เอกซเรย์ปอด รู้ผลไว ปลอดภัยจากโรคภายใน

การเอกซเรย์ปอด มักถูกบรรจุอยู่ในแพคเกจตรวจร่างกาย เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคภายใน และการวิเคราะห์ความปกติหรือความผิดปกติของอวัยวะในช่องอก ตลอดจนอาการป่วยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากพบสัญญาณโรคใดๆ จะได้สามารถหาทางป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที

HDmall.co.th ได้รวบรวมความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการเอกซ์เรย์ปอด ทั้งในส่วนของรูปแบบ ข้อดี ข้อเสีย ขั้นตอนการเอกซ์เรย์ การเตรียมตัว ตลอดจนประโยชน์ที่ได้รับ มาฝากกัน

เอกซเรย์ปอดคืออะไร?

เอกซเรย์ปอด (Chest X-Ray:CXR หรือ Chest Radiograph) สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า การตรวจเอกซเรย์อก หรือการเอกซเรย์ปอดและหัวใจ

เป็นการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาอย่างหนึ่ง โดยใช้รังสีเอ็กซ์ที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าฉายผ่านช่วงอก ทำให้เห็นภาพของอวัยวะในรูปแบบภาพขาวดำที่มีปริมาณความเข้มข้นแตกต่างกัน

แพทย์สามารถนำภาพที่ได้มาตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดปกติเบื้องต้นของอวัยวะภายใน ได้แก่ ปอด หัวใจ กระดูก ทรวงอก และอวัยวะภายในข้างเคียงอื่นๆ

เอกซเรย์ปอดมีกี่แบบ?

การเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาที่แพทย์ส่งตรวจมากที่สุด เพราะทำได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งการตรวจโดยรังสีเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน ก็มีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้

  1. การเอกซเรย์ปอดด้วยรังสีเอ็กซ์ (Chest X-Ray: CXR) เป็นการถ่ายภาพโดยใช้รังสีเอ็กซ์ฉายผ่านบริเวณทรวงอก ภาพที่ได้จะเป็นภาพขาวดำ 2 มิติ ที่มีความเข้มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการดูดซับรังสีของอวัยวะในช่องอก เช่น กระดูกจะสามารถดูดซับพลังงานจากรังสีได้มากที่สุดเพราะมีส่วนประกอบของแคลเซียมอยู่มาก ทำให้ภาพที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มเป็นสีขาว เป็นต้น การดูดซับรังสีของอวัยวะนี้เอง ทำให้แพทย์สามารถคัดกรองและวินิจฉัยเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะได้ ซึ่งวิธีนี้จะมีความแม่นยำประมาณ 80.6%
  2. การเอกซเรย์ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography หรือ CT Scan) เป็นการถ่ายภาพโดยใช้หลักการคล้ายกับ CXR แต่จะต้องตรวจในเครื่องสแกนที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ รังสีจะถูกยิงผ่านตัวผู้ใช้บริการในลักษณะเป็นวงกลมรอบตัว ภาพที่ได้จะเป็นภาพตัดขวางซึ่งนำมาสร้างเป็นภาพ 3 มิติได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้มีความละเอียดและชัดเจนกว่า CXR จึงทำให้สามารถตรวจหารอยโรคเล็กๆ เช่น มะเร็งปอดระยะแรกเริ่มได้ วิธีนี้จะมีความแม่นยำมากมากกว่าวิธีแบบ CXR
  3. การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose Computed Tomography: LDCT) วิธีนี้ผู้ป่วยจะได้ปริมาณรังสีจากการตรวจน้อยกว่าการตรวจแบบ CT Scan แต่ผลที่ได้จะละเอียดมากขึ้น คือสามารถนำมาใช้ในการคัดกรองมะเร็งปอดระยะแรกเริ่มที่ยังไม่แสดงอาการได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การตรวจคัดกรองวิธีนี้ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด ในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ได้สูงถึงร้อยละ 20
  4. การตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นการถ่ายภาพโดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับปริมาณรังสีเหมือนการตรวจใน 3 แบบแรก จากนั้นนำสัญญาณคลื่นที่ได้มาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ จะได้ภาพ 3 มิติเสมือนจริง สามารถบอกความแตกต่างของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดได้ชัดเจนกว่า CT Scan

เอกซเรย์ปอดเหมาะกับใคร?

การเอกซเรย์ปอด เป็นวิธีการตรวจที่ทุกคนสามารถทำได้และควรได้รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ โดยมักเป็นหนึ่งในรายการตรวจร่างกายประจำปี หรือทุก 1-3 ปีของคนทั่วไป เนื่องจากเป็นการเฝ้าระวังโรคเกี่ยวกับอวัยวะภายในได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้การเอกซเรย์ปอดยังเป็นการตรวจที่แพทย์ส่งตรวจมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการบอกถึงความผิดปกติภายในช่องอก หรือมีอาการเรื้อรังบางอย่าง เพราะถือเป็นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติ และวิเคราะห์หาวิธีรักษาให้ตรงจุดได้ในระดับต่อไป

ประโยชน์ของการเอกซเรย์ปอด

  1. ช่วยในการวินิจฉัยและวิเคราะห์ความเป็นปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ ช่องทางหายใจ กระดูกซี่โครง เส้นเลือดใหญ่ และอวัยวะอื่นใกล้เคียง
  2. ช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติจากอาการป่วย เช่น การไอเรื้อรัง การไอออกมาเป็นเลือด อาการหายใจลำบากหรือติดขัด การปวดภายในช่องอก หรือการบาดเจ็บภายในช่องอก เป็นต้น
  3. ช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวเกี่ยวกับโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะได้หาวิธีรักษาตั้งแต่แรก เช่น วัณโรคปอด ถุงลมโป่งพอง อาการน้ำท่วมปอด อาการปอดบวม อาการปอดแฟบ ภาวะปอดมีฝุ่นจับมาก เนื้องอกในปอด โรคมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก และอาการผิดปกติของหลอดเลือด รวมถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น เพื่อตรวจขนาดหรือรูปร่างที่ผิดปกติของหัวใจ ตรวจตำแหน่งหรือรูปร่างที่ผิดปกติของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง และโรคเกี่ยวกับกระดูก ได้แก่ การแตกร้าวของกระดูกซี่โครงหรือกระดูกสันหลัง ความผิดปกติของกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง หรือกระดูกไหปลาร้า โรคกระดูกพรุน
  4. เป็นการตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด

ข้อดีของการเอกซเรย์ปอด

แม้การเอกซเรย์ปอดจะใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยจากแพทย์เหมือนกัน แต่การเอกซเรย์ปอดแต่ละแบบ ต่างก็มีข้อดีแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. เอกซเรย์ปอด หรือ CXR เป็นการตรวจเฝ้าระวังโรค เนื่องจากการตรวจด้วยการฉายรังสีเอกซ์ หรือเอกซเรย์นั้น มีการแสดงผลช่วยให้เห็นร่องรอยความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้ชัดเจน ทำได้ง่าย รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อย ปริมาณรังสีที่ผู้ใช้บริการได้รับจะมีอัตราต่ำ และไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหารและน้ำก่อนการตรวจ
  2. การตรวจแบบ CT Scan มีระดับความแม่นยำสูงขึ้นกว่าแบบ CXR ทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมาก โดยเฉพาะการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกระดูก เช่น รอยแตกร้าวของกระดูกและการทำลายกระดูก รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยอาการป่วยอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บเสียหายของอวัยวะภายใน ภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน เนื้องอก การเกิดลิ่มเลือด ตรวจภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกรานและปอด และสามารถตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอก และตรวจติดตามผลหลังการรักษามะเร็งได้อีกด้วย
  3. การตรวจแบบ MRI จะมีข้อดีเด่นชัดที่สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมถึงการแยกชนิดของความผิดปกติ และบอกรายละเอียดของความผิดปกติได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะใช้ในการตรวจวินิจฉัยอาการป่วย อาทิ ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง สมองขาดเลือด ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ตรวจเช็กหมอนรองกระดูกและเส้นประสาทไขสันหลังในบางสภาวะ เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกทับเส้นประสาท ความผิดปกติของไขสันหลัง เป็นต้น

ข้อเสียของการเอกซเรย์ปอด

  1. การเอกซเรย์ปอด หรือ CXR มีความแม่นยำน้อยกว่าวิธีอื่นๆ
  2. การตรวจแบบ CT Scan เนื่องจากผู้รับการตรวจต้องนอนในอุโมงค์แคบๆ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10-15 ทำให้ปริมาณรังสีที่ได้รับมากขึ้นกว่า CXR อีกทั้งผู้ใช้บริการอาจต้องงดน้ำ งดอาหารมาก่อน สำหรับการที่ต้องฉีดสารทึบรังสีเพื่อเพิ่มความคมชัดของภาพ กรณีตรวจเนื้องอกและเส้นเลือด ซึ่งอาจเป็นผลให้ผู้ป่วยบางรายแพ้สารทึบรังสี หรือมีโอกาสทำให้เกิดพิษกับไตได้
  3. การตรวจแบบ MRI จะใช้เวลาในการตรวจนานกว่าวิธีอื่น คือ ประมาณ 30-90 นาที และไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกาย เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องเข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ หากมีโลหะทั้งภายในและภายนอกร่างกายเข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็กระหว่างตรวจด้วย ก็อาจจะเกิดการเคลื่อนที่ และเป็นอันตรายได้

การเตรียมตัวก่อนเอกซเรย์ปอด

ในการเอกซ์เรย์ปอดโดยทั่วไปไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่มีข้อปฎิบัติในการเตรียมตัวเพื่อให้การเอกซ์เรย์ปอดเป็นไปโดยราบรื่นดังนี้

  • กรณีตรวจแบบ CXR ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมล่วงหน้าเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร งดการดื่มน้ำก่อนตรวจและหากมีการรับประทานยาประจำ ก็สามารถรับประทานต่อเนื่องไปได้
  • กรณีสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ หรือมีการคลาดเคลื่อนของประจำเดือน เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ให้แน่ชัดก่อน เพราะหากตั้งครรภ์ รังสีเอกซเรย์อาจส่งผลให้เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
  • วันที่เข้ารับการตรวจ ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่พอดีตัวจนเกินไป ไม่สวมใส่เครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีส่วนประกอบของโลหะ รวมถึงวัสดุใดๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในส่วนที่ตรวจได้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า กระดาษทิชชู กระเป๋าเงิน นาฬิกา เพราะจะบดบังรังสีเอกซเรย์ ทำให้ภาพผิดปกติ ส่งผลให้การวินิจฉัยของแพทย์อาจผิดพลาดได้
  • ผู้รับบริการอาจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าโดยให้ใส่ชุดรับการเอกซเรย์ โดยผู้หญิงจะต้องถอดเสื้อชั้นนอกและชั้นในด้วย ถ้าผมยาวก็ต้องรวบผมขึ้นให้พ้นต้นคอ
  • เมื่อเข้าไปในห้องเอกซเรย์ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ ในการจัดท่าทางให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ออกมาชัดเจนที่สุด ซึ่งอาจจะอยู่ในท่ายืนตรง นั่ง หรือนอนหงาย
  • ในขณะที่เอกซเรย์ให้ผู้ป่วยฟังสัญญาณจังหวะการฉายรังสีจากเจ้าหน้าที่ เช่น จังหวะต้องหายใจเข้าเต็มปอดแล้วกลั้นใจไว้ และให้อยู่นิ่งที่สุด เพื่อให้การถ่ายภาพเป็นไปด้วยดี รวดเร็ว ไม่ต้องถ่ายซ้ำ และได้ภาพที่คมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขั้นตอนการเอกซเรย์ปอด

การตรวจเอกซเรย์มักใช้เวลาโดยรวมทั้งหมดไม่เกิน 10 นาที โดยจะมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ผู้ทำการเอกซ์เรย์อาจแจ้งให้ผู้รับการเอกซ์เรย์เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับการเอกซ์เรย์
  2. ยืนในตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่บอก และจัดท่าทางให้ถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  3. ฟังสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยทั่วไปจะให้กลั้นหายใจ นิ่งสักครู่ เพื่อทำการถ่ายเอกซ์เรย์
  4. ผู้รับการเอกซ์เรย์จะทราบผลการเอกซเรย์จากแพทย์ได้ภายหลังการตรวจทันที ต่างจากผลการตรวจ CT Scan ซึ่งต้องให้แพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาเป็นผู้อ่านผลและต้องใช้ระยะเวลานาน

เอกซเรย์ปอดรู้สึกอย่างไร

การเอกซเรย์ปอดจะไม่ทำให้รู้สึกอะไร หลังเสร็จการเอกซ์เรย์แล้วสามารถเดินทางกลับบ้านหรือไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลอะไรเป็นพิเศษ และไม่เหลือร่องรอยรังสีอยู่ในร่างกาย

แต่ในบางรายอาจมีโอกาสที่จะเกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ ซึ่งพบได้น้อยมาก เช่น รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ รู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และมีอาการคัน ลมพิษ หรือถ้ารุนแรงอาจมีอาการช็อกจากการแพ้สารอย่างรุนแรง และทำให้หัวใจหยุดเต้น เป็นต้น

อาการเหล่านี้อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากกรณีที่ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากสารทึบแสงและยาที่ใช้ในการเอกซเรย์ หากเกิดกรณีเช่นนี้ให้รีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล

เอกซเรย์ปอดอันตรายไหม?

การเอกซเรย์ปอด ถือว่ามีความปลอดภัยในระดับสูง เนื่องจากรังสีมีความเข้มข้นน้อยจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แม้จะมีความเสี่ยงจากอันตรายของรังสีอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่าและให้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างมาก

โดยการฉายรังสีเอ็กซ์บริเวณทรวงอกแต่ละครั้งจะมีค่ารังสีอยู่ที่ระดับ 0.1 mSv (หน่วยแสดงความเข้มข้นของรังสีเอกซเรย์) ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับรังสีเอกซเรย์ 1 ครั้ง ความเข้มข้นจะเท่ากับการได้รับรังสีตามธรรมชาติ (รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดง) เป็นเวลาติดต่อกัน 10 วัน จึงยังถือว่ามีความปลอดภัยมาก

แต่สำหรับการตรวจเอกซเรย์แบบ CT Scan ซึ่งเป็นการฉายรังสีที่มีความเข้มข้นและนานกว่า เพื่อให้ได้ภาพ 3 มิติ ผู้ป่วยจะได้รับรังสีมากถึง 7.0 mSv เทียบได้กับการรับรังสีตามธรรมชาติเป็นเวลา 2 ปี จึงอาจมีความเสี่ยงและอันตรายมากกว่า แต่ผลที่ได้ก็มีความแม่นยำสูง และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวินิจฉัยโรคของแพทย์

เอกซเรย์ปอดต้องถอดเสื้อไหม

ในการเอกซเรย์ปอด ผู้รับบริการอาจไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อ แต่เพื่อให้การถ่ายภาพเอกซเรย์ถูกต้อง แม่นยำ ควรสวมเสื้อยืดคอกลมที่สวมใส่สบาย ไม่ใส่เสื้อมีปก ไม่มีกระดุม ไม่มีซิป หรือไม่มีสกรีนแถบโลโก้หนาๆ และต้องถอดสร้อยคอ หรือเครื่องประดับโดยเฉพาะที่เป็นโลหะ ที่อยู่บริเวณลำตัวออกให้หมด

สำหรับผู้หญิงหากเป็นไปได้ควรสวมใส่ชุดชั้นในที่ไม่มีตะขอ โดยอาจใช้ชุดชั้นในแบบสปอร์ตบราแทน หากผมยาวควรรวบเก็บผมให้พ้นช่วงบริเวณลำคอให้เรียบร้อย

ผลลัพธ์ของการเอกซเรย์ปอด

ปัจจุบันผลการตรวจ เอกซเรย์ปอด เป็นการถ่ายภาพลงบนกระดาษ หรือในคอมพิวเตอร์ ซึ่งสะดวกในจัดเก็บข้อมูลและการอ่านประมวลผล โดยแพทย์เป็นผู้อ่านผลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษาโรคต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจเอกซเรย์ปอดจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายประการ แต่ก็อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้บางกรณี เช่น มีโรคแต่ตรวจไม่พบ หรือกรณีไม่มีโรคแต่ให้ภาพว่าน่าจะมีโรค เช่น ตรวจพบว่าหัวใจโต แต่อาจไม่ได้เป็นอะไร ซึ่งอาจเกิดจากขณะที่ตรวจ ผู้รับการตรวจหายใจเข้าไม่เต็มที่ ยืนไม่ตรง หรือเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ใช้เทคนิคที่ไม่เหมาะสม จึงอาจทำให้ภาพเอกซเรย์ไม่ถูกต้องและอ่านผลผิดพลาดได้

ดังนั้น ผลจากการเอกซเรย์ปอด จึงไม่ใช่ข้อสรุปทั้งหมดของการวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะภายใน โดยหากพบผลการตรวจเอกซเรย์ปอดผิดปกติ จำเป็นต้องพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ประวัติการเจ็บป่วย อาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มาใช้ประกอบการวินิจฉัยต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเอกซเรย์ปอด นอกจากจะช่วยบอกอาการผิดปกติในร่างกายตั้งแต่ระยะแรกได้แล้ว ยังช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย หาวิธีป้องกันและยับยั้งอาการผิดปกติ ตลอดจนประเมินวิธีรักษาได้ตรงจุดอีกด้วย

Scroll to Top