การจาม คือ การตอบสนองตามธรรมชาติต่อสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูกของเรา หรืออาจเกิดจากการหายใจในสภาพแวดล้อมที่เย็น การมองแสงสว่าง การถอนขนคิ้ว หรืออาจมีต้นเหตุมาจากการทานอาหารบางชนิด สำหรับบทความในวันนี้ เราจะพาคุณไปดูสาเหตุของการจามหลังทานอาหารและวิธีป้องกัน มาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
สารบัญ
1. Gustatory rhinitis
Gustatory rhinitis เป็นภาวะที่ทำให้คนจามหลังทานอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือบวมในจมูก อย่างไรก็ตาม Gustatory rhinitis ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทของจมูกมีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษต่อตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม สำหรับอาการของโรค Gustatory rhinitis นั้นมักเกิดขึ้นตอนทานอาหาร ซึ่งผู้ป่วยจะจาม น้ำมูกไหล และคัดจมูก ทั้งนี้การเกิดโรค Gustatory rhinitis มักพบได้ทั่วไปหลังทานอาหารเผ็ดหรือร้อน เช่น พริกไทย เครื่องแกง วาซาบิ ซุปร้อน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันไม่ให้จามโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น
2. Snatiation Reflex
บางคนอาจจามหลังทานอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ Snatiation Reflex ทั้งนี้คนจะมีปฏิกิริยาดังกล่าวเมื่อกระเพาะอาหารเต็มและขยายออก และนั่นก็จะส่งผลให้เราจามได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แท้จริง แต่มันอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
3. แพ้อาหาร
เมื่อบางคนทานอาหารที่ร่างกายมีความไวหรือแพ้ต่อสิ่งนั้น มันก็สามารถทำให้จาม และอาจมีอาการอื่นๆ อย่างการเกิดความรู้สึกคันที่ดวงตาหรือมีผื่นที่ผิวระดับเบา ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงที่เรียกว่า Anaphylaxis ส่งผลให้บางส่วนในร่างกายบวมมาก และทำให้คุณหายใจลำบาก ซึ่งอาหารที่สามารถทำให้แพ้ คือ นม ไข่ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และต้นถั่ว
4. โรคไข้หวัดธรรมดาหรือโรคไข้หวัดใหญ่
ในบางครั้ง คนที่ป่วยเป็นโรคหวัดหรือโรคอื่นๆ ก็สามารถจามหลังทานอาหารได้เช่นกัน การทานอาหารและการจามอาจดูเหมือนมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงแล้วมันแยกจากกันค่ะ
วิธีป้องกันไม่ให้จามหลังทานอาหาร
เราไม่สามารถป้องกันการจามหลังทานอาหร แต่มันก็มีบางวิธีที่อาจช่วยลดอาการจามได้ ตัวอย่างเช่น
- กลั้นหายใจในขณะที่นับ 1-10 หรือนานตราบเท่าที่คุณจะสามารถกลั้นหายใจได้ การทำเช่นนี้จะช่วยยับยั้งการจาม
- บีบสันจมูก ซึ่งผลที่ได้จะเหมือนกับตอนกลั้นหายใจ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้จามหรืออาหารที่ทำให้แพ้ หากไม่แน่ใจว่าอาหารชนิดใดเป็นตัวกระตุ้น ให้คุณจดบันทึกอาหารที่ทาน หรือค่อยๆ ตัดอาหารแต่ละประเภทจนพบตัวการ
- ทานอาหารมื้อเล็กลงตลอดทั้งวันแทนการทานแบบจัดเต็มในครั้งเดียว เพราะมันอาจกระตุ้นให้เกิด Snatiation reflex
- ทานยาที่ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ตัวอย่างเช่น ยา Pseudoephedrine ซึ่งสามารถช่วยลดอาการบวมในจมูก หรือความไวต่อสิ่งกระตุ้นที่สามารถทำให้จามหลังทานอาหาร
- สเปรย์แอนตี้ฮิสตามีนอาจช่วยลดอาการจามหลังทานอาหาร สเปรย์จะไปขัดขวางการหลั่งฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบที่สามารถทำให้เราจาม
อย่างไรก็ตาม การจามหลังทานอาหารแทบจะไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่างๆ แต่มันก็สามารถทำให้คุณรู้สึกรำคาญและระคายเคือง ณ ขณะนั้น นอกจากนี้การจามยังทำให้ไวรัสและแบคทีเรียแพร่ไปในอากาศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา Gustatory rhinitis และ Snatiation Reflex แต่เราสามารถป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการทานอาหารบางชนิด และไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ครั้งเดียว หากคุณคิดว่าตัวเองแพ้อาหาร คุณก็อาจปรึกษาแพทย์เพื่อทดสอบปฏิกิริยาแพ้