สาบเสือ (Chromolaena odorata) จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลาง และมีการแพร่กระจายไปในประเทศเขตร้อน ทั้งในอินเดีย พม่า ไทย เป็นพืชที่เติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ลักษณะของใบสาบเสือ
ลักษณะเฉพาะตัวของพืชชนิดนี้ คือ ดอกที่มีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นเสือ จึงเป็นที่มาของชื่อสาบเสือ
- ชื่อสามัญ Siam weed, Bitter bush, Christmas bush, Devil weed, Camfhur grass
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสาบเสือ เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีขนปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ขอบใบหยัก ผิวใบมีขน ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด กลับดอกสีขาวหรือขาวแกมม่วง ผลเป็นผลแห้ง เป็นเส้นยาวแบน มีสีน้ำตาลดำ มีขน
สรรพคุณของสาบเสือ
ส่วนต่างๆ ของต้นสาบเสือมีสรรพคุณดังนี้
ใบสาบเสือ
มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว กระตุ้นกระแข็งตัวของเลือด จึงนำมาใช้เป็นยาภายนอก โดยใช้ใบสด โขลก แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล เพื่อห้ามเลือด รักษาแผลสด ช่วยสมานแผล หรือนำมาทาบริเวณที่ถูกแมลงกัด จะช่วยลดอาการอักเสบ ปวดจากแมลงกัดต่อย นอกจากนี้สาบเสือยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยต้านการอักเสบ และต้านการติดเชื้อที่แผล
ใบสาบเสือสด ต้มดื่ม ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ไอ บรรเทาอาการท้องเสีย ขับปัสสาวะ ลดอาการอักเสบ และช่วยรักษาริดสีดวงทวาร
สารสกัดจากใบ นำมารักษาแผลไหม้ และการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ นอกจากนี้ใบสดของสาบเสือสามารถใช้หมักผม ทำให้เส้นผมดำขึ้นได้
ดอกสาบเสือ
ใช้ดอกสดหรือดอกแห้ง ต้มดื่ม ช่วยแก้ไข้ แก้ร้อนใน บำรุงหัวใจ
ต้นสาบเสือ
ทั้งต้นสามารถใช้เป็นยารักษาอาการปวดท้อง ท้องอืดได้ นอกจากนี้ต้นสาบเสือยังนำมาทำยาไล่แมลงได้ เนื่องจากมีกลิ่นฉุน ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม
สาบเสือ นับได้ว่าเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ที่สามารถรักษาได้หลายโรค ซึ่งการใช้สมุนไพรแต่ละชนิดควรปรึกษาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร เพื่อความปลอดภัย
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
ที่มาของข้อมูล
- พืชเกษตร, สาบเสือ ใบสาบเสือ และสรรพคุณสาบเสือ (https://puechkaset.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD/) , 23 พฤศจิกายน 2559.
- คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร, สาบเสือ (http://pharmacy.su.ac.th/herb/text/herb_detail.php?herbID=263).
- ดร. ปิยาภรณ์ วรานุสันติกูล, Antioxidant Study of the Crude Extracts from Chromolaena odorata (L.) King & Robinson (https://www.tci-thaijo.org/index.php/sdust/article/view/177782).