดซ้ำเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เพราะผลบวกอาจมาจากการติดเชื้อโรคอื่น เช่น โรคมะเร็ง โรคตับ เป็นต้น
โดยทั้ง 2 วิธีเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคซิฟิลิสทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป็นการตรวจหาว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเชื้อซิฟิลิสขึ้นมาหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสโดยตรง โดยปัจจุบันใช้เพื่อการตรวจคัดกรองการบริจาคโลหิต การออกใบรับรองแพทย์เพื่อศึกษาต่อหรือทำงานต่างประเทศ
2.2. การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส
เป็นการตรวจเพื่อยืนยันผลตรวจซึ่งมีหลายวิธี แต่ที่ได้รับความนิยมมี 3 วิธีหลักๆ คือ
- Fluoescent Treponement Antibody Asorption Test หรือ FTA-ABS คือการตรวจโดยนำเซรั่ม (Serum) ซึ่งเป็นส่วนของน้ำเหลืองที่ได้จากการปั่นแยกออกจากเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ ไปทำปฏิกิริยากับตัวดูดซับ (Absorbent) ที่ผสมกับเชื้อ Treponema Phagedenis Biotype Rieter และใช้สารเรือง (Fluorescein Isothiocyanate) ช่วยในการอ่านผลปฏิกิริยา หากมีเชื้อซิฟิลิสจะเห็นสารเรืองแสงจับตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ตัวเชื้อซิฟิลิส วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญในการทดสอบและอ่านผลปฏิกิริยา แต่ประสิทธิภาพของผลตรวจมีความแม่นยำมากกว่าวิธีอื่น
- Treponemal Pallidum Hemagglutination test หรือ TPHA คือการตรวจโดยใช้เม็ดเลือดแดงที่เคลือบแอนติเจนของเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม มาทำปฏิกิริยากับเซรัมของผู้ป่วย หากมีเชื้อซิฟิลิสจะสังเกตเห็นเม็ดเลือดเกาะกลุ่มและแผ่เป็นวงกว้าง
- Treponema Pallidum Particle Agglutination หรือ TP-PA มีลักษณะวิธีการตรวจและการอ่านผลปฏิกิริยาเหมือนกับ TPHA แต่ใช้เม็ดเจลาติน (Gelatin Particle) แทนเม็ดเลือดแดงที่เคลือบแอนติเจนของเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม มาทำปฏิกิริยากับเซรัมของผู้ป่วยและหากพบเชื้อซิฟิลิสจะสังเกตเห็นเม็ดเจลาตินเกาะกลุ่มและแผ่เป็นวงกว้างเป็นสีชมพู
3. การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid Test)
จะทำในกรณีสงสัยว่ามีการติดเชื้อในระบบประสาทระยะที่เป็นแผล จะวินิจฉัยโดยเอาน้ำไขสันหลังมาตรวจด้วยกล้อง Darkfield
ใช้เวลาเท่าไรจึงจะทราบผล?
การตรวจซิฟิลิสมีหลายวิธีแต่ละวิธีใช้เวลาวิเคราะห์ผลตรวจแตกต่างกันไป ขึ้นกับความยากง่ายของวิธีการ
- การตรวจตัวด้วยเองมีชุดตรวจรอผล 15 นาที
- ตรวจแบบ VDRL รอผล 1 ชั่วโมง
- ตรวจแบบ RPR รอผล 1 ชั่วโมง
- ตรวจแบบ TPHA รอผล 1 ชั่วโมง
- ตรวจแบบ FTA-ABS รอผล 3 วัน
ควรตรวจซิฟิลิสหลังเสี่ยงกี่วัน?
โดยปกติร่างกายคนเราจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นประมาณ 7-10 วันหลังจากได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่ได้รับ และจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการตรวจโรคซิฟิลิสด้วยการหาภูมิคุ้มกันจะนิยมตรวจหลังเสี่ยง 21-30 วัน และแพทย์แนะนำให้ตรวจอีกครั้งหลัง 90 วันเพื่อความมั่นใจเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันหรือเชื้อมากพอ
ซิฟิลิสตรวจได้บ่อยแค่ไหน?
การตรวจซิฟิลิสสามารถตรวจบ่อยได้เท่าที่ต้องการ ดังนั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจะติดโรค เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือทราบว่าคู่นอนของตนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจแม้จะยังไม่มีอาการ นอกจากนี้ผู้ที่กำลังวางแผนแต่งงานหรือตั้งครรภ์ ก็ควรตรวจซิฟิลิสรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับคนทั่วไปที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ควรตรวจซิฟิลิสปีละ 1 ครั้ง
ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อเป็นโรคซิฟิลิส?
ทันทีที่สงสัยหรือรู้ว่าเป็นโรคซิฟิลิสควรจะปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
- ปฏิบัติและทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ของเคร่งครัด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นอาหารที่ประกอบด้วยข้าว ผลไม้ ถั่วต่างๆ และผัก รวมทั้งนมและไข่
- งดสุรา บุหรี่ น้ำชา กาแฟ และอาหารเผ็ดร้อน
- ดื่มน้ำมากๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกาย
- อาบน้ำบ่อยๆ และอาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
ซิฟิลิสจัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงสามารถเป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงและไม่มักแสดงอาการทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคนจะรู้ตัวเมื่ออาการอยู่ในระยะอันตรายแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงควรอย่างยิ่งที่จะตรวจหาเชื้อซิฟิลิสเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนในครอบครัว สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรตรวจเพื่อคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง