มะละกอ เป็นผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นมะละกอดิบตัวชูโรงในเมนูรสแซ่บอย่างส้มตำที่หากินได้ง่ายตั้งแต่ข้างถนนไปจนถึงบนห้างหรู หรือนำเนื้อดิบมาแกงส้มก็อร่อยไม่น้อย มะลอกอสุกที่นิยมรับประทานเป็นของว่าง หรือล้างปากหลังมื้ออาหารเพราะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น เพิ่มเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่ายก็ดีไม่น้อยเช่นกัน เพราะแท้จริงแล้วนอกจากนี้แล้วมะละกอยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่นๆ อีก รวมทั้งยังมีสรรพคุณทางยา ไม่เพียงเฉพาะผลแต่ยังรวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ของต้นด้วย
สารบัญ
คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอ
- มะละกอดิบ ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 36 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดตประมาณ 8 กรัม ใยอาหารและวิตามินซีสูง สูงกว่ามะละกอสุก
- มะละกอสุก ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 43 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดตประมาณ 10.8 กรัม น้ำตาลและวิตามินซี สูงกว่ามะละกอดิบ
มะละกอเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล สารไลโคปีน ธาตุแมงกานีส ธาตุฟอสฟอรัส สารเบตาแคโรทีน โปรตีน ไขมัน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 9 วิตามินซี วิตามินอี การทานแบบดิบและสุกจะมีโภชนาการต่างกันบ้างแต่ก็ดีต่อสุขภาพพอกัน
ประโยชน์ของการรับประทานมะละกอ
- ช่วยบำรุงประสาท และสมองได้เป็นอย่างดี
- ช่วยในการย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยเอนไซม์ช่วยในการย่อยอาหาร
- ช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้ เนื่องจากมะละกอสุกถือเป็นยาระบายอ่อนๆ
- ช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน และยังมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้
- อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ซึ่งมีส่วนช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ช่วยชะลอวัย และบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง สดใส
มะละกอดิบ มีสารอาหารต่างจากมะละกอสุกอย่างไร
การทานมะละกอที่ยังดิบ ต่างจากตอนที่สุกพอสมควร โดยมีสารอาหารบางส่วนต่างกันดังนี้
1. เอนไซม์ปาเปน (Papain)
- มะละกอดิบ: มีปริมาณเอนไซม์ปาเปนสูง ช่วยย่อยโปรตีนและลดการอักเสบ
- มะละกอสุก: ปริมาณเอนไซม์ปาเปนลดลงเนื่องจากกระบวนการสุกทำให้เอนไซม์ถูกทำลาย
2. วิตามินซี
- มะละกอดิบ: มีปริมาณวิตามินซีสูงกว่า เนื่องจากวิตามินซีอาจสลายตัวเมื่อผลไม้สุก
- มะละกอสุก: วิตามินซีลดลง แต่ยังคงมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
3. น้ำตาลธรรมชาติ
- มะละกอดิบ: มีปริมาณน้ำตาลต่ำ รสชาติไม่หวาน
- มะละกอสุก: มีน้ำตาลธรรมชาติเพิ่มขึ้น ให้พลังงานมากกว่า และมีรสชาติหวาน
4. ใยอาหาร (Fiber)
- มะละกอดิบ: มีใยอาหารมากกว่า โดยเฉพาะใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งช่วยระบบขับถ่าย
- มะละกอสุก: ใยอาหารชนิดละลายน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการลดคอเลสเตอรอลและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
5. วิตามินเอ (เบต้าแคโรทีน)
- มะละกอดิบ: มีเบต้าแคโรทีนในปริมาณต่ำ
- มะละกอสุก: เบต้าแคโรทีนเพิ่มขึ้น ทำให้มะละกอสุกมีสีส้มสดใส และมีประโยชน์ต่อสุขภาพตา
6. สารต้านอนุมูลอิสระ
- มะละกอดิบ: มีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ไม่เท่ามะละกอสุก
- มะละกอสุก: มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ไลโคปีน ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและมะเร็ง
7. พลังงาน
- มะละกอดิบ: ให้พลังงานต่ำกว่า เนื่องจากมีน้ำตาลธรรมชาติน้อย
- มะละกอสุก: ให้พลังงานมากขึ้น เหมาะสำหรับเติมพลังงานระหว่างวัน
ดังนั้น สรุปได้ว่า
- มะละกอดิบ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเอนไซม์ช่วยย่อยและใยอาหารมากกว่า
- มะละกอสุก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน วิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระ
ข้อควรระวัง มะละกอดิบอาจมีสารยาง (latex) ในปริมาณสูง โดยเฉพาะในผลดิบมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในบางคน ควรปรุงสุกหรือบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง
ยางมะละกออันตรายไหม
ยางมะละกอ มีทั้งคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์และอันตรายขึ้นอยู่กับวิธีการใช้และการสัมผัสกับร่างกาย ดังนี้
1. คุณสมบัติของยางมะละกอ
- ยางมะละกอมีเอนไซม์ชื่อ ปาเปน (Papain) ซึ่งช่วยย่อยโปรตีน และมักถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การทำให้เนื้อนุ่ม หรือการย่อยเนื้อสัตว์
- ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น ครีมขัดผิว เพราะช่วยผลัดเซลล์ผิว
2. อันตรายจากยางมะละกอ
- ระคายเคืองผิวหนัง: ยางมะละกอสดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือผื่นแดง โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
- อาการแพ้: ในบางคนอาจเกิดอาการแพ้ เช่น คัน บวม แดง หรือเกิดผื่นเมื่อสัมผัสยาง
- ระคายเคืองตา: หากยางมะละกอเข้าตา อาจทำให้ตาแสบหรือระคายเคืองรุนแรง
- อันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร: หากรับประทานในปริมาณมาก ยางมะละกออาจทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหาร
- พิษต่อหญิงตั้งครรภ์: ยางมะละกอสด (จากมะละกอดิบ) อาจกระตุ้นการหดตัวของมดลูก จึงควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์
คำแนะนำ
- หากต้องการใช้ยางมะละกอในด้านสุขภาพหรือความงาม ควรใช้ในปริมาณเล็กน้อยและเจือจางในผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสยางมะละกอสดโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่บอบบางหรือตา
- หากเกิดอาการระคายเคือง ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที และหากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
ไอเดียการใช้มะละกอเพื่อสุขภาพ
- เพิ่มน้ำนม สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการเพิ่มน้ำนมให้ลูกน้อย แนะนำให้กินมะละกอสุก เนื่องจากจะมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำนมให้มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
- แก้อาการขัดเบา นำรากสดประมาณ 1 กำมือ กับรากแห้งอีกครึ่งกำมือ จากนั้นนำมาหั่น และต้มกับน้ำ นำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหารแต่ละมื้อ จะช่วยรักษาอาการขัดเบาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แก้อาการผดผื่นคันบนลำตัว แนะนำให้ใช้ใบ 1 ใบ น้ำมะนาวประมาณ 2 ผล และเกลือประมาณ 1 ช้อนชา นำวัตถุดิบทั้งหมดมาตำให้ละเอียด จากนั้นเอาไปทาที่บริเวณที่มีผดผื่นคัน วิธีนี้ช่วยให้อาการดังกล่าวค่อยๆ หายไป และดีขึ้นตามปกติ
- ช่วยฆ่าเชื้อราบริเวณแผล นำยางจากมะละกอดิบมาทาบริเวณที่เป็นกลาก เกลื้อน และเท้าเปื่อย ทาวันละประมาณ 3 ครั้ง จะช่วยฆ่าเชื้อราที่อยู่บริเวณที่เป็นแผลได้เป็นอย่างดี
- ช่วยรักษาแผลพุพอง อักเสบ นำใบแห้งมาบดให้เป็นผง ผสมน้ำกะทิ ผสมให้เข้ากันพอเหนียวแล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง
- ช่วยลดอาการปวดบวม นำใบสดมาย่างไฟ หรือลวกด้วยน้ำร้อน จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดบวมจะช่วยลดอาการได้ดี หรือจะนำใบมะละกอสดมาตำให้พอหยาบแล้วนำมาห่อด้วยผ้าขาวบางสะอาด ทำเป็นลูกประคบก็ได้เช่นเดียวกัน
- ช่วยให้หน้าใส นำเนื้อสุกนำมาผสมกับนมสดและน้ำผึ้ง นำมาปั่นให้เข้ากันจนละเอียด จากนั้นเอามาทาบริเวณผิวหน้าและผิวกายตามต้องการ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที จึงค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้ถือเป็นการทรีทเมนท์หน้าใสได้อย่างปลอดภัย และเห็นผลได้อย่างชัดเจน
ข้อควรระวังในการทานมะละกอ
- ควรเลือกมะละกอที่มีคุณภาพ มีผิวสีเหลืองบางส่วน หรือเหลืองทั้งหมด และผลของมะละกอตรงบริเวณขั้วที่ติดกับลำต้นไม่ควรนิ่มเหลว
- ไม่ควรรับประทานมะละกอที่ดิบจนเกินไป ซึ่งผลที่ดิบเกินไปจะมีเปลือกนอกสีเขียว และมีเนื้อที่แข็งมาก
- ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น ผิวเหลือง เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับยางมะละกอ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาต่อผิวหนังได้
- สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะละกอเพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า สารเคมีพาเพนที่อยู่ในมะละกออาจเป็นพิษต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิด
ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อปลอดภัยทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ - สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการรับประทานมะละกอ เพราะอาจส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นก่อนรับประทานมะละกอ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเช็ค และควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ผู้ที่มีอาการแพ้สารพาเพน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะละกอ เนื่องจากในมะละกอจะมีสารชนิดนี้อยู่
- ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดไม่ควรรับประทานมะละกอ โดยเฉพาะมะละกอที่ผ่านการดอง อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระหว่าง และหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานมะละกออย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
แม้การรับประทานมะละกอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากมาย แต่ต้องรับประทานอย่างเหมาะสม ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะแทนที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพอาจกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายต่างๆ ตามมาได้