การรักษาโรคปวดหลังด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถรักษาโรคปวดหลังให้หายได้ โดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมจากการวินิจฉัยของแพทย์
ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังมีการพัฒนาเทคนิควิธีการอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตมาก และเพื่อให้ทุกคนรู้จักการผ่าตัดกระดูกสันหลังดียิ่งขึ้น HDmall.co.th จึงรวบรวมข้อมูลการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาฝากกัน
สารบัญ
ผ่าตัดกระดูกสันหลังคืออะไร?
การผ่าตัดกระดูกสันหลัง (Spine Surgery) คือการทำให้การกดทับเส้นประสาท (Neural Compression) หายด้วยการตัดหรือนำเอาสิ่งที่กดทับรากประสาท (Neural Deompression) อยู่ออกไป และการทำให้กระดูกสันหลังที่หลวม โยก ไม่มั่นคงทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทแน่นขึ้นด้วยการเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง
โรคปวดหลังมีหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติทางกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด อุบัติเหตุ การทำงานหนัก การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง เนื้องอกในกระดูก เป็นต้น
ผ่าตัดกระดูกสันหลังมีกี่แบบ?
การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery) และ การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ (Decompressive lumbar Laminectomy with Posterolateral Spinal Fusion: DLPL Fusion) หรือแบบดั้งเดิม
1. เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก
ปัจจุบันการผ่าตัดแบบแผลเล็กถูกพัฒนาออกมาหลายวิธี เพื่อให้การผ่าตัดมีขนาดแผลเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยที่สุด และเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด โดยเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กแบ่งย่อยได้ 3 วิธี คือ
1.1. การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย (Microscopic Lumb Microdiscectomy)
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย คือการผ่าตัดหลังผ่านกล้องขยายหรือกล้องจุลทรรศน์ เป็นวิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ได้มาตรฐาน โดยจะตั้งกล้องนอกตัวผู้ป่วยเพื่อใช้ขยายภาพบริเวณที่ทำการผ่าตัด และแม้ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กก็ตาม แต่อาจต้องเลาะกล้ามเนื้อและกระดูกออกบางส่วนเพื่อให้เห็นจุดที่เป็นต้นตอของปัญหา
ขั้นตอนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
- ฉีดยาชาควบคู่กับยาระงับความรู้สึก ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะให้ใช้ยาสลบแทน
- แพทย์ผ่าโดยใช้การกรีดแผลเล็กเพียงประมาณ 2 นิ้วที่บริเวณกระดูกสันหลัง เพื่อเปิดกล้ามเนื้อบริเวณหลัง
- ในขณะผ่าตัดแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปส่องยังจุดที่ต้องการรักษา วิธีนี้ทำให้มองเห็นตำแหน่งและลักษณะของรอยโรคได้อย่างชัดเจนโดยดูผ่านหน้าจอมอนิเตอร์
- ใช้สายท่อซึ่งมีความยืดหยุ่นติดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขยายขนาดเล็กประสิทธิภาพสูงเข้าไป กล้องจะขยายและแสดงภาพให้แพทย์เห็นอย่างชัดเจนจนสามารถนำเอาเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกที่กดทับและชิ้นส่วนกระดูกเล็กๆ ออกมาได้
- แพทย์เย็บปิดแผล
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยายเหมาะกับใคร?
วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Disc Herniation) และผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงประสาทตีบแคบ (Spinal Stenosis) จนไปกดทับเส้นประสาท แต่ไม่มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกคดหรือเคลื่อน
1.2. การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง (Full-Endoscopic lumbar Discectomy: FED)
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง คือการใช้กล้องขนาดเล็ก (Endoscope) เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ แผลจึงมีขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้นเพื่อนำส่วนของหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกไป โดยทำให้สามารถเห็นรอยโรคและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อหรือกระดูกออกไป เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ขั้นตอนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
- แพทย์ให้ผู้ป่วยดมยาสลบ
- เมื่อผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 1 เซนติเมตร เข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ
- แพทย์จะเลาะเนื้อเยื่อรอบๆ แผลผ่าออกให้น้อยที่สุด กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้มองเห็นเส้นประสาทอย่างชัดเจน จนแพทย์สามารถเลือกตัดเฉพาะเนื้อเยื่อที่กดทับเส้นประสาทออก
- แพทย์ทำการเย็บปิดแผล
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้องเหมาะกับใคร?
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง เป็นวิธีที่เหมาะผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงประสาทตีบแคบกดทับเส้นประสาท ที่ไม่มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง เช่นกระดูกคดหรือเคลื่อน
1.3. การผ่าตัดเชื่อมข้อทางด้านหลังแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody fusion: MIS TLIF)
การผ่าตัดเชื่อมข้อทางด้านหลังแบบแผลเล็ก คือการผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อต่อแบบแผลเล็กด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ของกระดูกสันหลังมีความมั่นคง และเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) แบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ
1.3.1. การผ่าแบบ Percutaneous Screw
เป็นวิธีผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อใส่โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลัง ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แต่ที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่สกรูหัวจม (Pedicle Screw)
ขั้นตอนการผ่าแบบ Percutaneous Screw
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
- แพทย์ให้ผู้ป่วยดมยาสลบ
- เจาะรูเพื่อเปิดแผลเล็กผ่านผิวหนัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิติ (O-arm) ร่วมกับเครื่องระบบนำวิถี (Navigator) เพื่อช่วยบอกตำแหน่งของสกรูและโลหะดามกระดูก
- เจาะรูที่กระดูกในตำแหน่งที่กำหนด
- ใส่สกรูและโลหะดามกระดูกตามกระบวนการโดยไม่ให้กระทบกระเทือนเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียงและตรวจสอบความเรียบร้อย
- แพทย์ทำการเย็บปิดแผล
การผ่าแบบ Percutaneous Screw เหมาะกับใคร?
ผู้ป่วยที่เหมาะสมใช้วิธีการรักษาแบบนี้คือผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งมักมีอาการปวดหลังขณะมีการเคลื่อนไหว และห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนระดับรุนแรงเพราะมีความเสี่ยงในขั้นตอนการตรึงสกรู
1.3.2. การผ่าแบบ Percutaneous Vertebral Augmentation with Cement
เป็นวิธีผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการฉีดซีเมนต์เข้าไปซ่อมแซมสันกระดูกที่ยุบหรือหัก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้สันกระดูก
ขั้นตอนการผ่าแบบ Percutaneous Screw
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
- ใช้ยาชาเฉพาะที่หรือร่วมกับยากล่อมประสาท (Sedative Analgesia) อาจทำการบล็อกข้อต่อ (Facet Joint Blocks) ด้วยเพื่อลดความเจ็บปวดด้วย
- ใช้เข็มสำหรับกระดูกสันหลังแบบปากฉลาม (Vertebral Needle) เจาะไปยังตำแหน่งที่กำหนด
- ผสมซีเมนต์ให้เข้ากันจนเหลวเหมือนยาสีฟัน
- ใช้กระบอกฉีดยา (Syringe) ดูดซีเมนต์ที่ผสมแล้วฉีด
- รอจนซีเมนต์เริ่มแข็ง จากนั้นจะ Vertebral Needle ออก และปิดด้วยผ้าพันแผลกาว
การผ่าแบบ Percutaneous Vertebral Augmentation with Cement เหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักหรือทรุดเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุน
- ผู้ที่ป่วยมีกระดูกสันหลังผิดรูปเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุน
- ผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังมีอาการหลังเชื่อมติดช้าจากภาวะกระดูกพรุน
2. การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ หรือแบบดั้งเดิม
เป็นการผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท (Nerve Decompress) ที่ถูกกดทับและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันโดยการใส่เหล็กยึดกระดูกสันหลัง ทำให้ช่องทางของเส้นประสาทมีขนาดใหญ่ขึ้น และเชื่อมข้อให้กระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ มีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการกดทับเส้นประสาทซ้ำ การผ่าตัดชนิดนี้จึงช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังได้
ขั้นตอนการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
- แพทยให้ผู้ป่วยดมยาสลบ
- แพทย์ทำการผ่าโดยเปิดแผลที่กลางหลัง (Open Laminectomy)
- แพทย์ทำการเลาะกล้ามเนื้อและตัดกระดูกออกบางส่วนหรือเนื้อเยื่อพังผืด ที่กดทับรากประสาทนั้นออกไปรวมถึงการใส่โลหะดามกระดูก (Pedicle Screw Fixation) จากทางด้านหลังเพื่อยึดตรึงกระดูกสันหลัง
- แพทย์เย็บปิดแผล
การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิมเหมาะกับใคร?
การผ่าตัดวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาเนื่องจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบหรือมีความไม่มั่นคง (Instability) ของกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังเคลื่อน หลังคด หรือหลังโก่งผิดรูป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการกดทับเส้นประสาทจากการประสบอุบัติเหตุกระดูกหลังหักเป็นอัมพาตครึ่งท่อน การกดทับเส้นประสาทจากโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง
การเตรียมตัวผ่าตัดกระดูกสันหลัง
- ควรทราบรายละเอียดขั้นตอนการผ่าตัด สิ่งที่จะพบทั้งก่อนและหลังผ่าตัดอย่างครบถ้วน เช่น ควรทราบว่าเมื่อเสร็จการผ่าตัดผู้ป่วยจะตื่นจากการทำผ่าตัดพร้อมมีสายต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น สายจากการให้น้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ หรือสายที่ทำการบันทึกสัญญาณชีพจากอวัยวะต่าง ๆ, ผู้ป่วยที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอาจได้รับคำแนะนำให้พักที่ห้อง ICU 1 วันก่อนย้ายไปห้องพักผู้ป่วยปกติ, ผู้ป่วยที่ไม่ต้องอยู่ ICU หลังการผ่าตัดจะถูกย้ายไปอยู่ที่ห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการประมาณ 1 – 2 ชม. เป็นต้น
- ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อฝึกขยายปอดให้ถูกต้องสำหรับช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
- รับประทานยาตามที่แพทย์แจ้งโดยต้องรับประทานต่อเนื่องจนถึงเช้าวันผ่าตัด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
- งดรับประทานยาตามที่แพทย์แจ้งให้งดก่อนผ่าตัด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน เฮพาริน เป็นต้น
- จัดหาญาติที่สามารถดูแลผู้ป่วยและประสานกับเจ้าหน้าที่ก่อนและหลังผ่าตัด
- ควรพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ก่อนผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาโรงพยาบาล
- งดน้ำ และอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง
- อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ตัดเล็บให้เรียบร้อย หากทาเล็บให้เช็ดยาทาเล็บออก
- ไม่แต่งหน้า ไม่ติดเครื่องประดับอื่นๆ ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ และต้องถอดฟันปลอมฝากญาติไว้ กรณีผู้ป่วยที่มีฟันโยกต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายและถอดง่าย
- ไม่นำของมีค่ามาโรงพยาบาล
- หากท่านมีอาการแพ้ยาต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทราบ นำยาเดิมที่รับประทานประจำมาให้แพทย์ดูด้วย
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 1
- เดินออกกำลังเบาๆ ทุกวัน เพิ่มระยะทาง และเวลาขึ้นวันละน้อย พร้อมสวมอุปกรณ์พยุงหลัง ใช้ไม้เท้าและสวมรองเท้ากันกระแทก
- ขึ้นลงบันได ต้องจับราวบันไดทุกครั้ง
- ไม่ควรนั่งนานเกิน 20 นาที
- กินยาและดูแลแผลตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 2
- สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น และบ่อยขึ้น
- ยกของที่น้ำหนักเบา หรือไม่เกิน 2 กิโลกรัมได้บ้าง
- ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวเร็วและไม่มีอาการปวดอาจสามารถขับรถระยะทางใกล้ๆ ได้
- ในระยะนี้แพทย์อาจนัดตรวจประเมินหลังผ่าตัด
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 3
- เพิ่มระยะทางและเวลาเดินให้มากขึ้น
- เริ่มทำงานบ้านได้เล็กน้อย
- ยกของมีน้ำหนักได้มากขึ้น แต่ไม่เกิน 5 กิโลกรัม
- ในช่วงนี้ผู้ป่วยที่อายุไม่มาก ร่างกายฟื้นตัวเร็ว อาจไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน แต่ต้องสวมอุปกรณ์พยุงหลัง และสวมรองเท้ากันกระแทก
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 4
- การเดินจะทำได้มากขึ้นและไกลขึ้น
- สามารถออกกำลังกายเบาๆ และทำงานบ้านได้มากขึ้น
- สามารถขับรถได้ไกลขึ้น
- ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า แต่ต้องใช้อุปกรณ์พยุงหลัง
- สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังทั่วไป หลังจากนี้ในเดือนที่ 2 และ 3 หลังผ่าตัด สามารถเพิ่มกิจกรรมได้ เช่น ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ และออกกำลังกายอื่นที่ไม่หนัก และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติแต่ไม่ควรหักโหม อาการตึงหลังอาจยังคงมีอยู่ไปจนระยะเวลา 3-5 เดือนจึงจะค่อยๆ ดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน คำแนะนำจะแตกต่างจากนี้ตามการประเมินจากอาการหลังผ่าของผู้ป่วยแต่ละคนและชนิดของการผ่าตัด
- นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้มตัวสุดหรือแอ่นหลังสุดเป็นประจำ เช่น ใช้วิธีย่อเข่าแทนการก้มหลังลงไปยกของ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการสั่นสะเทือน กรณีที่แผลหายดีแล้วแต่ยังมีอาการหลังตึงหลังแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ เพื่อยึดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
ผ่าตัดกระดูกสันหลังพักฟื้นนานไหม?
ระยะเวลาฟักฟื้นขึ้นอยู่กับวัย ความซับซ้อนอาการของโรค และการเลือกวิธีการผ่าตัด แต่โดยทั่วไประยะเวลาพักฟื้นราวๆ 3-5 เดือน
ไม่ผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ไหม?
ส่วนใหญ่โรคของกระดูกสันหลังโดยเฉพาะโรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (Lumbar Spondylosis) สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาเพื่อประคองอาการ เช่น การรักษาด้วยยาทา การใช้เครื่องช่วยพยุงหลัง การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม เป็นต้น แต่หากอาการรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น มีปัญหาเรื่องการควบคุมการอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือรักษาด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัดแล้วไม่หายอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์ ต้องได้รับรักษาด้วยการผ่าตัด
ผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วหายไหม?
ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผลการรักษาจะเป็นไปในทางที่ดีโดยแต่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตามผลการรักษาขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรงของโรคก่อนเข้ารับการรักษา เช่น สภาพโรคที่เรื้อรังมานาน มีเนื้องอกในกระดูก หรือการผ่าตัดแก้ไขผลการผ่าตัดครั้งแรก การผ่าตัดก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด หรืออาจกลับมาเป็นซ้ำจากการใช้งานหลังในลักษณะเดิมหลังผ่าตัด
ผ่าตัดกระดูกสันหลังอันตรายไหม?
ความปลอดภัยของการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย โรคประจำตัว และความซับซ้อนของโรคของแต่ละคน เช่น ผู้สูงอายุบางท่านสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวก็จะลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนลงได้ ในขณะที่บางรายมีโรคประจำตัวหลายโรค จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
การผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบวิธีการเพื่อลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้นตัวลงมาก ทำให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังดูมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เราควรเลือกโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและเลือกรูปแบบและวิธีการการผ่าตัดที่เหมาะสมกับอาการ ซึ่งอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการพิจารณาด้วย