ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า อาการ วิธีรักษา

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า เป็นภาวะผิวหนังอักเสบระยะยาวที่เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด ภาวะนี้มักส่งผลต่อขาส่วนล่าง และพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดดำขอด

อาการของผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

เช่นเดียวกับโรคผื่นผิวหนังอักเสบประเภทอื่นๆ ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าจะทำให้ผิวหนังที่เป็นโรคมีอาการคัน แดง บวม แห้งแตก และมีสะเก็ดหยาบกร้าน โดยอาการของโรคมีทั้งช่วงที่ดีขึ้นและรุนแรงลงกว่าเดิม และอาจทำให้ขาบวมได้ โดยเฉพาะช่วงท้ายของวันหรือหลังจากยืนเป็นเวลานาน ทั้งยังทำให้เห็นเส้นเลือดดำขอดบนขาได้อย่างชัดเจน

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิวหนังคล้ำ ผิวหนังแดง กดเจ็บ เกร็งจนแข็ง (Lipodermatosclerosis) เกิดแผลเป็นสีขาวเล็กๆ เจ็บปวด และมีอาการผิวหนังอักเสบเกิดขึ้นที่ตำแหน่งอื่นบนร่างกาย ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้เป็นแผลที่ขาได้

สาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้ามักเกิดจากแรงดันที่เพิ่มขึ้นในเส้นเลือดดำที่ขา โดยภายในเส้นเลือดดำจะมีลิ้นที่ใช้สำหรับสูบฉีดเลือดให้ไหลไปในทิศทางเดียวตลอดเวลาและป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ แต่หากผนังเส้นเลือดดำยืดออกและเสียความยืดหยุ่นไปจนทำให้ลิ้นเส้นเลือดดำอ่อนแอและทำงานไม่ได้ตามปกติ เลือดภายในก็อาจไหลย้อนกลับได้

ภาวะข้างต้นจะส่งผลให้ความดันในเส้นเลือดดำเพิ่มขึ้นจนทำให้ของเหลวภายในรั่วไหลไปสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งแพทย์คาดกันว่าภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้านี้เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อของเหลวที่เนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของแรงดันในเส้นเลือดดำยังทำให้เลือดสะสมอยู่ภายในเส้นเลือดจนบวมและเบ่งออก กลายเป็นภาวะเส้นเลือดดำขอดได้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า?

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดผนังเส้นเลือดดำจึงยืดออกจนทำให้ลิ้นเส้นเลือดอ่อนแอลง โดยผู้ป่วยบางคนอาจเกิดภาวะเช่นนี้โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน แต่ก็คาดว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงนี้ ได้แก่

  • เพศ ภาวะเส้นเลือดดำขอดมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ภาวะอ้วน เป็นปัจจัยที่จะไปเพิ่มแรงดันของเส้นเลือดที่ขา
  • การตั้งครรภ์ สามารถเพิ่มแรงดันที่ขาได้เช่นเดียวกันกับภาวะอ้วน
  • การไม่ขยับขาเป็นเวลานาน ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิตในเส้นเลือดดำที่ขา
  • เคยเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (DVT) มาก่อน ซึ่งเป็นภาวะที่ลิ่มเลือดเกิดขึ้นภายในเส้นเลือดที่ขาจนสร้างความเสียหายให้กับลิ้นที่เส้นเลือดดำ
  • อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อคนเราแก่ตัวลง การขยับร่างกายก็ลำบากขึ้น จนอาจส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิตได้

การวินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

คุณควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการของผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า โดยแพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการสังเกตบริเวณที่มีอาการชัดเจนที่สุด รวมทั้งจะสอบถามเพื่อระบุปัญหาการไหลเวียนโลหิตที่ขา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัย แพทย์อาจต้องการทราบประวัติการรักษาของคุณว่าเคยมีภาวะใดต่อไปนี้หรือไม่

  • เส้นเลือดดำขอด เส้นเลือดบวมและขยายใหญ่ขึ้น
  • ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (DVT) ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดขา
  • แผลที่ผิวหนังหรือผิวหนังที่เสียหาย และใช้เวลาหลายอาทิตย์กว่าจะฟื้นตัว
  • ภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ และการติดเชื้อของผิวหนังชั้นในและเนื้อเยื่อ
  • การผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บที่ขา

แพทย์อาจตรวจชีพจรที่ขาและตรวจวัดดัชนีความดันเลือดเทียบหลอดเลือดแดงแขนขา (ABPI) เพื่อดูว่าสามารถใช้การรักษาด้วยถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อได้หรือไม่ โดยการทดสอบ ABPI จะเกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบค่าความดันโลหิตที่ได้จากข้อเท้าและแขนส่วนบน ความแตกต่างที่ได้มาจะช่วยบ่งชี้ถึงปัญหาของการไหลเวียนโลหิตในเส้นเลือดแดงของคุณ ซึ่งหากมีมากจะหมายความว่าคุณไม่เหมาะกับวิธีการรักษาด้วยการสวมถุงเท้าบีบรัดกล้ามเนื้อ

หลังจากนั้นคุณอาจถูกส่งไปพบผู้เชี่ยวชาญตามโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการทดสอบเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นแพทย์ด้านหลอดเลือดหรือแพทย์ด้านผิวหนังก็ได้ ในกรณีที่มีภาวะเส้นเลือดขอดและการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น มีผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า มีภาวะผิวหนังหนาตัวขึ้น หรือมีประวัติเคยมีแผลที่ขา เป็นต้น รวมถึงในกรณีที่การไหลเวียนโลหิตที่ขาต่ำ อาการไม่ดีขึ้นแม้จะรับการรักษามาแล้ว หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นภาวะผิวหนังแพ้สัมผัส

การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้ามีเป้าหมายเพื่อเยียวยาภาวะบนผิวหนังให้ดีขึ้น ซึ่งการรักษาอาการที่เกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดขึ้นตามไปด้วย โดยผู้ป่วยส่วนมากจะใช้การรักษาระยะยาวหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ การใช้ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ

สารเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง

สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ใช้กับผิวหนังจะช่วยลดอัตราการสูญเสียน้ำของผิวหนังลง และช่วยปกคลุมผิวราวกับเป็นแผ่นฟิล์มป้องกัน สารเหล่านี้สามารถใช้จัดการกับภาวะผิวแห้งแตกที่เกิดจากโรคผิวหนังอักเสบได้

การเลือกใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้น

สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่วางขายตามท้องตลาดมีอยู่มากมาย บ้างก็สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่หากคุณเป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า คุณควรเข้าปรึกษากับแพทย์เพื่อขอคำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับคุณจะดีที่สุด

คุณควรลองใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นหลายๆ ตัวและเลือกตัวที่ดีที่สุด หรือบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นแบบผสมกันไปก็ได้ เช่น ขี้ผึ้งสำหรับผิวแห้งมาก ครีมหรือโลชั่นสำหรับผิวแห้งน้อย สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่สามารถใช้แทนสบู่ได้ สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ใส่ลงอ่างอาบน้ำหรือใช้ขณะอาบน้ำได้

ทั้งนี้ขี้ผึ้งเป็นยาที่มีน้ำมันมากที่สุดจึงทำให้เหนอะหนะ แต่ก็เป็นตัวเลือกยาที่มีประสิทธิภาพคงความชุ่มชื้นแก่ผิวมากที่สุด โลชั่นมีน้ำมันน้อยและไม่เหนอะหนะ แต่ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก ส่วนครีมจะมีประสิทธิภาพและข้อด้อยกลางๆ ระหว่างสารทั้งสองนี้

วิธีใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้น

หากคุณเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า คุณควรใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน แม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม โดยใช้ในปริมาณมาก เพื่อให้สารคลุมผิวหนังขาส่วนล่างทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งที่ตาเห็น รวมทั้งบรรจงทาผิวในทิศทางเดียวกับไรขน ทาทุกๆ 2-3 ชั่วโมงหากมีผิวหนังแห้งมาก หากใช้หลังจากอาบน้ำ ให้ค่อยๆ ทำให้ผิวแห้ง แล้วลงสารเพิ่มความชุ่มชื้นทันทีในขณะที่ผิวกำลังชื้นอยู่ และห้ามใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นร่วมกับผู้อื่น

ผลข้างเคียงสารเพิ่มความชุ่มชื้น

สารเพิ่มความชุ่มชื้นมักไม่ก่อผลข้างเคียงใดๆ แต่หากมีก็มักจะเป็นผื่น และสารเพิ่มความชุ่มชื้นที่มีความเหนอะหนะอาจทำให้เกิดภาวะรูขุมขนอุดตัน (การอักเสบของรูขุมขน) หากพบผลข้างเคียงเหล่านี้ให้แจ้งแพทย์ทันทีเพื่อเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ ทั้งนี้สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ใส่ลงอ่างน้ำนั้นจะทำให้อ่างอาบน้ำลื่น จึงต้องระมัดระวังการเหยียบหรือสัมผัสอ่างอย่างมาก

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

หากผิวหนังอักเสบอย่างเฉียบพลัน แพทย์จะจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เพื่อลดการอักเสบอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้งคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ใช้ทาผิวหนังโดยตรง

ความแรงของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ที่แพทย์จ่ายให้จะแตกต่างตามความรุนแรงของอาการผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าของแต่ละคน โดยหากเป็นภาวะผิวหนังหนาตัวเฉียบพลัน คุณอาจได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ที่แรงเป็นพิเศษ

วิธีใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

ให้ทายาที่บริเวณที่มีอาการเท่านั้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับปริมาณและเวลาที่ควรใช้ และตรวจสอบวิธีใช้ที่ฉลากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่นั้นๆ หากไม่แน่ใจ

ทั้งนี้แพทย์มักให้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เพียง 1 ครั้งต่อวันเท่านั้น และขณะใช้ยาคุณควรใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังก่อน และรอเป็นเวลา 30 นาที เพื่อให้สารเพิ่มความชุ่มชื้นซึมเข้าสู่ผิวหนังคุณ ก่อนจะลงยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ และให้ใช้ยาเฉพาะบริเวณที่มีอาการเท่านั้น เป็นเวลา 7-14 วัน และใช้ต่อเนื่องเป็นเวลาอีก 48 ชั่วโมงหลังจากอาการเฉียบพลันหายไป

หากภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าของคุณมีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก คุณอาจต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ทั้งระหว่างช่วงที่เกิดอาการเฉียบพลันและระหว่างที่อาการคงที่แล้ว แต่หากคุณต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เป็นเวลานาน คุณควรใช้ยาให้ถี่น้อยลง โดยแพทย์จะกำหนดช่วงเวลาที่คุณควรใช้ยาให้คุณใหม่ และหากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นเลยควรปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียงของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่อาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนในช่วงสั้นๆ แต่ไม่รุนแรง โดยเฉพาะหากเป็นยาในรูปแบบของครีม อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ชนิดแรงเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น ผิวหนังบาง โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำความแรงของยาและเวลาที่คุณต้องใช้ยา

ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ

ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อเป็นถุงเท้าที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อบีบรัดส่วนขาและเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ถุงเท้าชนิดนี้จะทำให้รู้สึกแน่นที่ข้อเท้ามากที่สุด และจะค่อยๆ หลวมขึ้นเรื่อยๆ ที่บริเวณส่วนบนของขา เพื่อช่วยเร่งการสูบฉีดเลือดให้ไปถึงหัวใจดีขึ้นและลดแรงดันในเส้นเลือดลง

การเลือกใช้ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ

ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อชมีหลายขนาดและหลายแรงรัด ทั้งยังมีหลากหลายสี  หลายความยาวให้เลือกใช้ บ้างก็ยาวไปถึงเข่า บ้างก็อาจจะยาวถึงต้นขา ผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าควรใช้ถุงเท้าที่สูงระดับเข่าเท่านั้น และเลือกรูปร่างตามลักษณะเท้า

กางเกงหรือสายรัดถุงเท้าที่มีการรัดส่วนขาน้อยสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป ส่วนถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อนั้นจะต้องได้รับจากแพทย์ เพราะจะต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อทำการวัดขนาดก่อน และในบางกรณีผู้ป่วยอาจสวมถุงเท้าประเภทนี้ลำบาก ทำให้อาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีพันผ้ารัดแทน

การสวมถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ

แพทย์มักแนะนำให้คุณสวมถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อทันทีหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า และถอดออกเฉพาะก่อนเข้านอน เพราะว่าการสวมถุงเท้าประเภทนี้ตอนนอนมักจะทำให้ไม่สบายตัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศร้อน หากคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และสวมใส่ไว้ทั้งวันก็จะช่วยให้การรักษาได้ประสิทธิภาพดีมาก

คุณควรดึงถุงเท้าไปยังตำแหน่งหรือระดับที่บีบรัดส่วนขาอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ถุงเท้าไหลไปกองที่ข้อเท้า และไม่รัดถุงเท้าแน่นเกินไปด้วยสายเพิ่มความแน่นรอบขา หากถุงเท้าที่คุณใช้ก่อให้เกิดความไม่สบายตัว แสดงว่าถุงเท้านั้นมีขนาดไม่พอดี ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนไปใช้ถุงเท้าแบบที่สั่งตัดเป็นพิเศษแทน

ขณะทำการถอดถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อไม่ให้ผิวหนังที่บอบบางเสียหาย หากคุณมีแผลที่ขาอยู่ ควรรอให้แผลหายสนิทก่อนเริ่มการรักษาด้วยถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ

การดูแลถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ

ควรเปลี่ยนถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อทุก ๆ 3-6 เดือน และหากถุงเท้าเสียหายให้แจ้งแพทย์ทันที คุณควรจะได้รับถุงเท้ามา 2 ตัว หรือถุงเท้าสองชุดหากต้องใส่ทั้งสองข้าง เพื่อให้คุณสามารถใส่ตัวหนึ่งและทำความสะอาดอีกหนึ่งตัวรอเอาไว้ โดยควรซักถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อในน้ำอุ่นและซักด้วยมือ และทำให้แห้งด้วยการใช้ความร้อนโดยตรง

การรักษาภาวะเส้นเลือดดำขอด

หากคุณมีภาวะเส้นเลือดดำขอด แพทย์จะทำการรักษาภาวะนี้เพื่อเป็นการรักษาภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าไปในตัว โดยคุณอาจถูกส่งไปพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดเพื่อเข้ารับการอัลตราซาวด์ขาเพื่อหาหลอดเลือดที่เป็นปัญหา และเพื่อประกอบการวางแผนรักษาภาวะเส้นเลือดดำขอด

การรักษาภาวะเส้นเลือดดำขอดทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การทำลายเยื่อบุ โดยการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงหรือเลเซอร์ในการผนึกเส้นเลือดที่มีอาการ
  • การฉีดสารระคายเคืองหลอดเลือด ซึ่งเป็นการฉีดโฟมชนิดพิเศษเข้าไปปิดเส้นเลือด
  • การผ่าตัดเส้นเลือดขอด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเส้นเลือดที่ขอดออกหรือผูกเอาไว้

การดูแลตนเองเมื่อมีผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

หลักปฏิบัติต่อไปนี้จะช่วยลดอาการของผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้าได้ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่นขึ้นมาได้อีกด้วย

  • เลี่ยงการบาดเจ็บที่ผิวหนัง และการบาดเจ็บที่จะนำไปสู่การเกิดแผลที่ขา
  • ยกขาขึ้นให้สูงขณะพักผ่อน เช่น หนุนขาขึ้นด้วยหมอนขณะนอน เพื่อให้ขาอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม
  • ทำตัวให้กระฉับกระเฉงเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและช่วยทำให้ร่างกายมีสุขภาพและน้ำหนักดีอยู่เสมอ

ของเหลวสามารถลงไปสะสมอยู่ที่ขาได้หากคุณนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ดังนั้นคุณควรต้องขยับร่างกายให้มากที่สุด ซึ่งการเดินจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อได้ทำงานและดันเลือดให้ไหลไปตามเส้นเลือดสู่หัวใจ


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top