ทำใบขับขี่ ต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง?

ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2561 การทำใบขับขี่จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์จากแพทยสภาเท่านั้น ซึ่งจะมีทั้งแบบฟอร์มที่เปลี่ยนไป รวมถึงโรคต้องห้ามสำหรับการทำใบขับขี่ ฉะนั้นคนที่ใช้รถยนต์ควรตรวจสอบรายละเอียดดังนี้

ทำใบขับขี่ ต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง?

การตรวจสุขภาพเพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปทำใบขับขี่ ปัจจุบันมีความละเอียดมากขึ้น ข้อจำกัดมากขึ้น แต่กระบวนการตรวจนั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด โดยมีสิ่งที่ตรวจหลักๆ 4 ข้อ ดังนี้

  1. ตรวจร่างกายโดยแพทย์ (Physical Examination) เป็นการตรวจพื้นฐานโดยแพทย์อายุรกรรม ส่วนมากเป็นการสอบถามซักประวัติทั่วไป อาการปัจจุบันที่เป็น เพื่อนำมาวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่ หากมีความจำเป็นต้องการข้อมูลวินิจฉัยเพิ่ม เราก็มักจะคุ้นเคยกับการที่หมออายุรกรรมจะส่งตัวไปตรวจเลือด หรือเอกซเรย์เพื่อยืนยัน
  2. เอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-ray) เนื่องจากระบบหลอดเลือดและหัวใจมีผลอย่างมากต่อความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน เช่น หากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขณะขับรถ อาจนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนได้
  3. ตรวจสายตาเบื้องต้น (Visual Acuity) พูดง่ายๆ ก็คือการวัดสายตานั่นเอง เนื่องจากระยะการมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับรถ รวมถึงอาจมีการทดสอบตาบอดสีด้วย เพื่อให้มองเห็นสัญลักษณ์ต่างๆ บนท้องถนนอย่างชัดเจน
  4. ตรวจหาสารเสพติด (Amphetamine) ส่วนมากเป็นการตรวจจากสารปัสสาวะ เนื่องจากผู้ที่ใช้ยาเสพติดจะปรากฎผลในปัสสาวะภายใน 1-3 วันหลังใช้ยาเสพติด

หมายเหตุสำคัญ แบบใบรับรองแพทย์สำหรับทำใบขับขี่มีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งแตกต่างกับแบบฟอร์มตรวจสุขภาพทั่วไป

ดังนั้นหากต้องการนำไปทำใบขับขี่ ต้องกำชับกับบุคลากรทางการแพทย์ให้ชัดเจนว่าต้องการใบรับรองแพทย์สำหรับใบขับขี่ ดูตัวอย่างใบรับรองแพทย์ได้ที่นี่

โรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้

เนื่องจากปัญหาสุขภาพบางรายการมีผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่ จึงมีการกำหนดโรคที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ ดังนี้

  • โรคเท้าช้าง เป็นโรคที่ทำให้อวัยวะบวมโต หยาบกระด้าง คนที่เป็นมานานแล้วจะมีอวัยวะส่วนนั้นโตถาวร
  • วัณโรค อาจทำให้มีอาการผิดปกติเรื้อรัง เช่น ไอเรื้อรัง มีไข้เรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการขับขี่ได้
  • โรคเรื้อน เกี่ยวข้องกับเส้นประสาท หากรอยโรคปรากฎชัดเจนจนเห็นได้ง่าย อาจมีอาการชาตามผิวหนัง
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง เนื่องจากอาจมีอาการผิดปกติ กระวนกระวาย หรือมีแนวโน้มจะดื่มสุราขณะขับรถ
  • ผู้ใช้ยาเสพติด เพราะอาจมีผลจต่อสติในการขับขี่รถ
  • โรคลมชัก ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ หรือเป็นบ่อย อาจไม่ปลอดภัยต่อการขับขี่
  • โรคเบาหวาน รวมเฉพาะคนที่ต้องฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่งเท่านั้น
  • โรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจทำให้ความดันเลือดสูงเกินไปขณะขับขี่รถยนต์
  • ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดสมอง
  • โรคหัวใจ เนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ส่งผลเสียโดยรวมต่อคนบนท้องถนน

ดังนั้น ก่อนที่จะทำเรื่องใบอนุญาตขับขี่ ควรตรวจสอบสุขภาพของตัวเองและเตรียมเอกสารให้พร้อม เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของทุกคน

เช็กราคาตรวจสุขภาพ

Scroll to Top