ซีสต์มีลักษณะเป็นถุงน้ำที่ภายในบรรจุด้วยของเหลว อากาศ หรือสารอื่นๆ โดยจะเกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง ซีสต์มีด้วยกันหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อไม่ร้ายและไม่กลายเป็นเนื้องอกมะเร็ง
สารบัญ
สาเหตุการเกิดซีสต์
ซีสต์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การติดเชื้อ
- โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- การอักเสบเรื้อรัง
- การอุดตันของท่อต่างๆ ในร่างกาย
ชนิดของซีสต์ และภาวะที่ทำให้เกิดซีสต์
ซีสต์แบ่งออกได้หลายร้อยชนิด สามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ของร่างกาย ในบางกรณีอาจพบว่าซีสต์เป็นส่วนหนึ่งของอาการในโรคอื่นๆ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ และถุงน้ำหลายถุงในไต โดยซีสต์ชนิดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- ซีสต์ชนิด Epidermoid (Epidermoid Cyst) : มีขนาดเล็ก โตช้า มักพบมากที่ใบหน้า ศีรษะ คอ หลัง หรือที่อวัยวะเพศ เกิดจากการสะสมเคอราติน (Keratin) ภายใต้ผิวหนัง ลักษณะจะเป็นก้อนสีเดียวกับผิวหนัง ภายในสะสมไปด้วยสารข้นหนืด
- ซีสต์ที่เต้านม (Breast Cyst) : ส่วนใหญ่แล้วก้อนในเต้านมมักไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าบริเวณเต้านมมีสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนที่เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีของเหลวไหลจากหัวนม หรือหัวนมบอด (ถ้าปกติแล้วหัวนมไม่ได้บอด) ก็ควรไปพบแพทย์ทันที
- ก้อนถุงน้ำที่มือและข้อมือ (Ganglion) : เป็นก้อนถุงน้ำลักษณะกลม มีของเหลวอยู่ภายใน มักเกิดขึ้นที่บริเวณเส้นเอ็นหรือข้อต่อ โดยเฉพาะที่มือ ข้อมือ ข้อเท้า และเท้า มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ หรือการใช้งานมากเกินไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ทราบสาเหตุ
- ซีสต์ที่บริเวณร่องก้น (Pilonidal Cyst) : เกิดขึ้นที่บริเวณเหนือร่องก้น มีลักษณะเป็นรูขนาดเล็กในผิวหนัง ซึ่งอาจมีการติดเชื้อและภายในบรรจุด้วยของเหลวหรือหนอง เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันคือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเจริญเติบโตของขน การเสียดสีจากเสื้อผ้า หรือการนั่งเป็นเวลานาน
- ถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cyst) : สามารถเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของรังไข่ อาจมีอาการปวดหรือไม่มีอาการใดๆ
- ก้อนที่เปลือกตา (Chalazion) : เป็นก้อนขนาดเล็ก บวม ไม่เจ็บ เกิดขึ้นที่เปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่างสาเหตุเกิดจากต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland) มีการอุดตัน ถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจทำให้มีอาการแดง บวม และปวด
- ถุงน้ำหลังหัวเข่า (Baker’s (Popliteal) Cyst) : ทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้อติด มีอาการปวด และการเคลื่อนไหวทำได้จำกัด สัมพันธ์กับปัญหาที่เกิดกับข้อเข่า เช่น ข้ออักเสบ (Arthritis) การอักเสบจากความเครียดที่กระทำกับเข่าซ้ำๆ หรือกระดูกอ่อนได้รับความเสียหาย
- สิวซีสต์ (Cystic Acne) : เป็นสิวชนิดที่รุนแรงที่สุด เป็นซีสต์ที่อยู่ใต้ผิวหนังชั้นลึก เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จากแบคทีเรีย จากไขมัน และจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งมีการอุดตันภายในรูขุมขน
- ซีสต์ขนคุด : เกิดจากการที่ขนเจริญเติบโตลงด้านล่าง หรือออกด้านข้าง แทนที่จะงอกออกมาด้านนอก ทำให้เกิดขนคุดขึ้น พบได้บ่อยในผู้ที่โกนขน แว็กซ์ หรือใช้วิธีอื่นในการกำจัดขน ลักษณะภายนอกคล้ายกับสิวใต้ผิวหนัง อาจมีสีแดง ขาว หรือสีเหลือง ซึ่งอาจมีขนที่มองเห็นอยู่ตรงกลางหรือไม่ก็ได้
- ซีสต์ของปุ่มรากผม (Pilar Cyst) : มีสีเนื้อ ลักษณะกลม เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง เกิดจากการสะสมของโปรตีนในปุ่มรากผม (Hair Follicle) ซีสต์ชนิดนี้มักไม่เจ็บ ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ และเติบโตช้า
- มิวคัสซีสต์ (Mucous Cyst) : เป็นซีสต์ที่ภายในบรรจุด้วยของเหลว เกิดขึ้นที่ริมฝีปากหรือภายในปาก เกิดจากต่อมน้ำลายมีการอุดตัน ทำให้มีการสะสมของเยื่อเมือกเกิดขึ้น ซีสต์ชนิดนี้มีขนาดเล็ก นิ่ม เป็นก้อนสีชมพู หรือสีฟ้า
- ถุงน้ำที่คอ (Branchial Cleft Cyst) : เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง โดยจะมีก้อนถุงน้ำเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของลำคอเด็กหรืออยู่ด้านล่างกระดูกไหปลาร้า ส่วนใหญ่แล้ว ถุงน้ำชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อ
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์เมื่อเป็นซีสต์
โดยทั่วไปซีสต์จะเจริญเติบโตช้าและมีผิวเรียบ มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่มาก ซีสต์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บปวด และมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ยกเว้นถ้ามีอาการต่อไปนี้ ก็ควรไปพบแพทย์
- มีการติดเชื้อ
- มีขนาดใหญ่มาก
- กดทับเส้นประสาทหรือหลอดเลือด
- โตขึ้นบนบริเวณที่มีความไวเป็นพิเศษ
- ซีสต์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย
แพทย์จะทำการตรวจซีสต์ให้ แม้จะไม่มีอาการปวดหรืออาการใดๆ ก็ตาม เพราะก้อนผิดปกติในร่างกายอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งได้ ซึ่งแพทย์อาจเจาะหรือตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมด้วย
การรักษาซีสต์
การรักษาซีสต์ สามารถทำได้สองวิธี ได้แก่
- การดูแลด้วยตนเอง : ในบางกรณี ซีสต์จะสามารถหายไปได้เอง การประคบอุ่นบนซีสต์จะช่วยให้หายเร็วขึ้นเพราะจะช่วยให้เกิดการระบายของเหลวออก แต่ไม่ควรบีบหรือทำให้ซีสต์แตกด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- การดูแลรักษาทางการแพทย์ : วิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาซีสต์ ได้แก่
- แพทย์จะใช้เข็มเจาะระบายของเหลวและสิ่งแปลกปลอมในซีสต์ออก
- แพทย์จะใช้ยาในการรักษา เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีด เพื่อลดอาการอักเสบของซีสต์
- แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาซีสต์ออก ซึ่งอาจใช้วิธีนี้หากการเจาะระบายของเหลวออกไม่ประสบความสำเร็จ หรือซีสต์อยู่ลึกมากและจำเป็นต้องรักษา
การป้องกันการเกิดซีสต์
มีซีสต์บางชนิดที่สามารถป้องกันได้ เช่น
- ซีสต์ที่รังไข่ : อาจป้องกันได้ด้วยการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
- ก้อนที่เปลือกตา : อาจป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาดเปลือกตาใกล้กับแนวขนตาด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนจะช่วยป้องกันการอุดตันของท่อไขมันบริเวณนั้น
- ซีสต์ที่บริเวณร่องก้น : อาจป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาดบริเวณร่องก้นให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง รวมถึงลุกขึ้นยืนบ่อยๆ อย่านั่งนานเกินไป
คำถามที่พบบ่อย
ซีสไขมันผิวหนัง ถ้าไม่รักษาโดยการผ่าตัด ซีสสามารถฝ่อหายไปเองได้มั้ยคะ หรือว่าต้องรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียวเท่านั้น?
ซิสต์ไขมันใต้ผิวหนังจะไม่สามารถฝ่อหายไปเองได้ครับ เพียงแต่ขนาดของก้อนมักจะไม่ค่อยใหญ่ขึ้นมากและมีโอกาสที่จะกลายไปเป็นมะเร็งได้น้อยจึงอาจปล่อยทิ้งไว้ได้ครับ
แต่ถ้าหากต้องการให้ก้อนหายไปก็ต้องผ่าตัดเอาก้อนออกครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
ซีสไขมันใต้ผิวหนัง โดยทั่วไป ไม่อันตราย จะผ่าตัด หรือไม่ก็ได้ค่ะ ยกเว้นว่า อยู่ในตำแหน่งที่อันตราย เช่น บริเวณคอที่กดการหายใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากซิสขนาดเล็กมากๆ อาจฝ่อหายไปได้เอง แต่หากขนาดใหญ่ อาจไม่หายเอง ต้องผ่าออก ซึ่งแม้ผ่าออก ก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้ ดังนั้น หากไม่ได้มีอาการผิดปกติ ก้อนไม่โตขึ้น และคนไข้ไม่ได้รู้สึกรบกวนชีวิตประจำวัน จะผ่า หรือไม่ผ่าก็ได้ค่ะ
ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์
ผ่าตัดซีสต์ไขมันที่หลังมา 4 สัปดาห์ แผลเย็บ 1 เข็ม ช่วง 3 สัปดาห์แรกแผลแห้งดี แต่พอสัปดาห์ที่ 4 เริ่มมีถุงน้ำนูนขึ้นและใหญ่ขึ้น รู้สึกเจ็บเมื่อทับ ลักษณะเป็นถุงใสคล้ายมีน้ำอยู่ ข้างใน ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นสีชมพูอ่อน คิดว่าเกิดจากการเสียดสีตอนนอนจนเป็นถุงน้ำพอง ใช่ไหมคะ?
การที่มีถุงน้ำพองขึ้นมาที่บริเวณแผลผ่าซิสต์นั้นอาจเกิดได้จากการที่แผลที่เย็บมีการปิดไม่สนิท มีการติดเชื้อ หรือมีซิสต์ที่กลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ครับ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะต้องมีการตรวจประเมินลักษณะของถุงน้ำที่เกิดขึ้นมาให้ชัดเจนก่อน
หมอแนะนำให้กลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมดูให้แน่ใจอีกครั้งก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไรเพื่อที่จะได้สามารถให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
มีก้อนกลมขนาดประมาณ 5 เซนติเมตรที่ขมับขวา อยู่มา 10 กว่าปีแล้ว แบบนี้อันตรายไหมคะ จำเป็นต้องผ่าตัดออกไหมคะ บางครั้งมีอาการปวดหัวด้านที่มีก้อนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ?
ก้อนที่ขมับมีลักษณะอย่างไรคะ เช่น นิ่มหรือแข็ง กลิ้งได้หรือไม่ มีผิวเรียบหรือขรุขระ รวมถึงมีอาการเจ็บ บวม แดง หรือร้อนหรือเปล่า ซึ่งก้อนที่พบบ่อยและมักไม่อันตรายคือ เนื้องอกไขมัน (lipoma) มักมีขนาดคงที่ นิ่มหรือแข็งเล็กน้อย กลิ้งได้ และไม่มีอาการอื่นนอกจากรู้สึกตึงหรือระคายเคืองเล็กน้อย ในกรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ยกเว้นเพื่อความสวยงาม
อย่างไรก็ตาม ก้อนที่พบอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น
- ซีสต์ไขมัน (sebaceous cyst)
- ก้อนเนื้อของหลอดเลือด (hemangioma)
- เนื้องอกของเส้นประสาท (neurofibroma)
- เนื้องอกของเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue tumors)
- หรืออาจเป็น ก้อนมะเร็ง ซึ่งมักโตเร็ว แข็ง ผิวขรุขระ เคลื่อนไม่ได้ และอาจมีสีผิวผิดปกติ
แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด และหากจำเป็น อาจต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัยค่ะ
ตอบโดย พญ. นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์
ที่มาของข้อมูล
- NHS, Ovarian cysts (https://www.nhs.uk/conditions/ovarian-cyst/).
- Charles Patrick Davis, MD, PhD, Cyst (https://www.medicinenet.com/cyst/article.htm).
- Cysts: Causes, types, and treatments. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/160821)