ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการคลำ ทำแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ ต่างกันอย่างไร?

มะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่หญิงไทยเป็นกันมาก ผู้หญิงควรจะสังเกตหรือตรวจสอบตัวเองอย่างไร ถ้าไปหาหมอจะมีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบไหนบ้าง ควรตรวจตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ความถี่แค่ไหน เพื่อให้คุณได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านม หรือถึงเกิดโรคขึ้นแล้ว ก็จะได้รักษาตั้งแต่อาการยังไม่ลุกลาม เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

มีคำถามเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

4 วิธีตรวจมะเร็งเต้านม

การตรวจมะเร็งเต้านมมีอยู่ 4 วิธีหลักๆ ได้แก่ คลำด้วยมือด้วยตนเอง คลำด้วยมือโดยแพทย์ แมมโมแกรม และอัลตราซาวด์

1. คลำด้วยมือด้วยตนเอง (Self breast examination)

การสังเกตและคลำเต้านมด้วยมือ ด้วยตัวเอง เป็นการตรวจเต้านมที่สามารถทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการตรวจที่ซับซ้อน แต่มีข้อจำกัดคือจำเป็นต้องมีการฝึกฝน และตรวจพบรอยโรคที่ขนาดเล็กได้ยาก หรือบางครั้งลักษณะปกติของเต้านมบางอย่างอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นก้อนหรือเนื้องอกได้ ซึ่งเมื่อมีข้อสงสัยจากการตรวจ ควรทำการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจยืนยันอีกครั้ง

การคลำเต้านมด้วยตนเองเหมาะกับผู้หญิงทุกคน มีคำแนะนำว่าผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

2. คลำด้วยมือ โดยแพทย์ (Clinical breast examination)

การตรวจเต้านมโดยแพทย์ ประกอบด้วยการตรวจเต้านมในท่านอนและท่านั่ง รวมถึงการตรวจต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจโดยแพทย์ แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดสำหรับก้อนที่มีขนาดเล็ก หรืออยู่ในบริเวณส่วนลึกของเต้านม ที่อาจไม่สามารถตรวจได้จากภายนอก

ในผู้หญิงทุกคนที่มีความผิดปกติของเต้านม ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือในผู้หญิงทั่วไปที่มีอายุ 25-40 ปี มีคำแนะนำว่าควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ในปัจจุบันสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ได้ยกเลิกคำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยการคลำด้วยตนเองและคลำด้วยมือโดยแพทย์ออกไป เนื่องจากหลักฐานจากงานวิจัยไม่พบว่าการคัดกรองดังกล่าวจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้

อย่างไรก็ตาม ในสถาบันการแพทย์ชั้นนำหลายแห่ง และแพทย์ผู้ชำนาญการหลายท่าน ก็ยังคงแนะนำให้ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นการสร้างความคุ้นเคยในการตรวจเต้านมตนเอง และเพื่อการตื่นตัวในการเฝ้าระวังความผิดปกติต่างๆ ที่จะเกิดกับเต้านมคนเองได้เร็วขึ้น

3. แมมโมแกรมและดิจิทัลแมมโมแกรม

แมมโมแกรม (Mammography) คือภาพถ่ายทางรังสีของเต้านม ด้วยรังสีเอกซ์ (x-ray) ในปริมาณต่ำ

ประกอบด้วยการตรวจอย่างน้อย 2 ท่า คือการเอกซเรย์ในระนาบบน-ล่าง กับ ระนาบทะแยงซ้าย-ขวา มีข้อดีคือสามารถให้รายละเอียดภาพรวมของเต้านมทั้งหมดได้ดี ให้รายละเอียดลักษณะของหินปูน หรือผลึกแคลเซียมภายในเต้านมได้ดี สามารถเห็นลักษณะของเนื้องอกเต้านมได้ดีปานกลาง แต่มีข้อจำกัดคือ มีการใช้รังสี (แม้จะมีในระดับต่ำ แต่ก็อาจมีข้อจำกัดในการใช้ในเด็กและสตรีมีครรภ์) เนื้องอกบางประเภทอาจไม่เห็นความผิดปกติ หรือสังเกตเห็นได้ยากจากแมมโมแกรม และในผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะในผู้หญิงชาวเอเชียที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีมักจะมีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมที่สูง (extremely dense breast) ทำให้ไม่สามารถเห็นรอยโรคในบางลักษณะจากแมมโมแกรมได้

ส่วนดิจิทัลแมมโมแกรมนั้น คือ การถ่ายภาพเอกเรย์แมมโมแกรมด้วยการใช้ระบบดิจิทัล ซึ่งอาจทำร่วมกับระบบดิจิทัล 3 มิติ (tomosynthesis) หรือไม่ก็ได้ โดยสามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อเทียบกับการเอกซเรย์แมมโมแกรมแบบปกติ

4. อัลตราซาวด์

คือการตรวจโดยการใช้ภาพถ่ายจากคลื่นเสียงความถี่สูง สามารถให้รายละเอียดของเนื้องอก หรือถุงน้ำได้ดีกว่าแมมโมแกรม สามารถใช้ช่วยในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อหรือการผ่าตัดได้ เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ทำได้ทันที ไม่มีปริมาณรังสี

แต่มีข้อจำกัดคือ อัลตราซาวด์ไม่สามารถให้รายละเอียดของรอยโรคที่เป็นหินปูน หรือผลึกแคลเซียมได้ดีนัก และความแม่นยำของการตรวจขึ้นกับความชำนาญของรังสีแพทย์เป็นหลัก

ในปัจจุบัน เนื่องจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทั้งวิธีแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน จึงแนะนำให้ทำการตรวจทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ควบคู่กันเพื่อความแม่นยำสูงที่สุด

โดยมีข้อยกเว้นคือ ในสตรีมีครรภ์ หรือผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี หรือความหนาแน่นของเต้านมที่สูงมาก อาจพิจารณาตรวจเฉพาะอัลตราซาวด์เพียงอย่างเดียว

มีคำถามเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม มีอะไรบ้าง?

ไม่มีอาการใดอาการหนึ่งที่จะบ่งชี้ได้ว่าคุณเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน แต่มีอาการผิดปกติที่หากพบแล้วควรเฝ้าระวัง ได้แก่

  • คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้ บางก้อนอาจมีลักษณะโตเร็วหรือช้าแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดของเนื้องอก
  • มีสารคัดหลั่งผิดปกติออกทางหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีสารคัดหลั่งออกเอง โดยไม่ได้มีการบีบหรือการกระตุ้น ออกข้างเดียว หรือออกในตำแหน่งเดิมบริเวณหัวนม อาจมีลักษณะเป็นน้ำเหลืองหรือมีเลือดปนก็ได้
  • มีหัวนมหรือผิวหนังบริเวณเต้านมบุ๋มลง หรือมีลักษณะคล้ายผิวส้ม การพบผื่นหรือสะเก็ดแผลมีน้ำเหลืองเยิ้มคล้ายผิวหนังอักเสบบริเวณหัวนม อาจเกิดจากรอยโรคของระยะก่อนการเป็นมะเร็งในบริเวณหัวนมได้

สำหรับอาการเจ็บบริเวณเต้านม มักเป็นอาการหลักที่พบได้บ่อย และเป็นอาการนำที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รอยโรคที่มีอาการเจ็บนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง

อาการเจ็บของเต้านมมักเกิดจากรอยโรคที่ไม่อันตราย เช่น ถุงน้ำเต้านม (ซีสต์) หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติหรือไม่มั่นใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจให้ชัดเจน

ใครควรตรวจมะเร็งเต้านมบ้าง?

ไม่ต้องรอให้เกิดอาการผิดปกติขั้นรุนแรงก่อน แล้วจึงไปหาหมอ ผู้ที่มีอาการน่าสงสัยเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ก็เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคได้ ดังรายละเอียดดังนี้

  • ในผู้ที่มีความผิดปกติของเต้านมหรือรักแร้ทุกคน ไม่ว่าผู้ชาย หรือผู้หญิงควรได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากมะเร็งเต้านม
  • สำหรับผู้หญิงทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ตั้งแต่อายุ 40-45 ปี

กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่

  • ผู้ที่มีประวัติได้รับฮอร์โมนเพศหญิง หรือยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 5 ปี)
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับรังสีรักษาบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปี
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่หลายคนในครอบครัว หรือมีประวัติความผิดปกติทางพันธุกรรมของมะเร็งเต้านมในครอบครัว

ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ก้อนเนื้อแบบไหนที่คลำเจอแล้วควรรีบหาหมอ?

เนื่องจากไม่มีลักษณะใดๆ ของก้อนจากการตรวจที่สามารถที่จะแยกรอยโรคที่เป็นมะเร็งออกจากเนื้องอกธรรมดาได้ 100% การคลำพบก้อนที่เกิดขึ้นใหม่บริเวณเต้านมหรือรักแร้ทุกประเภท ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ รวมถึงก้อนที่มีอยู่เดิมแต่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีขนาดที่โตขึ้น ควรได้รับการตรวจยืนยันโดยแพทย์เช่นกัน

ควรเริ่มตรวจมะเร็งเต้านมเมื่ออายุเท่าไหร่ ตรวจถึงอายุเท่าไหร่?

รายละเอียดเบื้องต้นของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีอธิบายไว้ข้างต้นบ้างแล้ว ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับเหตุผลของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันก่อน

“การตรวจคัดกรอง” คือการตรวจเพื่อหารอยโรคตั้งแต่ “ก่อน” ที่จะมีอาการ โดยความมุ่งหวังคือหากเราตรวจพบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ น่าจะพบตั้งแต่ระยะของโรคน้อยๆ ซึ่งส่งผลไปสู่ผลการรักษาที่ดีขึ้น และอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งที่ลดลง

ดังนั้นแล้ว การตรวจคัดกรองจะได้ประโยชน์ในโรคที่มีความรุนแรงไม่สูงมากหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาได้ และหากรักษาในระยะแรกเริ่มได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว เป็นโรคที่มีวิธีการตรวจที่แม่นยำ สามารถหารอยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ที่มีอายุไม่สูงนักและมีสุขภาพดี มีอายุขัยที่ยืนยาว หากได้รับการรักษาโรคมะเร็งที่รวดเร็วมากขึ้น มะเร็งเต้านมก็จัดอยู่ในกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการตรวจทุกประเภทหรือผู้ป่วยทุกรายจะเหมาะสมที่จะเข้ารับตรวจคัดกรองเสมอไป

ในแง่ของชนิดการตรวจนั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือการคลำเต้านมโดยแพทย์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจคัดกรอง เนื่องจากพบว่าไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้

สำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมในการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยทั่วไป มีคำแนะนำที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 40-45 ปี โดยอาจพิจารณาตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมห่างขึ้นเป็นปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปีได้หากอายุมากกว่า 55 ปี และไม่พบความผิดปกติ ตราบใดที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง (โดยทั่วไปแนะนำให้ตรวจคัดกรองไปจนถึงช่วงอายุ 70-75 ปีแตกต่างกันไปตามแต่ละสมาคม)

สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ อาจพิจารณาการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมมะเร็งเต้านมนั้น อาจพิจารณาตรวจคัดกรองโดยเครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตั้งแต่อายุ 30 ปี ทั้งนี้ทั้งนั้น การตรวจคัดกรองโดยเครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นไม่ได้มีประโยชน์เหนือกว่าการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ในผู้ป่วยทุกราย ควรพิจารณาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นรายๆ ไป


เปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นแพ็กเกจตรวจมะเร็ง


บทความโดย นพ. ปัญญา ทวีปวรเดช แพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ อนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา แพทย์คลินิกเต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้า

มีคำถามเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ HDcare โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ พยาบาล HDcare