ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ ฟันปลอมถอดได้

เมื่อพูดถึง “ฟันปลอม” มักหมายถึง ฟันปลอมถอดได้ ซึ่งทำจากหลายวัสดุ ให้ความคงทน ความแนบสนิทกับช่องปาก และระดับความเหมือนฟันธรรมชาติแตกต่างกัน

HDmall รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการทำฟันปลอม เช่น ใส่ฟันปลอมทำกิจกรรมใดได้-ไม่ได้บ้าง ฟันปลอมโครงพลาสติก โครงโลหะ ต่างกันอย่างไร มีอายุการใช้งานนานไหม การถอดๆ ใส่ๆ ฟันปลอมมีผลต่อฟันซี่ข้างเคียงอย่างไร ฯลฯ ให้คุณหมอ ทพ. มนภาส ทวีปรังษีพร  ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการและ CEO ของ BFC Dental ช่วยตอบชัดๆ ตามข้างล่างนี้เลย

ฟันปลอมฐานโลหะ ฐานพลาสติก ฐานพลาสติกยืดหยุ่น ฐานอะคริลิก ต่างกันอย่างไร แบบไหนเหมาะกับใคร?

“ฟันปลอมฐานอะคริลิก” หรือที่บางคนเรียกว่า “ฟันปลอมฐานพลาสติก” หมายถึงชนิดเดียวกัน ฟันปลอมชนิดนี้มักมีฐานเป็นสีชมพูและมีลวดยึดติดกับฟัน ค่าทำไม่แพง ไม่สามารถบิดงอได้แบบฟันปลอมฐานพลาสติกยืดหยุ่น ทำให้สวมใส่ยากกว่า “ฟันปลอมฐานพลาสติกยืดหยุ่น” วัสดุที่ใช้ทำจะแตกต่างกับฐานอะคริลิกเล็กน้อย มีความยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้ใส่และถอดง่าย มักใช้กับผู้ที่ต้องการใส่ฟันปลอมเพียงบางซี่ “ฟันปลอมฐานโลหะ” จะมีความแข็งแรงและแน่นกว่า เวลาเคี้ยวอาหารจึงกระดกไปมาน้อยกว่าทั้งฟันปลอมฐานอะคริลิกและแบบยืดหยุ่น แต่เวลาถอดหรือใส่ก็อาจลำบากกว่าเช่นกัน

ใส่ฟันปลอมสามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น จูบ กินข้าว นอน ได้ตามปกติไหม?

ฟันปลอม สามารถใส่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ใส่ฟันปลอมจูบได้ตามปกติ การใช้ฟันปลอมกินข้าวก็เป็นประโยชน์ของมันอยู่แล้ว แต่ที่ต้องระวังคือไม่ควรใส่ฟันปลอมตอนนอน เพราะอาจเกิดปัญหาเชื้อราในปากได้

ใส่ฟันปลอมวันเดียวกันกับวันที่ถอนฟันเลยได้ไหม?

สามารถทำได้ ไม่มีติดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น หากมีความต้องการใส่ฟันปลอมให้แจ้งทันตแพทย์ในวันนั้นได้เลย

ใส่ฟันปลอมแล้วเจ็บ ควรทำอย่างไรดี?

หากใส่ฟันปลอมแล้วเจ็บ ควรกลับไปหาทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะดูว่าเจ็บส่วนไหนเพราะอะไร จากนั้นอาจปรับแต่งให้ขนาดพอดีขึ้นได้ เพราะกระบวนการผลิตฟันปลอมอาจเกิดความผิดพลาดได้ แม้จะมีการจำลองแบบก่อนแล้วก็ตาม

ใส่ฟันปลอมไปนานๆ แล้วฟันปลอมหลวมเกิดจากอะไร? ทำอย่างไรดี?

ฟันปลอมส่วนใหญ่จะทำฐานมาให้สามารถวางบนเหงือกได้พอดี แต่โดยธรรมชาติ เมื่อฟันซี่ใดหลุดออกไป เลือดก็จะมาเลี้ยงบริเวณนั้นน้อยลง ทำให้กระดูกค่อยๆ ละลายไปทีละนิด เมื่อเวลาผ่านไปจึงทำให้เหงือกยุบตัว ฐานฟันปลอมที่ทำมาพอดีจึงหลวมขึ้นได้ หากรู้สึกว่าฟันปลอมเริ่มหลวมควรมาปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข

ทำฟันปลอมแล้วหลุดบ่อยทำอย่างไรดี?

หากฟันปลอมเริ่มหลวม ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการปรับแก้ นอกจากนี้ยังควรมาพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อเช็กสภาพฟันปลอมด้วย โดยปกติกระดูกบริเวณที่ใส่ฟันปลอมจะค่อยๆ ละลายไปทีละนิดเนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงน้อยลงกว่าตอนที่มีฟันอยู่ ทำให้เหงือกเกิดการยุบตัวลงฟันปลอมจึงหลวมและหลุดได้ง่าย

หากใส่ฟันปลอมไปนานๆ แล้วสีเปลี่ยน ควรทำอย่างไรดี?

การที่ฟันปลอมสีเปลี่ยน ต้องแยกออกเป็น 2 กรณี กรณีแรก คือ ฟันแท้เปลี่ยนสี แต่ฟันปลอมยังมีสีเดิม กรณีนี้อาจเกิดจากคราบชา กาแฟ แก้ไขได้ด้วยการขูดหินปูน การทำ Air flow หรือแรงดันน้ำและลมร่วมกับผงเกลือฉีดขจัดคราบ รวมถึงการฟอกสีฟันก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง กรณีที่สอง คือ ฟันปลอมเปลี่ยนสีจนเข้มกว่าฟันแท้รอบๆ จนทำให้เป็นกังวล อาจต้องทำฟันปลอมใหม่ เพราะการเปลี่ยนสีฟันปลอมอันเดิมนั้นทำได้ค่อนข้างยาก

หากฟันปลอมเสียหาย สามารถซ่อมเองได้ไหม?

ไม่ควรซ่อมฟันปลอมเองเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กาวติดหรือการดัดรูปทรง เพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียหายยิ่งกว่าเดิม แม้ความผิดปกติบางอย่างอาจแก้ไขได้ แต่ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้ปรับแต่งแก้ไขให้

ระหว่างใส่ฟันปลอม สามารถจัดฟันได้ไหม?

ไม่ควร โดยปกติแล้ว ผู้ที่จัดฟันอยู่จะห้ามใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะการจัดฟันเหล็กที่ต้องติดแบร็กเกต (bracket) แล้วขึงลวด ทำให้ฟันค่อยๆ เคลื่อนที่ จึงไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้ แต่ในบางกรณีที่จำเป็นต้องจัดฟันจริงๆ อาจพอมีวิธี เช่น คนที่ทำรากฟันเทียมและใส่ฟันปลอมแบบครอบฟัน อาจรื้อครอบฟันออกแล้วเปลี่ยนเป็นครอบฟันประเภทชั่วคราวแทน เพื่อไม่ให้รากฟันเทียมซี่นั้นเคลื่อนที่ หรือบางคนอาจใช้วิธีการจัดฟันใส โดยออกแบบอุปกรณ์จัดฟันใสด้วยคอมพิวเตอร์ให้สามารถครอบลงไปแนวฟันโดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับฟันปลอมซี่นั้นได้ โดยสรุปคือ จะไม่มีการเคลื่อนฟันซี่ปลอม ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม

ทำไมต้องเอาฟันปลอมแช่น้ำเวลาไม่ได้ใส่?

ความจริงแล้วที่เห็นว่าเป็นน้ำนั้น คือน้ำยาทำความสะอาด เหตุผลที่ต้องถอดฟันปลอมออกแช่น้ำยา เนื่องจากหากใส่ฟันปลอมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ไม่ได้ถอดออกเลย เหงือกจะเกิดความอับชื้นจนเป็นเชื้อราได้ ซึ่งหากส่องด้วยกล้องกำลังขยายสูง จะเห็นว่าที่ฐานฟันปลอมแบบอะคริลิกจะเต็มไปด้วยรูพรุน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การถอดฟันปลอมออกมาแช่น้ำยานั้น นอกจากจะเพื่อทำความสะอาดฟันปลอมแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาพักรักษาสุขอนามัยของช่องปากอีกด้วย

ใส่ฟันปลอมจนหลวม เปลี่ยนเป็นรากฟันเทียมเลยได้ไหม?

การเปลี่ยนจากใส่ฟันปลอมชั่วคราวมาเป็นทำรากฟันเทียม สามารถทำได้ แต่มีความลำบากมากกว่าการทำรากเทียมตั้งแต่แรก เพราะโดยปกติแล้ว หากฟันซี่ไหนหลุดออกมา เลือดจะมาเลี้ยงบริเวณนั้นน้อยลง ทำให้กระดูกบริเวณนั้นค่อยๆ ละลาย เมื่อมาทำรากฟันเทียมในภายหลังจึงต้องเติมกระดูก การทำจึงซับซ้อนขึ้น รวมถึงการถอด-ใส่ฟันปลอมก็ส่งผลให้ฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียงซึ่งเป็นตัวยึดฟันปลอมได้รับแรงกระทำอยู่ตลอดจนอาจเกิดปัญหาไปด้วยได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงควรพิจารณาทำรากฟันเทียมตั้งแต่แรกๆ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ฟันปลอม มีอายุการใช้งานนานแค่ไหน?

ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่คนที่ต้องการเปลี่ยนฟันปลอมเกิดจากเวลาใส่ไปนานๆ แล้วฟันปลอมเริ่มหลวม มีสาเหตุมาจากกระดูกบริเวณนั้นละลายจนเหงือกยุบตัวลง และอัตราการละลายของกระดูกในแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถตอบได้ แต่โดยเฉลี่ยผู้คนมักมาเปลี่ยนฟันปลอมเมื่อใส่ไปได้ประมาณ 3-5 ปี

นอกเหนือจากนี้ คุณหมอมนภาสยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ที่จริงแล้วฟันปลอมติดแน่นอย่างทำรากฟันเทียม ครอบฟัน สะพานฟัน ก็เป็นอีกทางเลือกที่ควรพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากฟันปลอมติดแน่นนั้นทำเสร็จแล้วก็เหมือนกับฟันจริง ไม่ต้องคอดถอด-ใส่ ไม่กระทบกระเทือนกับฟันซี่ข้างเคียง และปัจจุบันราคาทำรากฟันเทียม ครอบฟัน สะพานฟัน ก็ไม่ได้แพงมากอย่างเมื่อก่อน โดยรวมเรียกได้ว่าค่อนข้างคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบในระยะยาว

Scroll to Top