โรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Atrial Flutter: AFL) เป็นความผิดปกติของหัวใจซึ่งมีอัตราการเต้นเร็วกว่าปกติคือ 250-300 ครั้งต่อนาที โดยปกติหัวใจเมื่ออยู่ในภาวะหยุดนิ่ง ไม่ได้เคลื่อนไหวจะเต้นด้วยอัตรา 60-100 ครั้ง /นาที
โรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติทำให้หัวใจบีบตัวด้วยความเร็วมากกว่าปกติแต่สม่ำเสมอ ซึ่งไม่เหมือน atrial fibrillation (afib) ซึ่งเป็นความผิดปกติของการเต้นหัวใจที่พบบ่อยที่สุด
สารบัญ
สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
โดยปกติแล้ว หัวใจจะมีกลุ่มเซลล์สร้างคลื่นไฟฟ้าจากหัวใจห้องขวาบน (Sinoatrial node: SA node) ส่งมากระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนทั้งสองห้อง เพื่อให้เกิดการบีบตัวสูบฉีดเลือดลงมายังหัวใจห้องล่าง
คลื่นไฟฟ้าจะกระตุ้นให้เกิดตัวกำเนิดคลื่นไฟฟ้าซึ่งอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและล่าง (Atrioventricular node: AV node) นำคลื่นไฟฟ้าต่อไปยังหัวใจห้องขวาล่างเพื่อสูบฉีดเลือดไปฟอกที่ปอด ส่วนหัวใจห้องซ้ายล่างจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักปกติอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที แต่หากเกิดความผิดปกติของการกำเนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้งสองอย่างมารวมกัน รวมทั้งอาจเกิดจากภาวะสุขภาพทางกายที่ส่งผลต่อสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจก็ได้
สาเหตุเหล่านี้จะทำให้การส่งสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจจะหยุดและมีการส่งซ้ำ ๆ อยู่ภายในหัวใจห้องขวาบน ทำให้หัวใจห้องขวาบนมีการบีบตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณ 300 ครั้งต่อนาที
แม้ AV node จะไม่สามารถตอบสนองต่อความเร็วดังกล่าวได้ แต่มีคลื่นไฟฟ้าราวครึ่งหนึ่งจากหัวใจห้องบนที่สามารถเดินทางเข้าสู่หัวใจห้องล่างได้ ทำให้หัวใจห้องล่างสามารถบีบตัวได้ด้วยอัตราสูงถึง 150 ครั้งต่อนาที
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
คุณอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หากมีภาวะต่อไปนี้
- หัวใจวาย
- โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- โรคปอด รวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง
- ความดันโลหิตสูง
- เคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน หรือเคยมีหัวใจวายเฉียบพลัน
- โรคของต่อมไทรอยด์
- เบาหวาน
- ติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อาการของโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
โรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติอาจทำให้มีอาการต่อไปนี้ ได้แก่
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
- หายใจตื้น
- มึนหัว เวียนหัว
- เป็นลม
- อ่อนเพลีย
- ความดันโลหิตต่ำ
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่มีอาการของโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเลยก็ได้
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถึงแม้ว่า หัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติแต่ก็ไม่ได้บีบตัวได้อย่างสมบูรณ์ หัวใจห้องบนไม่สามารถส่งเลือดทั้งหมดเข้าสู่หัวใจห้องล่างได้ เลือดจึงเคลื่อนที่อย่างช้าๆ ภายในหัวใจ และอาจคั่งอยู่ภายใน ทำให้เกิดลิ่มเลือดตามมาได้
ความอันตรายของลิ่มเลือดเหล่านี้คือ มันสามารถเดินทางไปยังสมองทำให้เกิดเส้นเลือดสมองอุดตัน หรือหากเดินทางไปที่แขน ขา ก็อาจทำให้เส้นเลือดแดงหลักของแขนและขาอุดตันได้
นอกจากนี้ในผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติยังพบว่า หัวใจห้องล่างจะไม่มีเลือดเต็มทั้งหมด และอาจไม่ได้สูบฉีดเลือดออกไปได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดหัวใจวายตามมา
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
อาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติสามารถวินิจฉัยได้ดังนี้
- ประวัติส่วนตัว
- ประวัติครอบครัว
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
หากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่า มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (คลื่นไฟฟ้ามีลักษณะแบบ sawtooth) แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจ Echo เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจและหาลิ่มเลือด
การรักษาโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
การรักษาอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติจะเน้นที่การชะลอการเต้นของหัวใจ ลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดสมองอุดตัน และเปลี่ยนคลื่นไฟฟ้าให้กลับเป็นปกติ สำหรับวิธีการรักษามีหลายรูปแบบดังนี้
- การใช้ยา มีตั้งแต่การใช้กลุ่มยาคลายเครียด กลุ่มยาที่สามารถช่วยชะลอการเต้นของหัวใจ และกลุ่มยาที่สามารถช่วยการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
- การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุโดยการใช้สายสวนพิเศษ (Radiofrequency Catheter Ablation)
- การฝังเครื่องมือพิเศษเพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจ
- การผ่าตัดแก้ไขภาวะไฟฟ้าลัดวงจร
การจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ สภาพร่างกายของผู้ป่วย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (ถ้ามี) และดุลยพินิจของแพทย์
การดูแลและป้องกัน
นอกจากนี้ในผู้ที่อายุน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจ มีความเป็นไปได้ว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับภาวะอื่นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เช่น ภาวะซีด โรคเลือด ไทรอยด์เป็นพิษ
คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติแต่อาจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารให้หลากหลาย ได้สารอาหารครบ 5 หมู่
- รับประทานกลุ่มอาหารที่ดีต่อหัวใจและหลอดเลือด เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ถั่วเปลือกแข็ง มะเขือเทศ ผักใบเขียว อาหารไขมันต่ำ ไขมันไม่อิ่มตัว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของมันของทอด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดการสูบบุหรี่
- ผ่อนคลายความเครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
หากสามารถดูแลตนเองได้อย่างนี้และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ โอกาสที่สุขภาพร่างกายและหัวใจจะแข็งแรง ห่างไกลจากโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติก็อยู่ข้างหน้านี่เอง