การมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักใคร่สามัคคี เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันและอยู่ด้วยกันอย่างยืนยาว คือ ความฝันของใครหลายคน แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะยังมีปัจจัยและสาเหตุอีกมากมายหลายประการ ที่อาจทำให้ความฝันนี้ไปไม่ถึงฝั่ง
ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพนิสัยดั้งเดิมของแต่ละคน วัฒนธรรมของครอบครัวที่แตกต่างกันไป ภาวะเศรษฐกิจ หน้าที่การงาน รวมทั้งสถานะการเงินภายในบ้านที่ต้องช่วยกันบริหารจัดการ
ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น ยังถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อาจนำพาไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว
สาเหตุความขัดแย้งในครอบครัวที่พบบ่อย
โดยความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. นิสัยและความเคยชินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
การปลูกฝังของพ่อแม่และวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันออกไป ทำให้อุปนิสัยทั้งสามีและภรรยาย่อมไม่เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังติดตัวมานานตั้งแต่เด็ก
ถึงแม้จะเปลี่ยนได้แต่ก็เป็นเพียงแค่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น
ฉะนั้นคู่สามีภรรยาจึงจำเป็นต้องยอมรับในความแตกต่าง ข้อดี และข้อด้อยของแต่ละฝ่าย รวมทั้งมีความอะลุ้มอล่วย ยืดหยุ่น และเข้าใจกัน
2. ขาดความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง
ในอดีตการแบ่งหน้าที่บทบาทของสามีภรรยาจะมีความชัดเจนคือ สามีมีหน้าที่หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวและเป็นผู้นำในการตัดสินใจต่างๆ ส่วนภรรยาจะมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานในบ้าน คอยอบรมสั่งสอนลูกๆ
ปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป การแบ่งหน้าที่ของสามีภรรยานั้นก็จะแล้วแต่การตกลงกันในครอบครัว มีคู่สามีภรรยาหลายคู่ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทที่ยึดถือกันในอดีต
อย่างไรก็ตาม การตระหนักถึงหน้าที่และบทบาทที่ตนเองต้องทำในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรละเลย เพราะมีบทบาทหน้าที่หลายอย่างที่ต้องมีการตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องอะไร แล้วอีกฝ่ายจะคอยสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง
อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลที่อยู่อาศัย การผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ ที่ต้องมีการตกลงกันว่า จะบริหารการเงินอย่างไร แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบ การดูแลครอบครัวของอีกฝ่ายเพื่อแบ่งเบาภาระ
ปัจจัยเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และผลที่ตามมาคือ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผลอละเลยหน้าที่ที่เคยตกลงกัน ก็จะเกิดความขุ่นเคืองใจกันเองในชีวิตคู่ และนำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่โตขึ้น
3. การไม่มีเวลาให้กันและกัน
หลายครั้งที่คู่สามีภรรยาต่างคนต่างมีหน้าที่ของตนเอง เมื่อไม่มีเวลาให้แก่กันและกันบ้าง ความรู้สึกรักและความผูกพันก็ย่อมจืดจางลงไปได้ ส่งผลให้อาจเกิดเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกกันและกันอย่างเย็นชาขึ้น ต่างคนต่างเริ่มมีความเบื่อหน่ายและไม่ใส่ใจซึ่งกันและกัน
คู่สามีภรรยาบางคู่จะไม่รู้สึกตื่นเต้น หรือมีความสุขในชีวิตคู่อีกต่อไป ปัจจัยนี้อาจนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้าง หรือปัญหาการนอกใจกันเพราะต้องการมองหาคนที่ใส่ใจและมีเวลาให้ตนเองมากกว่า
4. การใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาในครอบครัว
ความคิดที่ขัดแย้งและการทะเลาะกันถือเป็นเรื่องปกติที่คู่สามีภรรยาทุกคู่จะต้องเผชิญ แต่หลายครั้งด้วยอารมณ์โกรธและไม่มีสติ หรืออาจเป็นการเผลอพูดจายั่วยุให้อีกฝ่ายโมโหในระหว่างโต้เถียงกัน ก็อาจนำไปสู่การลงไม้ลงมือตบตี และทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายได้
5. การนอกใจกันของสามี หรือภรรยา
ปัจจัยความขัดแย้งนี้อาจเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยทั้ง 4 ข้อข้างบนได้ เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างหมดรักซึ่งกันและกัน ไม่มีการปรับนิสัยเข้าหากันได้ มีการใช้ความรุนแรงจนหมดความไว้วางใจ ไม่มีการจัดสรรเวลาเพื่อเติมเต็มความรักให้แก่กันบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาการนอกใจย่อมเกิดขึ้น เพราะทุกคนย่อมต้องการที่จะเป็นคนสำคัญ และได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยกันทั้งนั้น ในเมื่อคู่ชีวิตของตนเองให้ในสิ่งที่ต้องการไม่ได้ การมองหาคนอื่นมาเติมช่องว่างของความรักที่หายไป จึงเป็นทางออกที่หลายคนเลือกที่จะทำ
แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
ปัญหาภายในครอบครัวเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพูดคุยแก้ไขกันไปตามบริบทความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปตามปัญหาที่คู่สามีภรรยาแต่ละคู่ต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับ และช่วยเหลือในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัวได้ เช่น
รู้จักการพูดคุยกันบ่อยๆ
การหมั่นคุยแบ่งปันปัญหาที่พบเจอกันในแต่ละวันจะช่วยให้ชีวิตคู่สามีภรรยาคงความสนิทสนมไว้ได้ และยังทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญที่อีกฝ่ายวางใจพอจะระบายความทุกข์ในใจออกมาอย่างหมดเปลือก
ส่วนอีกฝ่ายก็จะได้รับรู้ว่า คุณกำลังเผชิญปัญหาอะไรในชีวิตบ้าง เพื่อที่จะได้ช่วยกันวางแผนแก้ไขปัญหาด้วยกันต่อไป
อย่าให้คนอื่นเข้ามาแทรกแซงชีวิตคู่
หลายครั้งที่คู่สามีภรรยาปล่อยให้คนอื่น เช่น ญาติๆ พี่น้องคนสนิท หรือพ่อแม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตคู่มากเกินไป ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การแต่งงานกันคือ การที่คนสองคนตกลงใจจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและวางแผงชีวิตต่อไปด้วยกัน
ฉะนั้นการตัดสินใจต่างๆ จึงอยู่ที่คู่สามีภรรยา 2 คนเท่านั้น คุณไม่ควรปล่อยให้คนอื่นเข้ามาแทรกแซงแผนการต่างๆ ในชีวิตครอบครัวจนเกินขอบเขต
ไม่ละเลยเรื่องมีเพศสัมพันธ์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องบนเตียงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตความรักมีสีสันและทำให้คู่สามีภรรยาไม่เบื่อหน่ายซึ่งกันและกันได้ ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กันจึงเป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหา แต่จะต้องเป็นการยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วย
แบ่งเวลาอย่างเหมาะสม
ถึงจะงานยุ่งแค่ไหน แต่คุณก็ควรแบ่งเวลาในชีวิตเพื่ออยู่กับคู่ชีวิตของคุณบ้าง ไม่ใช่แค่กับสามี หรือภรรยาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงลูกๆ และอาจเป็นคนอื่นๆ ในครอบครัวที่สำคัญด้วย เพื่อจะทำให้บรรยากาศความอบอุ่นและความผูกพันในครอบครัวยังคงอยู่ต่อไป
นอกจากนี้การแบ่งเวลาให้คนในครอบครัวของคุณมีเวลาส่วนตัวเป็นของตนเองบ้าง ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน
แสดงความรักให้อีกฝ่ายเห็น
วิธีนี้จะทำให้ทั้งคุณและคนในครอบครัวรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ ทั้งยังไม่สร้างรู้สึกน้อยใจและคิดว่า ตนเองกำลังล้มเหลวในชีวิตคู่ วิธีนี้สามารถแสดงออกได้หลายแบบ เช่น การโอบกอด การแสดงความยินดีเมื่ออีกฝ่ายทำงานสำเร็จ การให้กำลังใจกันและกันเมื่อพบเจอปัญหา
การไม่ตำหนิอีกฝ่ายให้รู้สึกอับอายต่อหน้าคนอื่น การทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง เช่น ชวนกันออกไปรับประทานอาหารข้างนอก ซื้อของให้กันและกัน ออกไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสาธารณะ ด้วยกัน
ไม่จบปัญหาที่ความเงียบ
ความเงียบอาจเป็นการแสดงออกที่ดูสุขุมและเป็นผู้ใหญ่ แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้สำหรับปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัว เพราะการเงียบใส่กันและตั้งกำแพงไม่หันหน้าคุยกัน จะทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่ แล้วมีแผนการจะแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ความเงียบยังอาจนำไปสู่การไม่ไว้วางใจกันและกันด้วย คนในครอบครัวอาจหวาดระแวงก็ได้ว่าคุณจะนำเรื่องที่ทะเลาะกันไปคุยกับคนอื่นแทน
อย่าใช้อารมณ์แก้ปัญหา
เพราะอารมณ์มักนำพาให้การทะเลาะกันลุกลามบานปลายใหญ่โตขึ้น อาจเป็นในรูปของคำพูดที่รุนแรงทิ่มแทงใจ การลงมือทำร้ายร่างกาย คุณคงไม่อยากให้ลูกน้อยเห็นพ่อแม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหากันและกัน
เพราะนั่นจะทำให้เขารู้สึกตนเองกำลังเติบโตอยู่ในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น บางทีคุณอาจหากติกาสำหรับการทะเลาะกันในครอบครัวไว้สำหรับแก้ปัญหา เช่น เมื่อไรที่รู้สึกโกรธจนทนไม่ไหว ให้หลบไปนั่งเพียงลำพังในห้องจนกว่าอารมณ์จะเย็นลง
ไม่โกรธกันนานเกิน 3 วัน – 1 สัปดาห์ หากเกินกว่านั้นต้องมีการขอโทษกันเกิดขึ้น
วิธีการแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงคำแนะนำที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งในครอบครัวได้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวของตนเอง ต้องมีสติ และตระหนักถึงผลดีผลเสียที่จะตามมาในอนาคต
ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตคู่ของคุณได้