แพ้ยุง อาการเป็นอย่างไร

คนส่วนมากมักมีอาการไวต่อการถูกยุงกัด เช่น เกิดผื่นแดง คัน มีตุ่มใส แต่ก็มีผู้ที่มีอาการแพ้ยุงรุนแรงที่อาจมีอาการมากกว่าอาการทั่วไป และอาจทำให้เป็นอันตรายได้ การเรียนรู้อาการแพ้ยุงที่เป็นอันตรายและวิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการแพ้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

มีคำถามเกี่ยวกับ แพ้ยุง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ทำไมถูกยุงกัดแล้วเกิดอาการแพ้

ช่วงเวลาที่ถูกยุงกัดมักเกิดในช่วงใกล้ค่ำ หรือย่ำรุ่ง เป็นช่วงเวลาที่ยุงตื่นตัวมากที่สุด โดยยุงตัวผู้ไม่เป็นอันตรายเพราะจะกินเฉพาะน้ำค้าง หรือน้ำเท่านั้น ในขณะที่ยุงตัวเมียจะกินเลือดเป็นอาหาร

ยุงตัวเมียจะหาเหยื่อด้วยการดมกลิ่น สัมผัสกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมาและสารเคมีที่อยู่ในเหงื่อ เมื่อยุงตัวเมียพบเหยื่อแล้วก็จะไปเกาะที่ผิวหนังนอกร่มผ้าและดูดเลือด ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดอาการนูน แดง และคันตามมา

อาการแพ้ยุงนั้นไม่ได้เกิดจากการถูกยุงตัวเมียกัดโดยตรง แต่เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อโปรตีนที่อยู่ในน้ำลายยุง ในกรณีที่ปฏิกิริยาแพ้รุนแรง อาจแบ่งอาการแพ้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. สกีตเตอร์ซินโดรม (Skeeter syndrome) ผู้ที่แพ้จะมีอากานทางผิวหนังรุนแรงร่วมกับมีไข้
  2. การแพ้ทั้งระบบ (systemic reaction) ผู้ที่แพ้จะมีอาการไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดท้อง และ/หรือ ร่วมกับอาการท้องเสีย ในกรณีที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะแพ้รุนแรงแบบ anaphylaxis ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  3. การแพ้ที่เกิดขึ้นร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น โรค Epstein-Barr virus-associated lymphoproliferative disease, Epstein-Barr virus-negative lymphoid malignancy, Eosinophilic cellulitis หรือ chronic lymphocytic leukemia

ลักษณะของอาการแพ้ยุง

ยิ่งถูกกัดบ่อยเท่าไหร ร่างกายของคนคนนั้นก็จะไวต่อยุงน้อยลงเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ผู้ใหญ่มักจะมีปฏิกิริยาต่อการถูกยุงกัดที่รุนแรงน้อยกว่าในเด็ก

อาการแพ้ยุงที่พบบ่อย ได้แก่ ตุ่มนูนที่ผิวหนังซึ่งอาจจะเป็นสีแดง และคัน โดยอาจเกิดได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากถูกกัด และต้องสัมผัสกับยุงนานกว่า 6 วินาที

อาการแพ้ยุงปานกลางถึงรุนแรง

  • คันเป็นบริเวณกว้าง
  • มีแผล
  • มีรอยช้ำใกล้กับบริเวณที่ถูกกัด
  • น้ำเหลืองอักเสบ
  • ผื่นลมพิษ

หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการบวมที่ปาก หรือลำคอ และหายใจมีเสียงวี๊ด นั่นคืออาการแพ้รุงแรง (Anaphylaxis) ที่ต้องได้รับการรักษาทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรงจะต้องได้รับการฉีดยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ทันที และให้รีบส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คุณจะมีอาการแพ้รุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผื่นลมพิษ หรือคันเป็นบริเวณกว้าง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภูมิแพ้ การรู้ถึงระดับความรุนแรงของอาการแพ้ จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

มีคำถามเกี่ยวกับ แพ้ยุง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

การถูกยุงกัดนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอาการแพ้เพียงอย่างเดียว แต่ยุงยังเป็นพาหะนำโรครุนแรงหลายโรค เช่น

  • มาลาเรีย
  • ไข้เลือดออก
  • ไข้สมองอักเสบ
  • ไข้เหลือง (Yellow fever)
  • ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Virus)
  • เยื่อบุสมองอักเสบ

อาการที่บ่งบอกว่า คุณอาจจะเป็นโรคเหล่านี้ประกอบด้วย

  • มีไข้
  • ปวดหัวรุนแรง
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • มีผื่น
  • อ่อนเพลีย
  • ไวต่อแสง
  • สับสน
  • มีความเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย

หากคุณมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงกัด

  • ผู้ชาย
  • สตรีมีครรภ์
  • คนที่เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ปโอ
  • คนที่เพิ่งออกกำลังกาย
  • ผู้ที่เพิ่งดื่มแอลกอฮอล์

วิธีการป้องกันการเกิดอาการแพ้ยุง

วิธีการป้องกันการเกิดอาการแพ้ยุงก็คล้ายกับโรคภูมิแพ้จากสาเหตุอื่นคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้

แนะนำวิธีป้องกันการถูกยุงกัด

  • ใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า อาจสวมหมวกปีกกว้าง
  • กำจัดแหล่งน้ำขัง หรือน้ำนิ่งรอบๆ บ้าน
  • ซ่อมแซมรูตามผนัง หรือหน้าต่าง
  • จุดเทียนไล่ยุงเวลาอยู่กลางแจ้ง หรือไปตั้งแคมป์
  • หากอยู่ในที่ที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด ควรทายากันยุงด้วย อย่างไรก็ตาม ยากันยุงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้เช่นกัน จึงควรอ่านรายละเอียดก่อนใช้งาน
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับสถานที่ที่ยุงวางไข่ เช่น ริมแม่น้ำ หรือที่มืด โดยเฉพาะในช่วงเวลาพลบค่ำ และใกล้รุ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุงตื่นตัวที่สุด

การรักษาอาการแพ้ยุง

หากมีแผลยุงกัดธรรมดา การใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) หรือยาทาสเตียรอยด์ (เช่น Hydrocortisone cream) เพื่อบรรเทาอาการคันก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้คุณอาจประคบเย็น หรืออาบน้ำเย็น โดยไม่ใช้สบู่ร่วมด้วยก็ได้

แต่ถ้าหากมีอาการแพ้รุนแรง จะต้องใช้ยาฉีดอีพิเนฟรินแบบพกพาทันที ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการแพ้รุนแรง แพทย์จะสั่งยาฉีดอีพิเนฟรินให้พกติดตัวอยู่แล้ว

การแพ้ยุงรุนแรงพบได้ค่อนข้างน้อย แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงขั้นที่ต้องรับการรักษาในทันที หากคุณมีอาการแพ้รุนแรงอาจจะลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้โดยเฉพาะ

อาการแพ้ยุงทั่วไปนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายระยะยาว การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ยุงชุกชุม จัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม และกำจัดแหล่งเพาะยุงภายในบ้าน ก็ไม่เป็นอันตรายแล้ว


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

มีคำถามเกี่ยวกับ แพ้ยุง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ