เจ็บคอ กลืนลำบาก ดูแลรักษาอย่างไร

อาการเจ็บคอ (Sore throat) คือ อาการระคายเคืองบริเวณคอ เป็นหนึ่งในอาการที่สร้างความทรมานไม่น้อยไปกว่าอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เพราะทำให้กลืนน้ำลาย หรือกลืนอาหารลำบาก อีกทั้งทำให้รู้สึกไม่สบายตัวด้วย ในบางครั้ง นอกจากอาการเจ็บคอแล้ว ผู้ป่วยยังอาจมีอาการไอ เสมหะ และเป็นไข้ร่วมด้วย

คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า เมื่อมีอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาเท่านั้น นั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป เพราะอาการเจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้มีวิธีรักษาแตกต่างกันไป

สาเหตุของอาการเจ็บคอ

สาเหตุหลักของอาการเจ็บคอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ

การติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการอักเสบที่คอ หรือเกิดอาการเจ็บคอได้ ส่วนมากจะเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ สามารถแบ่งเชื้อได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • เชื้อรา สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้ แต่พบได้น้อย เพราะส่วนมากมักเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • เชื้อไวรัส เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้มากที่สุด โดยเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้ เช่น
    • เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
    • เชื้อไวรัสไข้หวัด (Common cold)
    • เชื้อไวรัสหัด (Measles)
    • เชื้อไวรัสอีสุกอีใส (Varicella)
    • เชื้อไวรัสคางทูม (Mumps)
    • เชื้อไวรัสคอตีบเทียม (Parainfluenza)
  • เชื้อแบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้เช่นกัน โดยเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้ เช่น
    • เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีเนส (Streptococcus pyogenes) ที่ทำให้เกิดโรคคออักเสบ
    • เชื้อแบคทีเรียโครีนแบคทีเรียม (Corynebacterium) ที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ
    • เชื้อแบคทีเรียบอร์ดีเทลลา เปอร์ตัสซิส (Bordetella Pertussis) ที่ทำให้เกิดโรคไอกรน

2. สาเหตุที่ไม่ใช่การติดเชื้อ

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้ มีดังนี้

  • การใช้เสียงมากเกินไป การตะโกน หรือใช้ระยะเวลาในการพูดคุยมากเกินไป
  • การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่คอได้
  • กรดไหลย้อน เกิดจากกรดที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่บริเวณลำคอ
  • อากาศ สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้ โดยเฉพาะอากาศแห้งที่ไม่มีความชื้น ซึ่งทำให้เกิดการเสียดสีในลำคอจนเกิดอาการระคายคอนั่นเอง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด สามารถทำให้เกิดอาการระคายคอจนทำให้เจ็บคอได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต

อาการเจ็บคอ

อาการเจ็บคอซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันย่อมมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน ดังนั้นหากหาสาเหตุของอาการเจ็บคอได้จะทำให้สามารถเลือกวิธีรักษาได้ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอจะมีลักษณะอาการทั่วไปที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • เสียงแหบ
  • ต่อมทอนซิลโต
  • มีอาการเจ็บคอมากขึ้นในขณะที่กลืนอาหาร หรือดื่มน้ำ

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวถือเป็นอาการพื้นฐานของอาการเจ็บคอเท่านั้น ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งทำให้มีอาการที่แตกต่างกัน เช่น

  • เชื้อไวรัส ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไอ มีน้ำมูก คอแดง เสียงแหบ และเจ็บคอร่วมด้วย
  • เชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก แต่จะมีจุดหนองที่บริเวณต่อมทอนซิล ต่อมทอนซิลบวมแดง ลิ้นไก่บวมแดง

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บคอ

ผู้ป่วยจะมีภาวะขาดอาหาร และน้ำ เนื่องจากกลืนอาหาร กลืนน้ำลาย หรือดื่มน้ำได้ลำบาก ทำให้รับประทานได้น้อยลง ร่างกายจึงไม่ได้รับสารอาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ ส่วนมากมักเกิดในเด็ก และผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยอาการเจ็บคอ

การวินิจฉัยอาการเจ็บคอ จะมีขั้นตอนในการวินิจฉัยเหมือนโรคทั่วไป ดังนี้

  • สอบถามประวัติผู้ป่วย
  • ตรวจร่างกาย เช่น ลำคอ ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
  • ตรวจเลือด
  • ตรวจสารคัดหลั่ง
  • ตรวจปัสสาวะ
  • เอกซเรย์ปอด

วิธีรักษาอาการเจ็บคอ

แบ่งออกเป็นการรักษาตามการติดเชื้อชนิดต่างๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

1. การรักษาตามการติดเชื้อชนิดต่างๆ

  • เชื้อไวรัส ปกติแล้วจะสามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย และการพักผ่อน ไม่จำเป็นต้องรับประทานยา แต่แนะนำให้หมั่นกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (เกลือปริมาณ 1/2 ช้อนผสมลงในน้ำอุ่น 1 ถ้วย) เพื่อให้อาการหายเร็วขึ้น
  • เชื้อแบคทีเรีย ควรปรึกษาเภสัชกร หรือไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า ควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ เพราะส่วนมากหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนานเกินกว่า 7 วัน แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) เพื่อลดการติดเชื้อ

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • การกิน ในช่วงที่มีอาการเจ็บคอ ควรเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารที่รสไม่จัดจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณลำคอมากขึ้นกว่าเดิม
  • การนอน สาเหตุที่มักทำให้ร่างกายติดเชื้อจนเกิดอาการเจ็บป่วยได้ ก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ซึ่งเกิดจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอจนร่างกายอ่อนเพลีย หรือการนอนดึกบ่อยๆ ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจเวลาในการนอนหลับมากขึ้น

ทั้ง 2 วิธีนี้ นอกจากจะช่วยให้อาการเจ็บคอดีขึ้นได้เร็วแล้ว ยังทำให้สุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

วิธีบรรเทาอาการเจ็บคอด้วยตัวเอง

  • ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ลำคอ ลดอาการคอแห้ง และระคายเคือง ที่สำคัญยังช่วยให้ร่างกายกำจัดเชื้อ และเสมหะ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
  • ดื่มชา นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้เป็นอย่างดี ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันด้วย
  • อมลูกอมแก้เจ็บคอ ปัจจุบันมีลูกอมแก้เจ็บคอหลายชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่อง หรือใช้มากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้บางอาการที่ร้ายแรงไม่สามารถแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจนได้ อาจทำให้แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกตินั้นๆ
  • ใช้สเปรย์ฉีดพ่น สเปรย์พ่นคอเป็นอีกทางเลือกที่สามารถนำมาใช้พ่นเพื่อรักษาอาการเจ็บคอได้ โดยจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอ แต่ควรใช้ในปริมาณที่พอดี และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้

วิธีดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการเจ็บคอ

คุณสามารถดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการกลืนน้ำลายเจ็บคอได้ง่ายๆ ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และอาจจะต้องพักมากกว่าปกติ
  • ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  • พยายามดื่มน้ำให้มากๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำจากเนย นม หรืออาหารทอด มัน เพราะจะทำให้เกิดเสมหะมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการคัน และระคายเคืองคอได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองคอได้เช่นกัน

วิธีป้องกันอาการเจ็บคอ

เนื่องจากอาการเจ็บคอส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อ การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจึงเป็นวิธีป้องกันอาการเจ็บคอที่มีประสิทธิภาพ โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ใช้หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัด หรือโรคติดต่อชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสม

แม้ว่าอาการเจ็บคอจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เมื่อเกิดอาการขึ้นมาแล้ว อย่างเจ็บคอจากการกลืนน้ำลายทั้งวัน ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกทรมานและเบื่ออาหารได้ เนื่องจากทำให้กลืนอาหารลำบาก ดังนั้นการรู้เท่าทันโรค และรีบดูแลรักษาให้หายโดยเร็วจึงเป็นวิธีดูแลตัวเองที่ดีที่สุด

Scroll to Top