ภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (NEC: Necrotizing Enterocolitis)

ภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing Enterocolitis: NEC) เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อของระบบทางเดินอาหารตายจากการอักเสบจนขาดเลือด มักเกิดบริเวณลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ในทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย และเป็นสาเหตุการตาย และทุพลภาพของทารกแรกเกิดที่พบได้มากที่สุด

สาเหตุภาวะลำไส้เน่าอักเสบ

ยังไม่ทราบแน่นอนว่า ภาวะลำไส้เน่าอักเสบนั้นเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้มากที่สุด ได้แก่

  • มารดาใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
  • ทารกติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด
  • การเติบโตช้าในครรภ์
  • การคลอดก่อนกำหนด หรือมีปัญหาระหว่างทำคลอด เช่น รกลอกตัว ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอด
  • ทารกเกิดภาวะขาดออกซิเจนจนช็อค (Hypoxia)
  • ทารกเกิดภาวะเลือดข้น (Polycythemia)
  • น้ำหนักตัวทารกน้อย
  • ความพิการของหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ได้ไม่เพียงพอ
  • การให้นมผสมที่เข้มข้นสูงผ่านทางเดินอาหาร
  • การให้สารไขมันทางหลอดเลือดดำ
  • การใส่สายสวนหลอดเลือดทางสะดือ

พยาธิสรีรภาพภาวะลำไส้เน่าอักเสบ

ภาวะลำไส้เน่าอักเสบมีพยาธิสรีรภาพจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจากสาเหตุของภาวะด้านบน จนทำให้ลำไส้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่การทำลายเยื่อบุผิวลำไส้ รวมถึงเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าไปสู่ผนังลำไส้

ซึ่งจากการติดเชื้อ และอักเสบดังกล่าว อาจทำให้เนื้อเยื่อในลำไส้ตาย เกิดก๊าซแทรกตัวเข้าไปตามชั้นของผนังลำไส้ หรืออาจลึกเข้าไปถึงระบบเลือดดำ ทำให้ลำไส้เกิดภาวะขาดออกซิเจน จนทำให้เด็กทารกมีอาการเจ็บป่วยขึ้นมา เช่น ท้องอืด พบเลือดในอุจจาระ (Occult Blood)

หากมีความรุนแรงมากขึ้นอาจถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด มีแผลบริเวณลำไส้ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่เยื่อบุชั้นในและกล้ามเนื้อของลำไส้และอาจทำให้ลำไส้ทะลุ

อาการภาวะลำไส้เน่าอักเสบ

ทารกที่มีภาวะลำไส้อักเสบ จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เซื่องซึม (Lethargy)
  • ดูดนมไม่ดี
  • ตัวเหลือง
  • ร้องกวน
  • อุณหภูมิกายต่ำ
  • หยุดหายใจ
  • หัวใจเต้นช้า
  • มีภาวะกรดเกิน
  • โซเดียมต่ำ และออกซิเจนต่ำ

ส่วนอาการเฉพาะที่เกิดจากลำไส้เน่าอักเสบ ได้แก่

  • ท้องอืด
  • ถ่ายอุจาระเหลว
  • อาเจียนเป็นสีน้ำดี
  • มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • มีอาหารเหลือค้างในกระเพาะอาหาร
  • อาจมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

การวินิจฉัยโรคภาวะลำไส้เน่าอักเสบ

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติการตั้งครรภ์ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมารดาขณะตั้งครรภ์ และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยแพทย์จะมุ่งประเมินไปที่ความรุนแรงของการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงตรวจดูเงาลมในลำไส้ ของเหลวในช่องท้อง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่แพทย์อาจใช้เพื่อวินิจฉัยภาวะนี้เพิ่มเติมได้แก่

  • การตรวจเอกซเรย์ช่องท้อง เพื่อสังเกตเงาลมแทรกในผนังลำไส้
  • การตรวจเอกซเรย์ท่าข้าง
  • การตรวจช่องท้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  • การเพาะตัวอย่างเลือด
  • การตรวจประเมินระบบการแข็งตัวของเลือด

การรักษาภาวะลำไส้เน่าอักเสบ 

การรักษาภาวะลำไส้เน่าอักเสบมีองค์ประกอบสำคัญได้แก่

  • การระงับสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ ผ่านการพักการใช้ทางเดินหาร ใช้สายสวนกระเพาะเพื่อระบาย การให้ยาปฏิชีวนะชนิดสเปกตรัมกว้าง การระงับการติดเชื้อตามระบบต่างๆ ของร่างกาย
  • การพยุงระบบไหลเวียน ด้วยการให้สารน้ำ สารอาหารทางหลอดเลือดให้ยากลุ่มกระตุ้นความดันโลหิต (Vasopressor)
  • การเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย โดยใช้เครื่องมือติดตามการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ สัญญาณชีพ ปริมาณปัสสาวะ การแข็งตัวของเลือด การเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพในทางเดินอาหาร

องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยคัดแยกผู้ป่วยที่มีภาวะไม่วิกฤติจนถึงขั้นไม่ต้องผ่าตัดได้ กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อหยุดการลุกลามของการอักเสบในลำไส้ ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปของการแตกทะลุของลำไส้

วิธีรักษาภาวะลำไส้เน่าอักเสบโดยการผ่าตัดแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบเปิดสำรวจช่องท้อง
  • การใส่ท่องระบายช่องท้อง

หลังจากรับการผ่าตัดแล้ว จะต้องมีการเฝ้าระวังเพื่อฟื้นฟูร่างกายทารกหลังผ่าตัดให้กลับมาเป็นปกติ โดยผู้ดูแลจะต้องพยุงระบบไหลเวียนด้วยสารน้ำ และยาพยุงความดัน อีกทั้งต้องเฝ้าระวังความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ภาวะตกเลือดในสมอง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

หากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนที่น่าเป็นห่วงหลังการผ่าตัด แพทย์จะเริ่มให้อาหารผ่านทางเดินอาหารกับเด็ก

ภาวะลำไส้เน่าอักเสบเป็นภาวะที่ส่งผลต่อร่างกายของทารกอย่างรุนแรง อีกทั้งร่างกายของเด็กทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และความแข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับภาวะอักเสบร้ายแรงได้มาก จึงเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันเวลา

ว่าที่คุณแม่มือใหม่รวมถึงผู้หญิงทุกคนที่กำลังวางแผนมีบุตร จึงต้องเตรียมดูแลสุขภาพของตนเองให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ลูกของคุณมีสุขภาพแข็งแรง ไร้ภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงอันตราย

Scroll to Top