วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูก “สุนัขกัด” ต้องทำอย่างไรก่อน

ปกติแล้วสุนัขจะไม่กัดคน ยกเว้นกรณีที่คนรุกล้ำถิ่นของมัน (บ้านเจ้าของ) หรือเดินเข้าใกล้มันเกินไปในขณะกำลังกินอาหาร จะทำร้าย หรือแหย่มันเล่น หรือเป็นสุนัขแม่ลูกอ่อน การกระทำเหล่านี้จึงมีโอกาสถูกสุนัขกัด

แต่ในกรณีสุนัขบ้าจะมีอาการบ่งชี้ที่เห็นได้ชัด เช่น วิ่งโซซัดโซเซ ตาขวาง คอแข็ง น้ำลายฟูมปาก และมักวิ่งกัดคนทุกคนที่มันพบ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก ดังนั้นการปฐมพยาบาลและการให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกสุนัขกัดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ขั้นตอนการปฏิบัติตนเมื่อถูกสุนัขกัด

ปัญหาการถูกสุนัขกัดมีให้พบเห็นอยู่มากและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การติดเชื้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เราจึงควรศึกษาวิธีการปฏิบัติตนเมื่อถูกสุนัขกัดไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้อย่างทันท่วงที

ไม่ว่าสาเหตุของการโจมตีจากสุนัข หรือสุนัขกัดคืออะไร แผลที่ถูกกัด หรือข่วนจะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่แค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องตั้งสติ และเริ่มปฏิบัติตนตาม 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1: ปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกสุนัขกัด

ส่วนใหญ่แล้วเราไม่อาจทราบได้ทันทีว่า สุนัขที่กัดห รือข่วนเรามีการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรปฏิบัติทันที คือ การปฐมพยาบาลตนเอง หรือผู้ที่ถูกสุนัขกัดเพื่อทำความสะอาดบาดแผล ดังนี้

1. ชำระล้างบาดแผล

รวมไปถึงอวัยวะส่วนที่สัมผัสกับน้ำลาย หรือกรงเล็บสุนัขด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หากแผลลึกให้ล้างจนถึงก้นแผล ในกรณีที่น้ำลายสุนัขเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาเท่านั้น ล้างหลายๆ ครั้ง จากนั้นซับแผลให้แห้งด้วยผ้าก๊อซสะอาด

2. ฆ่าเชื้อที่บริเวณบาดแผล

ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ แทน จากนั้นเช็ดรอบๆ บาดแผลที่ถูกกัด และถูกข่วน ระวังอย่าให้แผลช้ำ และไม่ต้องทาครีมใดๆ เพิ่มเติม กรณีแผลเหวอะหวะให้ปล่อยแผลไว้โดยไม่ต้องเย็บแผล แต่ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาด

3. พบแพทย์

เพื่อตรวจประเมินความเสียหายของบาดแผล และพิจารณาว่า ควรปิดบาดแผลด้วยวิธีอย่างไร รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดยาป้องกันโรคด้วย

ขั้นตอนที่ 2: สังเกตลักษณะและอาการของสุนัข

หลังจากทำความสะอาดบาดแผลเบื้องต้นแล้วให้เฝ้าสังเกตลักษณะและอาการของสุนัขที่กัดว่า มีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ภายใน 10 วัน สุนัขที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้านั้นอาจมีอาการดุร้ายหรือเซื่องซึม แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการอ้าปากตลอดเวลา ลิ้นห้อย ลุก นั่ง และเดินวนไปมาบ่อยครั้ง ในกรณีที่ติดเชื้อขั้นรุนแรง สุนัขมักมีอาการอ่อนแรง และเดินโซเซก่อนที่จะเสียชีวิตลงในที่สุด

ผู้ถูกสุนัขกัดควรไปพบแพทย์ทันที และขอรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ หากสุนัขที่กัดถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าดังต่อไปนี้

  • สุนัขที่กัดเป็นสุนัขจรจัด
  • สุนัขที่กัดเป็นสุนัขบ้านที่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่วันที่กัด หรือภายใน 10 วันหลังจากวันที่กัด
  • สุนัขที่กัดยังไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ไม่ได้รับวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง
  • สุนัขที่กัดยังไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ผู้ที่ถูกกัดรู้สึกปวดแผลมาก และมีไข้ก่อนที่จะครบ 10 วัน
  • ถ้าสุนัขหายตัวไป ผู้ป่วย (ผู้ถูกกัด) จะต้องได้รับการฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • ถ้าสุนัขตายภายใน 10 วัน จะต้องนำหัวสุนัขที่ตายไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจดูว่า เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่

หากสุนัขที่กัดเป็นสุนัขบ้านที่ได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าหรือตายภายใน 10 วัน ผู้ที่ถูกกัดก็ไม่จำเป็นต้องขอรับวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้าก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมในขั้นตอนที่ 3)

ขั้นตอนที่ 3: รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า

วัคซีนที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วนคือ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถึงยังไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนก็จำเป็นต้องฉีดเพราะถูกสุนัขกัดไปแล้ว หรือบางคนอาจต้องการฉีดเพราะสงสัยว่าได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า จะแบ่งการฉีดเป็น 2 วิธี

1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะฉีดทั้งหมด 5 ครั้งที่กล้ามเนื้อต้นแขน ครั้งละ 0.5 หรือ 1 มิลลิลิตร เมื่อฉีดเข็มแรกแล้ว ระยะเวลาเข็มที่ 2 จะห่างจากเข็มแรก 3 วัน ส่วนเข็มต่อๆ ไปจะฉีดห่างจากเข็มแรก 7 14 และ 30 วันตามลำดับ

2. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง จะฉีดทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 2 จุดที่บริเวณต้นแขนซ้ายและขวา ครั้งละ 0.1 มิลลิลิตร เมื่อฉีดเข็มแรกแล้ว ระยะเวลาเข็มที่ 2 จะห่างจากเข็มแรก 3 วัน ส่วนเข็มต่อๆ ไปจะฉีดห่างจากเข็มแรก 7 และ 30 วัน

หากสุนัขที่กัดถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าตามที่กล่าวไว้ในขั้นตอนที่ 2 ผู้ป่วยควรขอรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที แต่ถ้าสุนัขที่กัดไม่มีการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยจะรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักเพียงอย่างเดียวก็ได้

ในกรณีที่ต้องรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ตามตารางนัดหมายทุกครั้ง เพื่อรับวัคซีนให้ครบถ้วน

มีหลายคนเชื่อว่า การติดเชื้อจากโรคพิษสุนัขบ้าสามารถลุกลามถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง นั่นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเพราะโรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกัน และหายได้ด้วยการฉีดวัคซีน รวมถึงการดูแลแผลตามคำแนะนำของแพทย์

แต่กรณีที่ต้องตัดอวัยวะทิ้งนั้นมักเป็นผลกระทบมาจากโรคร้ายแรงชนิดอื่น หรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกสุนัขกัดแต่อย่างใด

ดังนั้นทางที่ดีเราควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการป้องกัน และเพื่อความสบายใจต่อความเสี่ยงที่อาจถูกสุนัขกัด ที่สำคัญอีกอย่างคือ อย่าหลงเชื่อข่าวลือ หรือการบอกต่อเกี่ยวกับผลกระทบหลังถูกสุนัขกัด แต่ให้ทำตามคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น


เปรียบเทียบราคา แพ็กเกจฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

Scroll to Top