ผ่าฝีคัณฑสูตร รู้ครบตั้งแต่เตรียมตัวยันดูแลหลังผ่า

“ฝีคัณฑสูตร” หลายคนอาจไม่คุ้นหู หรืออาจเข้าใจว่าคือโรคเดียวกับ “โรคริดสีดวงทวารหนัก” เพราะอาการและตำแหน่งที่เกิดโรคดูคล้ายกัน ต่างกันตรงที่สาเหตุของการเกิดโรค แต่ริดสีดวงทวารหนักนั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยาและปรับพฤติกรรม ส่วนฝีคัณฑสูตรต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

โรคฝีคัณฑสูตรอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และเป็นโรคที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย เพื่อให้ทุกคนรู้จักโรคฝีคัณฑสูตรดียิ่งขึ้น HDmall.co.th จึงรวบรวมข้อมูลโรคฝีคัณฑสูตรมาฝากกัน

ฝีคัณฑสูตรคืออะไร?

โรคฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula หรือ Fistula In Ano) คือ ฝีติดเชื้อเรื้อรังจนเป็นรูเปิดบนผิวหนัง มักเกิดบริเวณทวารหนัก รอบปากทวารหนัก และแก้มก้น มีอาการเจ็บและอาจมีเลือดออกได้ การเกิดฝีคัณฑสูตรเริ่มจากการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมผลิตมูก (Anal Gland) ที่อยู่บริเวณทวารหนัก จนเกิดเป็นฝี มีหนองหรือน้ำเหลือง หากปล่อยไว้จนมีอาการเรื้อรัง จะส่งผลให้ฝีแตกทะลุเป็นรู กลายเป็นฝีคัณฑสูตร โดยมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อแข็งๆ ซึ่งต่างจากโรคริดสีดวงทวารหนักที่เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพองจนเป็นก้อนเนื้อนิ่มๆ

ฝีคัณฑสูตรมีกี่ชนิด?

ฝีคัณฑสูตรแบ่ง เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. ฝีคัณฑสูตรแบบไม่ซับซ้อน (Simple Fistulaคือ ฝีที่อยู่ค่อนข้างตื้น แทรกตัวผ่านกล้ามเนื้อหูรูดไม่มากและเชื่อมต่อระหว่างรูทวารกับกล้ามเนื้อหูรูดหรือผิวหนังแค่หนึ่งทาง
  2. ฝีคัณฑสูตรแบบซับซ้อน (Complex Fistula) คือ ฝีที่มีลักษณะหลากหลาย เช่น มีรูเปิดอยู่ค่อนข้างลึก เชื่อมกับรูเปิดด้านนอกต่อกัน หรือมีรูเปิดด้านในเพียงรูเดียวแต่เชื่อมต่อมาเปิดเป็นรูเปิดด้านนอกหลายรู ทำให้มีความยากและซับซ้อนในการรักษามากยิ่งขึ้น

อาการฝีคัณฑสูตร

โดยทั่วไปอาการของฝีคัณฑสูตร จะมีลักษณะดังนี้

  • ปวด บวม แดง รอบบริเวณทวารหนัก
  • มีเลือด หรือหนองซึมออกมาจากแผล เป็นๆ หายๆ
  • คันบริเวณทวารหนัก
  • เจ็บ ปวด ในทวารหนัก
  • ปวดทวารหนักขณะเบ่ง หรือขับถ่ายอุจจาระ
  • มีรูหรือเนื้อแข็งๆ รอบทวารหนัก
  • มีไข้

การผ่าฝีคัณฑสูตรคืออะไร?

การผ่าฝีคัณฑสูตร คือ การรักษาโรคฝีคัณฑสูตรด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีเดียวในการรักษาโรคนี้ให้หายขาดหรือกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักที่จะก่อให้เกิดปัญหาในการกลั้นอุจจาระ

การผ่าฝีคัณฑสูตรมีกี่แบบ?

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแน่นอนแล้วว่าเป็นฝีคัณฑสูตร การรักษาจะทำโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการผ่าฝีคัณฑสูตรใหม่ๆ ออกมาหลายแบบ แต่จะมีวิธีการผ่า 4 แบบหลักๆ ที่โรงพยาบาลชั้นนำใช้ ดังนี้

1. LIFT Procedure (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract)

LIFT Procedure คือ การผ่าตัดแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก

ข้อดีของการผ่าแบบ LIFT Procedure

  • ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจากการผ่าตัด ดังนั้นจะไม่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่า
  • สามารถฉีดยาชาเฉพาะที่ได้
  • แผลหายเร็ว
  • มีโอกาสหายขาดจากโรคฝีคัณฑสูตรสูงถึง 97% หลังการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว

ข้อเสียของการผ่าแบบ LIFT Procedure

แม้จะมีโอกาสหายขาดในการผ่าตัดครั้งเดียวค่อนข้างสูงแต่ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้

ขั้นตอนการผ่าแบบ LIFT Procedure

  1. เริ่มด้วยการผ่าเข้าไปตรงกลางระหว่างชั้นของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก
  2. เกี่ยวเอาทางเชื่อมต่อ แล้วตัดออก
  3. และเย็บซ่อมทางเชื่อมต่อ (Fistula Tract) ส่วนนั้น

2. Fistulotomy

Fistulotomy คือ การผ่าตัดโดยใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้า ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีคัณฑสูตรแบบไม่ซับซ้อน

ข้อดีของการผ่าแบบ Fistulotomy

  • เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่โรคฝีคัณฑสูตรไม่ซับซ้อน
  • โอกาสหายขาดสูง เพราะเป็นการผ่าสำหรับฝีคัณฑสูตรแบบไม่ซับซ้อน

ข้อเสียของการผ่าแบบ Fistulotomy

  • วิธีนี้อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นหลังผ่า
  • มีปัญหาการกลั้นอุจจาระไม่สมบูรณ์ เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดมีโอกาสถูกทำลายมากกว่าวิธีอื่น
  • ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีคัณฑสูตรแบบซับซ้อน

ขั้นตอนการผ่าแบบ Fistulotomy

  1. เริ่มด้วยใส่ตัวนำทาง (Probe) เข้าไปที่รูเปิดที่ผิวหนังจนกระทั่งไปโผล่ออกที่รูเปิดภายในทวารหนัก
  2. จากนั้นใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้ากรีดเปิดทางเชื่อมต่อให้ทะลุทั้งเส้นทางให้ออกสู่ภายนอกซึ่งแผลนี้กลายเป็นแผลเปิด และต้องใช้เวลาดูแลรักษาแผลประมาณ 4-5 สัปดาห์ เนื้อเยื่อถึงจะขึ้นมาจนเต็มแผล

3. Seton Ligation

Seton ligation คือ การผ่าตัดที่ใช้เทคนิคการผ่าด้วยเส้นไหมแทนมีด ซึ่งเหมาะสำหรับฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน เช่น ฝีคัณฑสูตรที่มีทางทะลุหลายเส้นทาง ผู้ป่วยที่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดไม่ดี

ข้อดีของการผ่าแบบ Seton ligation

เทคนิคการตัดทางเชื่อมต่อด้วยไหมรัดแทนมีดจะช่วยลดปัญหากลั้นอุจจาระไม่สมบูรณ์

ข้อเสียของการผ่าแบบ Seton ligation

  • มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้เหมือนวิธีอื่นๆ
  • ใช้ระยะเวลารักษานาน

ขั้นตอนการผ่าแบบ Seton Ligation

  1. ใช้เส้นไหม หรือเส้นใยที่หดและยืดได้ ใส่เข้าไปในทางเชื่อมต่อ
  2. แล้วนำปลายทั้ง 2 ปลายของเส้นไหมออกมาผูกรัดที่ด้านนอก
  3. หลังจากนั้นในทุกสัปดาห์แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเพื่อรัดเส้นไหมให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ
  4. ช่วงเวลาที่อยู่ในขั้นตอนการรัดไหมเพื่อตัดทางเชื่อมต่อ ร่างกายจะมีเวลาสมานแผลและซ่อมแซมตัวเอง ถึงแม้จะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูด แต่ผู้ป่วยจะไม่เสียความสามารถในการกลั้นอุจจาระ
  5. จนในที่สุดเส้นไหมก็จะทำหน้าที่แทนใบมีดที่ค่อยๆ ตัดเนื้อเยื่อออกไปจนทำลายทางเชื่อมต่อให้หายไป โดยใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์

4. Fistulectomy

Fistulectomy คือ วิธีผ่าตัดที่ใช้กับป่วยกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยที่ใช้วิธีการผ่าตัดด้วยเทคนิค Seton Ligation แต่ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยมีวิธีการรักษาจะใช้มีดเป็นเครื่องมือตัดทางเชื่อมต่อออกทั้งหมด

ข้อดีของการผ่าแบบ Fistulectomy

อาการกลั้นอุจจาระไม่สมบูรณ์น้อยกว่าการผ่าแบบ Fistulotomy เนื่องจากการผ่าด้วยวิธีนี้มีการเย็บซ่อมกล้ามเนื้อหูรูดด้ว

ข้อเสียของการผ่าแบบ Fistulectomy

  • อาจพบปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่า
  • ใช้ระยะเวลารักษาค่อนข้างนาน

ขั้นตอนการผ่าแบบ Fistulectomy

  1. เป็นวิธีผ่าที่คล้ายกับเทคนิค Fistulotomy แต่จะตัดส่วนทางเชื่อมต่อออกทั้งหมด
  2. ใช้เนื้อเยื่อบางส่วนจากลำไส้ตรง (Rectum) มาทำการปิดและเย็บซ่อมกล้ามเนื้อหูรูดส่วนที่ติดกับทางเชื่อมถูกตัดออกไป

การเตรียมตัวก่อนผ่าฝีคัณฑสูตร

  • การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ หรือตรวจรายการอื่นๆ ตามแต่แพทย์จะเห็นควรเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและต้องทานยาประจำ โดยเฉพาะยาที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาอื่นๆ ที่แพทย์เห็นว่ามีอันตรายต่อการผ่าตัด มีความจำเป็นต้องงดยาก่อนการผ่าตัดเป็นเวลา 5-7 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ก่อนผ่าตัด ถ้ามีหนองหรือเลือดไหลออกมาเยอะ สามารถใส่แผ่นอนามัยหรือผ้าก็อซแบบพับรองไว้ได้
  • หากมีอาการปวดแผลมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ และดื่มน้ำมากๆ
  • งดกิจกรรมที่กระทบกระเทือนบริเวณรอบทวารหนักทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

การดูแลตัวเองหลังฝีคัณฑสูตร

การผ่าฝีคัณฑสูตรแบบไม่ซับซ้อน ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพียง 1 วันเท่านั้น ส่วนการผ่าฝีคัณฑสูตรแบบซับซ้อน ผู้ป่วยอาจนอนโรงพยาบาล 1-2 วัน โดยมีวิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด คือ

  • สามารถทำความสะอาดแผลด้วยตัวเองด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ และชำระล้างด้วยสะอาดเป็นประจำ เช้า เย็น แล้วซับให้แห้งเบาๆ ด้วยผ้าสะอาด
  • สามารถใส่ผ้าก๊อซแบบพับ แผ่นอนามัย หรือผ้าอนามัย เพื่อซับหนองหรือเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้เปื้อนเสื้อผ้า
  • หลังผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ควรฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ระวังอย่าให้ท้องผูก ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ หรือใช้ยาระบายเมื่อมีอาการท้องผูก
  • ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนแผลประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • แพทย์อาจสั่งยาอื่นเพิ่มเพื่อระงับอาการของผู้ป่วยในแต่ละคน เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะที่ช่วยรักษาอาการ

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าฝีคัณฑสูตร

การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย มีความเสี่ยงน้อย โดยอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการปวด บวม แดง หรืออักเสบมากขึ้น มีเลือดออกมาก หากดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปจะไม่มีปัญหาอะไร

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการผ่าฝีคัณฑสูตร

  • ปัสสาวะลำบากชั่วคราว
  • ปวดหัวชั่วคราว ในกรณีที่ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง
  • มีเลือดออกจากแผล โดยอาจพบหลังผ่าตัดสัปดาห์แรก
  • อาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกจากแผล และจะหยุดเองเมื่อแผลหาย
  • การกลั้นอุจจาระไม่สมบูรณ์

ผ่าฝีคัณฑสูตร พักฟื้นนานไหม กี่วันหาย

โดยทั่วไปแผลผ่าตัดจะหายสนิทใน 4-6 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น เช่น ความรุนแรงของอาการ ความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด วิธีการผ่าตัด

ส่วนใหญ่หลังจากผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแล้วมักกลับบ้านได้ภายในวันที่ผ่าตัดเลย ไม่ต้องนอนค้างในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดใหม่ๆ ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเจ็บปวดหรือพบของเหลวซึมออกจากแผลได้เล็กน้อยเป็นปกติ

ตัวอย่างเช่น หลังรับการผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรเพื่อระบายสิ่งสกปรกและทำความสะอาด (Fistulotomy) ผู้ป่วยมักกลับไปทำงานได้ภายใน 1-2 วัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนประมาณ 1-3 สัปดาห์

กรณีที่ผ่าตัดแบบเอาเลาะโพรงฝีคัณฑสูตรออกทั้งหมด (Fistulectomy) จะมีการวางยาสลบ ผู้ป่วยมักต้องพักฟื้นนานกว่าแบบ Fistulotomy โดยอาจต้องนอนพักสังเกตอาการในโรงพยาบาล 1-2 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านอีกนานเป็นสัปดาห์จึงจะค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น

ผลการผ่าฝีคัณฑสูตร

การผ่าฝีคัณฑสูตรแบบ LIFT Procedure มีโอกาสสูงที่จะหายเป็นปกติเพียงครั้งแรกที่ผ่า แต่การผ่าด้วยวิธีอื่นๆ ที่กล่าวมาอาจขึ้นอยู่กับความชำนาญของศัลยแพทย์ ความรุนแรงของโรค และปัจจัยอื่นๆ หากมีไม่มากโอกาสหายเป็นปกติก็มากขึ้นเช่นกัน

หลังการผ่าฝีคัณฑสูตรผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวระยะหนึ่งจนแผลหายสนิทจึงจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยหลายรายต้องทำการผ่าตัดซ้ำเพราะการผ่าครั้งเดียวยังไม่หายขาด เช่นเดียวกับผู้ป่วยบางรายที่เป็นซ้ำก็ต้องผ่าตัดใหม่

โรคฝีคัณฑสูตรจัดเป็นโรคที่สร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาให้หายขาดสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงควรเลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและมีทางเลือกรูปแบบและวิธีการการผ่าตัดที่เหมาะสมกับอาการ ซึ่งอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการพิจารณาด้วย

Scroll to Top