งูสวัด ไวรัสแฝงที่อันตรายกว่าที่คุณคิด

เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ไม่ว่าจะเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ล้วนส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสุขภาพทั้งสิ้น โรคงูสวัดเองก็เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดขึ้นโดยอาศัยโอกาสที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ผนวกด้วยเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่ในร่างกายของเรามาตลอด เมื่อเป็นแล้วอาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนอย่างภาวะกระจกตาอักเสบ เกิดอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีก

ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การป้องกันโรคจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด จากการสำรจพบว่าการฉีดวัคซีนงูสวัดสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคได้ถึงร้อยละ 51.3 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปีอีกด้วย

งูสวัดเกิดจากอะไร

งูสวัด (Herpes Zoster หรือ Shingles) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส

หลังหายป่วยจากโรคอีสุกอีใส ร่างกายจะไม่สามารถขจัดเชื้อไวรัสออกได้หมด เชื้อไวรัสชนิดนี้จึงแฝงตัวอยู่ในปมประสาทต่างๆ ของร่างกาย เมื่อร่างกายภูมิต้านทานต่ำลง จึงเกิดการอักเสบของเส้นประสาท และเกิดเป็นโรคงูสวัดขึ้น

เมื่อเป็นแล้วจะเกิดผื่นหรือตุ่มน้ำใสเรียงตัวเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทคล้ายกับมีงูรัด ในบางรายอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาทิ ภาวะกระจกตาอักเสบ เกิดอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีก การติดเชื้อแบคทีเรียทับซ้อนในบริเวณตุ่มน้ำใส แต่สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมมาก

อาการของงูสวัด

สัญญาณของอาการงูสวัดมักจะเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเล็กๆ ของร่างกายฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นในฝั่งร่างกายเดียวกัน

ในระยะแรก ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่ำลง ไวรัสแพร่เชื้อมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง บางรายอาจมีอาการชา เมื่อใช้มือสัมผัสผิวหนังแล้วจะรู้สึกเจ็บ รวมทั้งมีอาการปวดหัวและมีไข้ร่วมด้วย

บริเวณที่ปวดจะเกิดผื่นสีแดง ก่อนจะกลายเป็นตุ่มน้ำในเวลารวดเร็ว เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ โดยตุ่มน้ำจะเรียงตัวเป็นเส้นยาวตามแนวเส้นประสาท มักเกิดขึ้นบริเวณเอว ก้นกบ ใบหน้า และ ต้นขา จากนั้นตุ่มน้ำจะแตกและตกสะเก็ด

ในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามรอยแนวของโรค ถึงแม้แผลจะหายเป็นปกติแล้ว (Post-Herpetic Neuralgia หรือ PHN) อาการนี้มักดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์หรือยาวนานหลายเดือน

โดยทั่วไปแล้วงูสวัดสามารถหายได้เอง โดยผื่นจะแตกและแห้งภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา และจะหายสนิทภายใน 2-8 สัปดาห์ ในขณะที่อาการอื่นๆ จะค่อยๆ บรรเทาลงตามเวลา

ระยะฟักตัวของโรค

งูสวัดนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์เดิมที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายเท่านั้น จึงไม่มีระยะฟักตัวใหม่ของโรค เพียงแต่อาการของโรคจะแสดงออกมาเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้โรคงูสวัดจะไม่ใช่การฟักตัวใหม่ของโรค แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เช่นกัน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้น

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นงูสวัด

ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นงูสวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่เคยรับการรักษาด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษา เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัดมากกว่าคนทั่วไป

โดยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด จากอุบัติการณ์การเกิดงูสวัดจะพบประมาณร้อยละ 30 ในประชากรทั่วไป และจะเพิ่มถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี

วิธีรักษาโรคงูสวัด

หากมีอาการงูสวัดควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเพื่อรับการรักษา โดยมากแล้วแพทย์มักจะใช้วิธีการให้ยาลดปวดตามอาการ แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ จะมีการให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย โดยยาต้านไวรัสที่นิยมใช้ ได้แก่ Acyclovir, Famcyclovir และ Valacyclovir

การรับประทานยาต้านไวรัสภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้นและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้อีกด้วย

หลังจากรอยโรคหายแล้วผู้ป่วยบางรายจะมีภาวะ Post-Herpetic Neuralgia เนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลายเป็นระยะเวลานาน หากมีอาการปวดดังกล่าวสามารถรับประทานยาพาราเซตตามอลแก้ปวดได้

แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โดยมากแพทย์จะให้ยาแก้ปวดปลายประสาท อย่าง Gabapentin และ Pregabalin แทนการให้ยาพาราเซตตามอล

นอกจากการรักษาจากแพทย์แล้ว การดูแลตัวเองขณะที่มีอาการ ก็สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงและช่วยให้ฟื้นตัวจากโรคได้เร็วขึ้น โดยแนะนำให้ปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้งต่อวัน จะช่วยทำให้แผลแห้งรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • ตัดเล็บสั้น ไม่แกะหรือเกาบริเวณแผล อาบน้ำให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งป้องกันการเกิดแผลเป็นหลังผื่นหายอีกด้วย
  • ไม่พ่นหรือทายา เช่น ยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพร ลงบริเวณตุ่มน้ำเพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้

การป้องกันโรคงูสวัด

การป้องกันโรคงูสวัดสามารถทำได้โดยการพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายสัมผัสหรือได้รับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค โดยการแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มของผู้ป่วยออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อออกจากกันอย่างชัดเจน รวมทั้งดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสแพร่เชื้อมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังควรฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อป้องกันก่อนการเกิดโรค ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคนี้เพียงชนิดเดียว คือ วัคซีน Zostavax ซึ่งเป็นวัคซีนที่มาจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงเข็มเดียว (เข็มละ 0.65 มิลลิลิตร) โดยภูมิคุ้มกันจะขึ้นเต็มที่หลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้นานถึง 10 ปี ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดเข็มกระตุ้นของวัคซีนนี้

จากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 69.8 และป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน อย่างอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ได้ถึงร้อยละ 66.5 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ส่วนในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 51 และป้องกันการเกิดอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดได้ร้อยละ 39

ความแตกต่างระหว่าง งูสวัด อีสุกอีใส และเริม

โรคทั้งสามชนิดเกิดจากไวรัสในกลุ่ม Herpes Family (Human Herpes Virus : HHV) ซึ่งไวรัสในกลุ่มนี้แบ่งย่อยออกได้เป็น 8 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะก่อให้เกิดโรคแตกต่างกันออกไป

โดยโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (VZV) ในขณะที่โรคเริมเกิดจากเชื้อ HSV-1 และ HSV-2 ด้วยชนิดของเชื้อไวรัสที่ต่างกัน จึงทำให้บริเวณที่เกิดผื่น ลักษณะของรอยโรค อาการ การแพร่เชื้อ และการรักษาแตกต่างกันไปในแต่ละโรค

โดยโรคเริม ลักษณะของรอยโรคนั้นจะมีตุ่มน้ําใสเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม ประมาณ 2-10 เม็ด มีอาการปวดแสบร้อนและคัน มักเกิดเริมบริเวณริมฝีปาก ภายในช่องปากหรือใบหน้า และอวัยวะสืบพันธุ์ มีอาการปวดแสบปวดร้อนและคัน หลังจากนั้นตุ่มน้ำจะแตกออกและตกสะเก็ด อาการสามารถหายได้เอง

ในขณะที่อีสุกอีใส ลักษณะของรอยโรคนั้นจะมีผื่นคัน ตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ําใสๆ กระจายทั่วร่างกาย ก่อนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายไปภายใน 1-3 สัปดาห์ เชื้อไวรัสชนิดนี้จะทําให้เกิดโรคอีสุกอีใสเพียงครั้งเดียว และอาจพัฒนาความรุนแรงกลายเป็นโรคงูสวัดขึ้นได้ในภายหลัง

ส่วนโรคงูสวัดจะมีลักษณะผื่นแดง คัน เป็นแนวยาวตามแนวปมประสาท เริ่มจากกลางลําตัว อาการจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์

ส่วนการติดเชื้อของโรคอีสุกอีใสสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ในขณะที่โรคเริมนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมทั้งสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย

ตามที่กล่าวไปข้างต้น โรคอีสุกอีใสจะสามารถเป็นได้เพียงครั้งเดียว เพราะเมื่อพัฒนาความรุนแรงแล้วจะกลายเป็นโรคงูสวัดในภายหลัง ซึ่งทั้งงูสวัดและเริมเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

เพราะเชื้อจะย้ายจากเซลล์ผิวหนังเข้าสู่เซลล์ประสาทและอาศัยอยู่ในเซลล์ประสาทตลอดไป ในช่วงที่ไม่มีอาการ เป็นเพียงระยะที่เชื้อสงบเท่านั้น แต่หลังจากนั้นจะสามารถกลับมาเป็นได้อีกเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น โดยสาเหตุที่กระตุ้นให้โรคเริมกําเริบ เช่น ความเครียด ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ

การฉีดวัคซีนงูสวัด นอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดโรคแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อเกิดการติดเชื้อได้อีกด้วย

Scroll to Top