ในปัจจุบัน ผู้คนหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น การปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์จึงได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยมีหลากหลายสถานพยาบาลที่เริ่มให้บริการปรึกษาสุขภาพจิต ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ในบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ลักษณะของสุขภาพจิตที่ดี เมื่อไรที่ควรไปปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ หรือช่องทางในการปรึกษาจิตแพทย์ เป็นต้น
สารบัญ
ทำความรู้จักกับสุขภาพจิต
สุขภาพจิตเป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติของภาวะจิตใจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้าที่อยู่รอบตัวเสมอ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รู้จักปรับตัว และทำความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี
สุขภาพจิตที่ดีเป็นอย่างไร?
ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เผยว่า การมีสุขภาพจิตที่ดีควรประกอบด้วย
- สภาพจิตใจดี จิตใจที่เป็นสุข รู้ภาวะสุขภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยทางร่างกายที่ส่งผลต่อจิตใจ หรือความเจ็บป่วยทางจิต
- สมรรถภาพของจิตใจดี สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือจัดการกับปัญหาในชีวิตได้
- คุณภาพของจิตใจดี มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง หรือดำเนินชีวิตอย่างเกิดประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม
- ปัจจัยสนับสนุนดี เช่น สภาพแวดล้อม บุคคลใกล้ชิด ครอบครัว การทำงาน รายได้ ศาสนา ความเชื่อของแต่ละบุคคล หรือความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
จะรู้ได้อย่างไรว่า ควรปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์?
ในชีวิตของคนเรานั้นมีทั้งความสุขและความทุกข์ ไม่ว่าใครต่างก็ต้องเผชิญกับความสมหวังและผิดหวังกันทั้งนั้น แต่ในบางครั้งปัญหาในชีวิตอาจยากเกินกว่าที่จะรับมือ หรือมีปัญหาเข้ามาติดต่อกันจนทำให้ความเครียดสูงขึ้นเรื่อยๆ
การที่คนเรามีความเครียดสะสมติดต่อกันเป็นระยะยาว ประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจส่งผลให้สุขภาพกายและใจได้ หากเริ่มรู้สึกว่า ปัญหาเหล่านั้นส่งผลต่อภาวะอารมณ์ สุขภาพจิต หรือสุขภาพร่างกาย ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อรักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างผลกระทบจากการมีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ เช่น
- อาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ แขนขาชา ใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย หรือเหนื่อยง่าย
- อาการทางจิตใจ เช่น เครียด กังวล ท้อแท้ ซึมเศร้า หมดหวัง สับสน ฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- อาการทางพฤติกรรม เช่น ซึม เฉยเมย กระสับกระส่าย ก้าวร้าว พูดหรือยิ้มคนเดียว ไม่สนใจตัวเองและสิ่งแวดล้อม
นอกจากการประเมินด้วยตัวเองแล้ว ยังสามารถตรวจวิเคราะห์ความเครียด (Stress) ได้ โดยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนความเครียด ความสุข หรือตรวจปัสสาวะเพื่อดูความเสียหายต่อเซลล์ประสาทและเนื้อเยื่อต่างๆ ของเซลล์สมอง
ปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ ดีอย่างไร?
จิตแพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการดูแลรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ มีทักษะในการรับฟัง สื่อสาร วิเคราะห์ปัญหา และบำบัดจิต
สุขภาพจิตนั้นก็เหมือนกับสุขภาพร่างกายที่เมื่อไม่สบายแล้ว ก็ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ดังนั้นการปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์จึงช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ตัวอย่างเช่น
- ให้คำปรึกษา จิตแพทย์สามารถให้คำแนะนำในการจัดการภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ โดยวิเคราะห์จากการพูดคุยและรับฟังเรื่องราวของผู้เข้ารับคำปรึกษา
- วินิจฉัยโรคในกลุ่มจิตเวชและรักษาอย่างตรงจุด ในบางครั้งภาวะอารมณ์ดังกล่าวอาจมีสาเหตุจากโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยา
- ช่วยให้เข้าใจในความต้องการของตนเอง จิตแพทย์จะรับหน้าที่เป็นผู้ฟัง กระจกสะท้อนถึงปัญหาผ่านการพูดคุย ซึ่งช่วยให้ผู้เข้ารับคำปรึกษามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับกับปัญหา และเริ่มหาทางรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
อยากปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ ทำอย่างไรดี?
ในปัจจุบัน การปรึกษาจิตแพทย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยมีให้บริการทั้งในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐบาล หรือหน่วยงานจากภาครัฐ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล เช่น
- ติดต่อสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่เบอร์โทร 1323
- ปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ ผ่านการโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล จองผ่าน HD เริ่มต้นที่ 20 นาที ราคา 300 บาท
- ปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน จองผ่าน HD ราคาเริ่มต้นที่ 837 บาท
* ราคาขั้นต่ำอาจมีการเปลี่ยนแปลง
ที่มาของข้อมูล
- กรมสุขภาพจิต, องค์ความรู้สุขภาพจิตสำหรับประชาชน
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สุขภาพจิต (https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/06062014-0956).
- ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รู้จักแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ (adult psychiatry) (https://med.mahidol.ac.th/psych/th/content/04112013-0823-th).