“โรคฝีมะม่วง”โรคติดต่อทางเพศที่พบบ่อยในผู้ชาย

โรคฝีมะม่วงคืออะไร?

โรคฝีมะม่วง หรือ Lymphogranuloma Venereum (LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis Bacterium) ทำให้ต่อมน้ำเหลืองและท่อน้ำเหลืองเกิดความผิดปกติ เกิดเป็นการอักเสบของฝีขึ้นมา

โรคฝีมะม่วงอาการเป็นอย่างไร?

หลังจากรับเชื้อจะอยู่ในระยะฟักตัวนาน 3-30 วัน ถึงจะแสดงอาการ ลักษณะอาการของโรคและความเสียหาย จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรับเชื้อ
โรคฝีมะม่วงเป็นโรคเรื้อรังที่อาจป่วยได้นาน หลักวัน เดือน ไปจนถึงนานเป็นปี หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ

  • ระยะที่ 1 : เกิดแผลสด แผลพุพอง ขนาดเล็ก 1-6 มิลลิเมตร ในบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศชาย ช่องคลอด ภายในช่องปาก ไม่มีอาการปวด แผลหายเองใน 2-3 วัน
  • ระยะที่ 2 : ผู้ชายจะมีเป็นก้อน ตุ่มนูนขนาดใหญ่ บวม อักเสบ ปวด ที่บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ ในผู้หญิงจะพบเป็นฝีในท้องน้อย เดินลำบาก อวัยวะเพศอักเสบ ระยะนี้อาจมีอาการปวดเมื่อย มีไข้ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ส่วนบางรายที่ติดเชื้อทางช่องปาก จะพบว่าต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำเหลืองที่คอติดเชื้อ ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางทวารหนัก อาจมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด
  • ระยะที่ 3 : มักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ระยะต้น ทำให้เกิดการทิ้งรอยโรคไว้ แม้จะหายไปแล้ว แต่อาจมีอาการซ้ำได้แม้จะผ่านไป 20 ปีก็ตาม ตัวอย่างอาการ เช่น แผลที่อวัยวะเพศ การอักเสบของท่อน้ำเหลือง ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงติดเชื้อ หรือ คันทวาร มีมูกปนหนองออกมา

โรคฝีมะม่วงตรวจรักษาอย่างไร?

โรคฝีมะม่วง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ ตรวจร่างกายเพื่อสังเกตหารอยโรคตรวจชิ้นเนื้อ ตรวจเลือด หรือแม้แต่ส่องกล้องตรวจลำไส้ ส่วนการรักษามี 2 วิธี

  • การรักษาด้วยยา : รักษาด้วยการกินยาปฏิชีวนะ ในกลุ่มดอกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือ กลุ่มอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรือกลุ่มอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
  • การผ่าตัด : กรณีที่ไม่สามารถรักษาโรคฝีมะม่วงด้วยยา หรือ มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีขนาดของฝีที่ใหญ่ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งในระหว่างการรักษาต้องงดเว้นกิจกรรมทางเพศทุกรูปแบบ จนกว่าแพทย์จะวินิจฉัยว่าสามารถมีได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคฝีมะม่วง?

  • ฝีคัณฑสูตร (Fistula) หรือโรคติดเชื้อเรื้อรัง ปวด บวม บริเวณรูทวารหนัก หรืออาจมีหนองร่วมด้วย
  • อวัยวะเพศบวม อักเสบเรื้อรัง เนื่องจากฝีมะม่วงอุดกั้นทางเดินของน้ำเหลืองบริเวณอวัยวะเพศ
  • ภาวะองคชาตมีพังผืดรั้ง องคชาตผิดรูปได้
  • ปากมดลูกอักเสบ ท่อนำไข่อักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง มีบุตรยาก ตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ลำไส้อุดตัน เนื่องจากลำไส้ตรงมีแผล และเกิดการตีบตัน
  • เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ปอด

การป้องกันโรคฝีมะม่วง

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีมะม่วง การป้องกันทำได้ทางเดียวคือ การระมัดระวังพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ ดังนี้

  • สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีทางช่องคลอด หรือทวารหนักก็ตาม
  • เลี่ยงพฤติกรรมการมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า
  • หลีกเลี่ยงการทำออรัลเซ็กซ์ (Oral Sex)
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคฝีมะม่วง
  • หมั่นตรวจสุขภาพ คัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งตนเองและคู่นอน

“โรคฝีมะม่วง” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบเร็วรักษาหายได้ พบช้าอาจจะเป็นเรื้อรังรบกวนชีวิตนานนับสิบปี เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ถ้าไม่รักษาปล่อยจนมีภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต


โปรแกรมตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Scroll to Top