แพ้อาหารทะเล ทำอย่างไร? สาเหตุ อาการ รักษา ป้องกัน

อาการแพ้ เป็นอาการจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นที่ไวเกินไป บางครั้งไวและรุนแรงจนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และอาหารทะเลเป็นสิ่งหนึ่งที่พบปฏิกิริยาภูมิแพ้พอสมควรในคนไทย

เหตุผลที่เกิดภูมิแพ้

ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันไวเกิน (Hypersensitivity reaction) เกิดจากสารกระตุ้นแอนติเจน (ซึ่งในเรื่องภูมิแพ้จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า อัลเลอร์เจน) ทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือ แอนติบอดี

เดิมทีปฏิกิริยานี้มีขอบเขตไม่รุนแรง เพื่อกำจัดแอนติเจนหรือสารแปลกปลอมที่ร่างกายไม่รู้จัก แต่ในผู้ที่ปฏิกิริยาไวเกิน สิ่งที่เกิดจะรุนแรงมากและส่งผลกระทบในหลายอวัยวะ

รูปแบบของปฏิกิริยามีหลายแบบ แบ่งตามกลไกได้ 4 แบบ สำหรับการแพ้อาหารทะเลจะเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดที่ 1 คือ เมื่อสารกระตุ้นการแพ้เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอม ที่เป็นด่านแรกของการป้องกันแบบไม่เฉพาะเจาะจง เข้าทำปฏิกิริยาและปล่อยสารเคมีออกมาเพื่อจัดการสารกระตุ้นนั้น

สารเคมีนี้เองที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษ หน้าบวม หลอดลมบวม ไปจนกระทั่งหายใจไม่ออก ซึ่งมีสารเคมีหลายชนิด ที่ทำงานเป็นหลัก ได้แก่ ฮิสตามีน (Histamine) และปฏิกิริยานี้จะผ่านภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ใช้เป็นหลักในปฏิกิริยานี้คือ อินมูโนโกลบูลินอี (IgE)

สารกระตุ้นที่พบได้บ่อยในอาหารทะเล

สัตว์ทะเลที่พบบ่อยว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา
  2. สัตว์จำพวกหอย ไม่ว่าจะเป็นหอยมีเปลือก หรือหอยที่ไม่มีเปลือก เช่น ทากทะเล
  3. สัตว์กระดอง เช่น กุ้ง ปู กั้ง

โปรตีนในสัตว์ทะเลจำพวกหอยและสัตว์กระดองที่เป็นตัวกระตุ้นการแพ้ (Allergen) ที่พบบ่อยในสัตว์เหล่านี้คือ โทรโพไมโอซิน (Tropomyosin) อาร์จินีนไคเนส (Arginine kinase) เฮโมไซยานิน (Hemocyanin)

สารกระตุ้นเหล่านี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาข้ามกลุ่มกันได้ จึงอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้อาหารทะเลได้ข้ามชนิด เช่น ผู้ที่แพ้หอยทะเล อาจจะแพ้ข้ามกลุ่มกับปูหรือกุ้งได้ด้วย

นอกเหนือจากนี้ สารกระตุ้นในอาหารทะเลสามารถเกิดปฏิกิริยาข้ามกลุ่มไปถึงสัตว์ในกลุ่มเดียวกับสัตว์กระดอง เช่น แมลง ไรฝุ่นบ้าน ทำให้บางครั้งผู้เคยแพ้อาการทะเลอาจจะมีอาการแพ้ไรฝุ่นบ้านได้ด้วย หรือเคยแพ้แมลงสาบก็จะมีโอกาสแพ้อาหารทะเลได้ เรียกว่า ไมต์ครัสเตเชียนมอลลัสก์ซินโดรม (Mite-crustacean-mollusk syndrome)

แต่โอกาสเกิดปฏิกิริยาข้ามกลุ่มดังกล่าวนี้มีไม่มากนัก ความถี่เพียงแค่ระดับรายงานผู้ป่วยที่เกิดได้บ้าง

สำหรับปลาทะเล จะมีโปรตีนพราวาอัลบูมิน (Prava-albumin) เป็นโปรตีนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้ พบในปลาทะเลที่มีเนื้อสีเข้ม เช่น ปลาทูน่า มากกว่าปลาที่เนื้อสีสด เช่น แซลมอน

โปรตีนชนิดนี้แทบไม่พบปฏิกิริยาข้ามกลุ่มไปปลาน้ำจืด ดังนั้นผู้ที่แพ้ปลาทะเลเกือบทั้งหมดจะรับประทานปลาน้ำจืดได้อย่างปลอดภัย ส่วนการข้ามไปแพ้กับสัตว์จำพวกหอยและสัตว์กระดองเกิดขึ้นน้อยเช่นกัน

อาการที่พบได้บ่อยในแพ้อาหารทะเล

อาการที่พบส่วนมากเป็นปฏิกิริยาจากสารฮีสตามีน ได้แก่ ตัวแดงจากหลอดเลือดขยาย มีผื่นลมพิษขึ้นได้ทั้งตัว มีอาการใบหน้าบวมปากบวม พบอาการคันตามตัวได้มาก

อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรง และหายเองได้เมื่อหลีกเลี่ยงอาหารทะเล

ส่วนใหญ่แล้วอาการดังกล่าวจะเกิดเฉียบพลันหลังจากกินอาหารทะเลทันที ส่วนการเกิดแบบช้านั้นพบน้อยมาก และต้องแยกจากโรคอื่นมากมาย ในบทความนี้จะกล่าวถึงกรณีเฉียบพลันเป็นหลัก

ในกรณีที่แพ้อาหารทะเลแล้วมีอาการรุนแรงเรียกว่า อนาฟาแลกซิส (Anaphylaxis) จะมีอวัยวะภายในที่สำคัญได้รับอันตราย กระทบกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนี้

  • ทางเดินหายใจส่วนบน จะมีคอหอยบวม จมูกและปากบวม อาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้ หายใจจะมีเสียงครืดคราด (Stridor) ภาวะนี้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้หายใจไม่ออก มีเสียงหายใจวี้ด
  • ระบบไหลเวียนโลหิต มีอาการใจสั่น ความดันโลหิตต่ำลงมากจนอาจเข้าสู่ภาวะช็อก (Anaphylactic shock)
  • ระบบทางเดินอาหาร จะพบอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง อาเจียนออกมาเป็นสิ่งที่กินเข้ไป และตามมาด้วยอาการถ่ายเหลว หากอาเจียนและถ่ายเหลวปริมาณมากทำให้เกิดอันตรายต่อระบบไหลเวียนเลือดและไต

การตรวจและทดสอบภาวะแพ้อาหารทะเล

โดยทั่วไปจะใช้เพียงประวัติสัมผัสอาหารทะเลแล้วเกิดอาการร่วมกับการตรวจร่างกาย ก็สามารถวินิจฉัยและรักษาอาการแพ้ได้ดี

การตรวจพิเศษจะใช้เพื่อสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ในกรณีประวัติไม่สามารถแยกได้ชัดเจน หรือเพื่อป้องกันการเกิดในอนาคตเท่านั้น

เช่น การตรวจปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (Skin prick test) การตรวจหาอิมมูโนโกลบูลินอี ที่จำเพาะต่อสารแพ้นั้น หรือการทดสอบให้กินอาหารที่เคยแพ้ในขนาดต่ำ (Oral challenge test)

แพ้อาหารทะเล รักษาได้หรือไม่?

ยังไม่มีการรักษาภาวะแพ้อาหารทะเลที่เฉพาะเจาะจง

หากเกิดอาการแพ้ไม่รุนแรงเช่น ผื่นผิวหนัง ลมพิษ คันตามตัว ตาบวม ให้หยุดกินอาหารทะเลเพื่อลดสิ่งกระตุ้น แล้วรับประทานยาแก้แพ้ต่อเนื่อง 2-3 วัน เนื่องจากปฏิกิริยาไวเกินอาจจะอยู่ต่อได้อีกสักพัก

แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น หรือรุนแรงทันทีตั้งแต่เริ่ม เช่น หายใจไม่ออก มีเสียงครืดคราดเวลาหายใจ หน้ามืดเป็นลม ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรักษาทางเดินหายใจไมให้ตีบแคบและไม่ให้ความดันโลหิตต่ำ

กรณีนี้โดยมากต้องใช้ยาฉีดเพื่อลดอาการบวมและยาฉีดแก้แพ้

สำหรับผู้ที่เคยมีอาการแพ้รุนแรงมาก อาจจะต้องพกยาช่วยชีวิตที่เป็นรูปแบบปากกาฉีดติดตัว (Epinephrine) หากเกิดอาการจะได้จัดการได้ทันเวลาและรักษาชีวิตได้

ส่วนการรักษาอาการแพ้อื่นๆ เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) จะใช้กับผู้ป่วยที่อาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต และไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารแพ้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเนื่องจากการหลีกเลี่ยงอาหารทะเลทำได้ไม่ยากนัก จึงไม่นิยมใช้วิธีนี้ในการรักษา

นอกจากนี้มีการศึกษาวิธีรักษาอาการแพ้ไรฝุ่น เพื่อมารักษาอาการแพ้อาหารทะเล เนื่องจากมีปฏิกิริยาข้ามกันของแอลเลอร์เจนดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐาน

การป้องกันอาการแพ้อาหารทะเล

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เคยทราบว่าแพ้แล้ว หากทราบชนิดที่เฉพาะเจาะจงก็จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ดี

แต่ถ้าไม่ทราบชนิดอาหารทะเลที่แพ้ชัดเจน ให้เลี่ยงอาหารทะเลทุกชนิด หรือหากเคยแพ้ข้ามกลุ่มอาหาร ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลทุกชนิดเช่นกัน

ส่วนการใช้ยาแก้แพ้เพื่อป้องกันก่อนเกิดอาการ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าได้ผลแต่อย่างใด

อีกแนวทางที่น่าสนใจ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง คือ วัคซีน เนื่องจากปัจจุบันสามารถสกัดอัลเลอร์เจน (Allergen) ได้มากมายและเฉพาะเจาะจงต่อสารแพ้ได้มากขึ้น ต่อไปจึงอาจมีวัคซีนป้องกันการแพ้อาหารทะเลได้

เปลี่ยนวิธีปรุงอาหาร จะทำให้ไม่แพ้อาหารทะเลได้หรือไม่?

โปรตีนในอาหารทะเลที่กระตุ้นการแพ้นี้เป็นโปรตีนที่ทนร้อน ดังนั้นการทำอาหารให้สุกในรูปแบบต่างๆ แม้จะลดโอกาสการเกิดแพ้อาหารทะเลลงได้ (จากการเปลี่ยนรูปของโปรตีนเมื่อโดนความร้อน) แต่ก็จะยังมีโอกาสแพ้อยู่ดี

นอกจากนี้อาจต้องระมัดระวังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มาจากสัตว์ทะเลด้วย แม้โอกาสจะเกิดการแพ้ต่ำมาก ไม่เป็นข้อห้ามการรับประทาน แต่ก็ควรระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง

คิดว่าแพ้อาหารทะเล แท้จริงอาจแพ้อย่างอื่น

นอกเหนือจากการแพ้โปรตีนในอาหารทะเลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ไวเกินนี้ ยังมีปฏิกิริยาที่คล้ายกับภูมิแพ้อีก 2 อย่างที่มีอาการแสดงออกมาคล้ายกันได้ ได้แก่

1. แพ้พยาธิอนิซากิส (Anisakis)

พยาธิชนิดนี้จะอยู่ปะปนในสัตว์ทะเล ส่วนมากทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเกิดลมพิษเรื้อรัง มักจะเกิดในผู้ที่กินอาหารทะเลดิบ

สามารถแยกจากอาการแพ้อาหารทะเลโดยการทำการทดสอบปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (Skin prick test) หรือตรวจหาสารกระตุ้นและภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อพยาธิอะนิซากิส

2. อาหารเป็นพิษจากฮิสตามีน (Histamine food poisoning)

พิษจากสารฮิสตามีนที่พบมากเกินไปในสัตว์เป็นโรคที่พบน้อยมาก เกิดจากการเก็บปลาบางชนิด เช่น ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล โดยไม่ได้แช่แข็งตามมาตรฐาน ทำให้โปรตีนในเนื้อปลาย่อยสลาย ได้สารฮีสตามีน และเมื่อกินเข้าไป สารเหล่านี้จะสามารถไปกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาได้เหมือนกับปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ร่างกายเราสร้างเอง

อาการจะเป็นอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงนัก เพราะอีสตามีนที่เข้ามาในร่างกายจากแหล่งอื่นจะถูกทำลายเร็ว สามารถแยกโรคได้จากการตรวจหาสารฮิสตามีนในเนื้อปลา

สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ เนื่องจากอาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันที่ดี โดยเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กและวัยรุ่น

ในคนที่แพ้อาหารทะเล ต้องหลีกเลี่ยงอาหารทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทะเล จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อชดเชยสารอาหารจากแหล่งอื่น


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหาร

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง

Scroll to Top