อุจจาระสีเขียว สาเหตุ วิธีรักษา และการป้องกัน

อุจจาระ คือกากอาหารที่หลงเหลือจากกระบวนการย่อยและดูดซึมอาหาร โดยปกติแล้ว อุจจาระจะมีสีน้ำตาล หรือสีออกเหลือง ๆ แต่ถ้าอุจจาระมีสีเขียว นั่นอาจหมายถึงการบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง

มีคำถามเกี่ยวกับ อุจจาระสีเขียว? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

อุจจาระสีเขียว เกิดจากอะไรได้บ้าง 

อุจจาระคือกากอาหาร สีของอุจจาระจึงขึ้นอยู่กับลักษณะของอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้อุจจาระเป็นสีเขียวได้ เช่น  

  • ท้องเสีย: เกิดจากอาหารไหลผ่านลำไส้รวดเร็วเกินไปจนร่างกายผลิตน้ำดีไม่ทัน โดยเฉพาะอาหารจำพวกกากใยที่ไม่ผ่านการย่อยจากน้ำดี ทำให้การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ออกมาเป็นอุจจาระสีเขียว ซึ่งก็คือสีของน้ำดีนั่นเอง อาการท้องเสียยังทำให้ถ่ายเหลวได้ด้วย กรณีที่เป็นรุนแรงมากอาจทำให้อุจจาระกลายเป็นสีขาวขุ่น ๆ  
  • ยาบางชนิด: เช่น ยาที่เป็นธาตุเหล็ก
  • ผักใบเขียว: เมื่อรับประทานในปริมาณมาก สีของคลอโรฟิลล์ในผักก็อาจทำให้อุจจาระมีสีเขียวได้ 
  • อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมสีเขียว: อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของสีผสมอาหารสีเขียว หรือแม้แต่ชาเขียว ชะเอมเทศ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อุจจาระมีสีเขียวได้
  • น้ำนมแม่: ทารกที่กินน้ำนมส่วนหน้า (Foremilk หรือน้ำนมที่ไหลในช่วงแรกของคุณแม่ที่ให้นมลูก) ในปริมาณมากเกินไป ทำให้สีอุจจาระมีสีเขียวและเป็นฟองร่วมด้วย มักเกิดคุณแม่ให้นมในแต่ละข้างไม่นานพอ อีกกรณีคือ ทารกที่ได้รับนมซึ่งมีส่วนผสมของธาตุเหล็กมาก ก็ทำให้อุจจาระมีสีเขียวได้เช่นกัน 

อุจจาระสีเขียว รักษาอย่างไร 

หากอุจจาระสีเขียวเกิดจากสาเหตุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย จะมีวิธีรักษาดังนี้ 

ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นสีเขียว

ไม่มีอาการขาดน้ำ แต่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปากและคอแห้ง หรือหน้ามืด

  • ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เพราะสามารถหายได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์
  • ควรดื่มสารละลายเกลือแร่ ORS (Oral rehydration salt) เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป และควรดื่มในปริมาณน้อย ๆ แต่จิบบ่อย ๆ หากดื่มไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมง ให้ชงใหม่เท่านั้น
  • หากไม่มีสารละลายเกลือแร่ สามารถทำทดแทนได้ ด้วยการต้มน้ำให้เดือด และทิ้งไว้ให้เย็น ใส่น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชาละลายในน้ำต้มสุก 

ท้องเสียและมีอาการขาดน้ำ 

ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เพราะอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปด้วย

ขณะที่มีอาการท้องเสีย ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสชาติไม่จัด เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำผัก หรือน้ำผลไม้คั้นสด และห้ามกินชาหรือกาแฟ

หากรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นแล้วยังไม่หายขาด มีอาการอื่นร่วมด้วย หรือท้องเสียเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันและดูแลตัวเองไม่ให้เกิดอุจจาระสีเขียว

  • เลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด และปรุงสุกใหม่ ๆ
  • ไม่ควรหายาสมุนไพรมารับประทานเอง และหากมีอาการท้องเสียจากการรับประทานยาสมุนไพรระบายท้อง ให้ลดปริมาณการรับประทานลง
  • คุณแม่ที่ต้องให้นมลูก ควรให้นมแต่ละข้างในระยะเวลาที่นานพอสมควร เพื่อป้องกันการกินนมส่วนหน้ามากเกินไป เนื่องจากนมส่วนหน้ามีไขมันต่ำ แต่น้ำเยอะ ซึ่งจะกระตุ้นการขับถ่ายของทารก

เพราะอุจจาระสีเขียวส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่เป็นอันตราย อย่างอาหารหรือยาที่รับประทานเข้าไป จึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเกินเหตุ แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวต่อเนื่องหลายครั้ง หรือมีไข้ร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที 

มีคำถามเกี่ยวกับ อุจจาระสีเขียว? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ