การสูญเสียฟันเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น ฟันผุจนจำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้นออก ฟันเสื่อมสภาพไปตามวัย หรือฟันหลุดจากอุบัติเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เมื่อเกิดช่องว่างระหว่างฟันแล้วจะต้องใส่ฟันปลอมเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเคลื่อน หรือล้มไปยังพื้นที่โล่งนั้น
อย่างไรก็ตาม การใส่ฟันปลอมโดยที่ไม่มีการฝังรากฟันเทียมรองรับ จะทำให้เมื่อบดเคี้ยวอาหารไม่มีสิ่งรองรับและกระจายแรงบดเคี้ยวนั้นจนส่งผลให้กระดูกบริเวณรอบๆ ที่ใส่ฟันปลอมละลาย ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว
สารบัญ
กระดูกสันเหงือกละลาย เกิดจากอะไรได้บ้าง?
นอกจากการใส่ฟันปลอมโดยไม่มีรากฟันเทียมรองรับแล้ว โรคปริทันต์อักเสบ นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้กระดูกสันเหงือกละลายได้
โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกสันเหงือก หากไม่รับการรักษาและมีอาการรุนแรง จะทำให้กระดูกสันเหงือกละลาย เกิดหนอง ฟันโยก เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยว จนต้องถอนออก
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาฟัน หรือปัญหาเหงือกขึ้น ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที เพราะโรคเหล่านี้ยิ่งปล่อยไว้ จะยิ่งทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ เพื่อลดการสูญเสียฟัน
รากฟันเทียมช่วยป้องกันกระดูกสันเหงือกละลายได้อย่างไร?
ในความเป็นจริงแล้ว การใส่รากฟันเทียมไม่ได้ช่วยป้องกันกระดูกสันเหงือกละลายได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยชะลอการละลายของกระดูกสันเหงือกได้มาก โดยการรองรับและกระจายแรงจากการบดเคี้ยว
นอกจากนี้รากฟันเทียมยังช่วยลดโอกาสในการสูญเสียฟันข้างเคียงได้อีกด้วย โดยการเป็นหลักยึดของฟันปลอม และช่วยรองรับแรงบดเคี้ยวจากฟันข้างเคียง
อย่างไรก็ตาม การออกแรงบดเคี้ยวระหว่างฟันธรรมชาติ และรากฟันเทียมจะมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้
- ฟันธรรมชาติ สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ด้วยแรงประมาณ 350-450 นิวตัน
- รากฟันเทียมรองรับครอบฟัน หรือสะพานฟัน สามารถออกแรงบดเคี้ยวได้ประมาณ 220-280 นิวตัน
- รากฟันเทียมรองรับฟันปลอมทั้งปาก ออกแรงบดเคี้ยวได้ประมาณ 50-65 นิวตัน
กระดูกสันเหงือกละลาย สามารถฝังรากฟันเทียมได้ไหม?
ทำได้ แต่ต้องทำการ “ปลูกกระดูก” ก่อน โดยทันตแพทย์จะผ่าตัดปลูกกระดูกเพื่อเสริมสันกระดูกให้แข็งแรง สามารถรองรับรากฟันเทียม และแรงจากการบดเคี้ยวก่อน
วัสดุที่ใช้ในการปลูกกระดูกนั้นมีหลากหลาย เช่น กระดูกบริเวณอื่นของผู้เข้ารับการฝังรากฟันเทียม หรือการใช้กระดูกเทียมสังเคราะห์ ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
อย่างไรก็ตาม ในรายที่ต้องเสริมสร้างกระดูกปริมาณมากอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการปลูก แต่ในกรณีที่ต้องเสริมกระดูกไม่มาก สามารถทำพร้อมกับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้เลย