สิ่งที่ต้องรู้ก่อนผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ ผ่าตัดแล้วหายจริงไหม? พักฟื้นกี่วัน?

ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของใบหน้า พบบริเวณริมฝีปากและเพดานปาก เกิดขึ้นกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยพ่อแม่สามารถเช็กอาการของโรคได้ตั้งแต่อยู่ในช่วงตั้งแต่อัลตราซาวด์ เพราะโรคนี้สามารถรักษาหายด้วยการผ่าตัดปรับโครงสร้างหน้า

สารบัญ

โรคปากแหว่งเพดานโหว่คืออะไร?

ปากแหว่งเพดานโหว่ คือ โรคที่มีความผิดปกติบนโครงสร้างหน้า สังเกตจากมีการเปิดหรือปริแตกบริเวณริมฝีปากและเพดานปาก หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดปัญหาฟันสบกันและพูดไม่ชัด ซึ่งอาการของโรคปากแหว่งและเพดานโหว่ มีลักษณะความผิดปกติบนใบหน้าที่แตกต่างกัน

ความแตกต่างระหว่างปากแหว่งและเพดานโหว่
ความแตกต่างระหว่างปากแหว่ง และเพดานโหว่

ปากแหว่ง คืออะไร?

ปากแหว่ง คือ โรคที่แสดงอาการผิดปกติทางภายนอกของใบหน้าบริเวณริมฝีปากจนสังเกตได้ชัด โดยแต่ละคนอาจมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

  • รอยแยกบนริมฝีปากบนไปจนถึงเหงือก ทำให้ใบหน้าผิดปกติข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • รอยแยกบนริมฝีปากบนไปจนถึงจมูก ทำให้ใบหน้าผิดปกติข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • รอยแยกบนริมฝีปากเพียงเล็กน้อย

เพดานโหว่ คืออะไร?

เพดานโหว่ คือ โรคที่แสดงอาการผิดปกติภายในของใบหน้า สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • มีรอยโหว่ที่เพดานอ่อนในปากไปจนถึงเพดานแข็ง
  • โครงสร้างกระดูกใบหน้าส่วนกลางผิดปกติ
  • มีปัญหาฟันสบกันผิดปกติ
  • มีปัญหาการพูด พูดไม่ชัด พูดเสียงขึ้นจมูก

ปากแหว่งเพดานโหว่รักษาได้ไหม?

โรคปากแหว่งเพดานโหว่เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยควรได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกของอาการและรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากแต่ละช่วงวัยจะการเจริญเติบโตของใบหน้า ทำให้อาการของโรคมีความแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ จึงแตกต่างกันตามลักษณะโครงสร้างใบหน้า ซึ่งแพทย์จะใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขแต่ละจุดบนใบหน้าและบางกรณีอาจได้รับการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่คืออะไร?

การผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ คือการผ่าตัดแก้ไขโครสร้างใบหน้าและช่องปากให้เข้ารูปและสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ โดยแพทย์จะประเมินอาการของเด็กและเลือกวิธีการผ่าตัดแก้ไขที่เหมาะสม เช่น การผ่าตัดแก้ไขปากแหว่ง การผ่าตัดเพดานปาก การผ่าตัดเพื่อเสริมใบหน้าภายนอก เป็นต้น

ตำแหน่งในการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่
ตัวอย่างการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ควรทำตอนอายุเท่าไร?

ช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ อาจขึ้นอยู่กับสภาพช่องปากของเด็กแต่ละคนร่วมกับการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งช่วงอายุโดยประมาณของแต่ละเงื่อนไข อาจมีดังนี้

  • ผ่าตัดริมฝีปาก (Cheiloplasty) ผ่าตัดในช่วงอายุ 10 สัปดาห์
  • ผ่าตัดเพดานปาก (Palatoplasty) ผ่าตัดในช่วงอายุ 9-18 เดือน
  • ผ่าตัดคอหอย (Pharyngoplasty) ผ่าตัดในช่วงอายุ 3–5 ปี
  • ผ่าตัดปลูกกระดูก (Alveolar Cleft Bone Graft) ผ่าตัดในช่วงอายุ 9–6 ปี
  • ผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic surgery) ผ่าตัดในเพศหญิง ช่วงอายุ 14–16 ปีและเพศชายช่วงอายุ 16–18 ปี
  • ผ่าตัดแก้ไขจมูก (Septorhinoplasty) มักทำหลังผ่าตัดขากรรไกร

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่เหมาะกับใคร

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ เหมาะกับทารกที่มีปัญหาความผิดปกติบริเวณริมฝีปากและเพดานปาก ซึ่งสามารถเริ่มผ่าตัดในทารกได้ ตั้งแต่อายุ 3–6 เดือน เริ่มจากการผ่าตัดเย็บริมฝีปาก และหลังจากผ่าตัดจะมีการประเมินและรักษาตามอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่า อาการของโรคจะหาย

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ไม่เหมาะกับใคร

การผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ ไม่เหมาะกับคนกลุ่มนี้

  • ทารกที่มีโรคประจำตัว ต้องรักษาให้หายก่อน
  • คนเพิ่งมารักษาตอนโต เพราะว่าโครงหน้าเปลี่ยนรูปไปจากเดิม ถ้าแม้ว่าได้รับการผ่าตัดตอนโต แต่โครงหน้าไม่สามารถกลับเป็นปกติได้

ข้อดีของผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

ข้อดีของการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ มีดังนี้

  • แก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าได้เหมาะสม รักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ได้
  • แก้ไขปัญหาเรื่องฟันสบกัน
  • แก้ไขปัญหาการพูดให้กลับมาปกติได้
  • เด็กสามารถรับประทานอาการได้ปกติ โดยไม่สำลักอาหาร

ข้อเสียของผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

ข้อเสียของการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ มีดังนี้

  • งดนมและอาหารก่อนการผ่าตัด
  • อาจมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัด
  • อาจผ่าตัดรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ มากกว่า 1 ครั้ง
  • อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

ก่อนการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ แพทย์จะนัดสอบถามอาการของทารก และตรวจสุขภาพเบื้องต้น ก่อนจะนัดหมายให้มานอนโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1 วัน โดยผู้รับบริการจะต้องเตรียมตัว ดังนี้

  1. งดรับประทานยาแอสไพรินและยาไอบูโปรเฟน ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  2. ทำความสะอาดปากที่มีรอยปากแหว่ง เพดานโหว่ทุกครั้งหลังทานอาหาร ดื่มน้ำหรือนม
  3. งดน้ำ นม และอาหารอื่น ๆ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร
  4. หากริมฝีปากแห้ง ให้ใช้กลีเซอรีนทาริมฝีปาก
  5. ตรวจสุขภาพและตรวจเลือดเพื่อเช็กความพร้อมทารก
  6. หากมีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  7. ระหว่างรอผ่าตัด แพทย์จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดแทนอาหาร

ขั้นตอนการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

เมื่อตรวจสุขภาพและเช็กความพร้อมของทารกเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการผ่าตัดทารก โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. แพทย์จะให้ผู้ปกครองเข้าห้องผ่าตัดพร้อมทารก โดยต้องเปลี่ยนชุดปลอดเชื้อก่อน
  2. ให้ทารกสูดดมยาสลบผ่านหน้ากากหายใจ หรือฉีดยาสลบเข้าหลอดเลือดดำ
  3. แพทย์จะเริ่มผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ รักษาตามอาการที่พบ
  4. หลังผ่าตัดเสร็จ ทารกจะได้รับยาระงับความรู้สึกหรือยาชา เพื่อลดอาการบาดเจ็บจากแผล

การดูแลหลังผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่

หลังจากผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่เสร็จ ทารกอาจมีอาการเจ็บแผลหลังจากผ่าตัด จึงอาจต้องมีการดูแลที่ต่างจากเดิม ดังนี้

  1. งดดูดนม หรือน้ำหลังผ่าตัดจนกว่าแผลจะหายดี ให้ใช้หลอดหยอดแทน
  2. งดรับประทานอาหาร ขนมที่เคี้ยวยาก เช่น ซีเรียล คุ๊กกี้
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือของเหลวที่ร้อน
  4. ควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใสง่าย หลีกเลี่ยงสวมเสื้อจากบริเวณศีรษะ
  5. คอยดูแลไม่ให้เด็กนำของเล่นเข้าปาก
  6. ควรเลือกของเล่นชนิดนิ่ม (Soft Toy) แทน
  7. ทำการล้างมือก่อน-หลัง ดูแลเด็กทุกครั้ง
  8. ระวังให้เด็กแกะ เกาที่แผล
  9. ดูแลทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์
  10. มาพบแพทย์ตามนัดหมายอีกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษา

ผลลัพธ์ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่เป็นอย่างไร?

ผลลัพธ์จากการรักษา สามารถแก้ไขอาการโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ให้โครงสร้างใบหน้ากลับมาใกล้เคียงกับปกติได้ ทั้งนี้เรื่องแผลที่หายไวและความสวยงามของรอยผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของพ่อแม่ หากมีการดูแลหลังผ่าตัดอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ผลลัพธ์หลังผ่าจะออกมาใกล้เคียงกับโครงหน้าปกติ

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่พักฟื้นนานไหม?

หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จแล้ว หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่มีเลือดออกและรับประทานอาหารได้ปกติ ผู้รับบริการจะพักฟื้นหลังผ่าประมาณ 3–4 วัน แพทย์ถึงจะให้กลับบ้านได้ และจะนัดมาพบแพทย์เพื่อตัดไหมและติดตามผลอีกครั้งใน 1 สัปดาห์

ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ต้องทำซ้ำไหม?

ผู้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ จะต้องผ่าตัดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง โดยวิธีผ่าตัดจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของโรคของแต่ละวัยที่พบ นอกจากนี้ หากหลังผ่าตัดเสร็จพบว่าแผลมีการอักเสบหรือแผลที่เย็บแยกออกจากกัน จะต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง

โรคปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ ถ้าได้รับการแก้ไขและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเด็กอาจได้รับการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่มากกว่า 1 ครั้งเพื่อปรับโครงสร้างใบหน้าให้ใกล้เคียงปกติมากขึ้น หากพ่อแม่วางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ทารกสามารถใช้ ชีวิตได้ปกติในตอนโต

 

Scroll to Top