สารบัญ
สภาพปกติของการหลั่งอสุจิ
การหลั่งอสุจิของผู้ชายจะเกิดขึ้นได้หลังการเกิดความรู้สึกสุดยอดที่มีเพศสัมพันธ์ การช่วยตนเอง หรือเกิดการฝันเปียก
หากเป็นอสุจิในสภาวะปกติจะประกอบไปด้วยน้ำหล่อลื่น สารหล่อเลี้ยง และตัวอสุจิ จะมีลักษณะสีขาวข้นหรืออาจมีสีที่แตกต่างออกไปได้บ้าง หรือมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายเจลก็ได้ โดยมีประมาณ 3–4 ซีซี และมีจำนวนตัวอสุจิประมาณ 300–500 ล้านตัวต่อการหลั่งในแต่ละครั้ง
แต่ถ้าหากมีสีที่ผิดปกติหรือมีลักษณะแตกต่างไปจากนี้ อย่างเช่น อสุจิปนเลือดพร้อมๆ กับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น รู้สึกหนาวสั่น หรืออวัยวะเพศคดแบบนี้ ควรต้องรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาต่อไป
สาเหตุของการหลั่งอสุจิปนเลือด
การหลั่งอสุจิปนเลือดสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายทุกวัย แต่ถ้าหากเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี มักมีสาเหตุดังต่อไปนี้
- การได้รับบาดเจ็บจนมีเส้นเลือดฉีกขาด เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การได้รับอุบัติเหตุจนเกิดการกระแทกที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งการร่วมเพศ และการช่วยตนเองอย่างรุนแรงก็เป็นสาเหตุได้
- ติดเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เป็นโรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม มีอาการของท่อปัสสาวะหรือท่อนำอสุจิอักเสบ มีพยาธิ เป็นหูดหงอนไก่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคต่อมลูกหมากอักเสบ
- เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ โรคเลือดไม่หยุด นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือวัณโรคทางเดินปัสสาวะจนทำให้มีเลือดออกภายในได้
การรักษาอาการหลั่งอสุจิปนเลือด
เมื่อเกิดอาการอสุจิปนเลือดก็ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหารอยโรคด้วยการตรวจปัสสาวะ ตรวจทางทวารหนัก หรือการตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งในผู้ชาย อย่างโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์
แต่หากตรวจแล้วไม่พบโรค การรักษาอาการหลั่งอสุจิปนเลือกก็อาจต้องรักษาไปตามอาการ และจะต้องหยุดการหลั่งอสุจิเพื่อให้การอักเสบดีขึ้น
สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลั่งอสุจิปนเลือดอย่างต่อเนื่องนานๆ จะต้องกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำๆ หาสาเหตุของโรค เพราะโรคนี้บางครั้งก็ยังหาสาเหตุไม่พบ และยังมีในบางกรณีที่สามารถหายได้เอง
การป้องกัน และการดูแลตนเอง
- เมื่อเกิดอาการอสุจิปนเลือดควรสังเกตอาการว่า เป็นของฝ่ายหญิงหรือไม่ และมีอสุจิปนเลือดออกมาทุกครั้งต่อเนื่องหรือไม่ อีกทั้งหากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
- หยุดกิจกรรมทางเพศทุกชนิดสักระยะ เพื่อจะได้ลดการหลั่งของอสุจิ และเป็นการบรรเทาอาการอักเสบ หากยังปัสสาวะออกมาเป็นเลือดก็ควรรีบไปพบแพทย์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด
- ควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3–4 วัน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นปลา และผักผลไม้เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- ไม่ควรซื้อยา หรือสมุนไพรมารับประทานเอง แต่ให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับข้อมูลกับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง จึงจะเห็นผล และปลอดภัยกว่า
อาการหลั่งอสุจิปนเลือดมักจะหาสาเหตุไม่ค่อยพบ เพราะโดยส่วนมากเกิดจากการอักเสบ บาดเจ็บ หรือการติดเชื้อ หากจะเป็นสาเหตุที่มาจากโรคร้ายแรงนั้นก็พบว่าส่วนมากจะเป็นกับผู้สูงอายุ
ดังนั้น เมื่อเราทราบเหตุผลดังนี้แล้ว ผู้ที่มีอาการนี้จึงไม่ควรตกใจ กังวล หรือเครียดจนเกินไป เพราะจะเป็นผลไม่ดีกับสุขภาพโดยรวมของผู้ที่เป็นได้ และทำให้รักษายากขึ้น
คำถามที่พบบ่อย
อสุจิเป็นเลือด กินยาอะไร ?
อสุจิเป็นเลือดไม่ได้มีการรักษาเฉพาะเจาะจงด้วยยาสำหรับทุกกรณี ในบางกรณีอาจไม่ต้องทานยารักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น
- กรณีการติดเชื้อ: หากมีการติดเชื้อที่ต่อมลูกหมากหรืออวัยวะสืบพันธุ์ อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น Ciprofloxacin หรือ Doxycycline แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา
- กรณีการอักเสบ: หากเกิดการอักเสบ อาจใช้ยาลดการอักเสบ เช่น Ibuprofen เพื่อลดอาการ
- กรณีเกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือด: หากมีการแตกของหลอดเลือด อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่ควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง
ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาใด ๆ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม
อสุจิเป็นเลือด มีเลือดปน รักษาอย่างไร ?
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ
- พักผ่อนและสังเกตอาการ: หากอาการเกิดเพียงครั้งเดียวและไม่มีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดหรือไข้ อาจไม่ต้องการการรักษา
- การติดเชื้อ: ใช้ยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง
- การอักเสบ: ใช้ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) เพื่อลดอาการบวมและอักเสบ
- สาเหตุจากหลอดเลือดแตก: อาจไม่ต้องการการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักชั่วคราว
- กรณีรุนแรง: หากมีอาการร่วม เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด เจ็บปวดในบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีไข้สูง จำเป็นต้องพบแพทย์ทันที
การสังเกตและปรึกษาแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาการอสุจิเป็นเลือดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมะเร็งในระบบสืบพันธุ์