การรักษาภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด scaled

การรักษาภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด

หู นอกจากจะเป็นอวัยวะรับเสียงแล้ว ยังมีหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่เดินทางมาพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะแบบที่รู้สึกว่าบ้านหมุนประมาณ 30% ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหินปูในหูชั้นในเคลื่อน

ในบรรดาการรักษาโรคหินปูในหูชั้นในเคลื่อนทางการแพทย์แผนปัจจุบันหลายวิธี การทำกายภาพบำบัดเป็นที่ยอมรับว่าให้ผลการรักษาดีที่สุดวิธีหนึ่ง และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงหลักการ ขั้นตอนการรักษา และข้อห้ามข้อควรระวังสำหรับการเข้ารับการรักษาภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนคืออะไร มีอาการอย่างไร?

ในหูชั้นในมีโครงสร้างที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวลักษณะเป็นท่อสั้นๆ อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ท่อรูปเกือกม้า(Semicircular canal) ท่อแซคคูล (Saccule) และท่อยูตริเคิล (Utricle)

ภายในท่อยูตริเคลิจะมีหินปูนชิ้นเล็กๆ (Otoconia) บรรจุอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้รับรู้การเคลื่อนไหวของตำแหน่งศีรษะ เมื่อหินปูนนี้หลุดเข้าไปในท่อรูปเกือกม้า และมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะกระตุ้นให้มีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน รู้สึกเหมือนอยู่ในเรือที่โคลงเคลงตลอดเวลา เสียการทรงตัวโดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น การลุกจากที่นอน การก้มมองที่ต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้อาจจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย เรียกว่าภาวะนี้ว่าตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) สาเหตุของการเคลื่อนของหินปูนนี้มีด้วยกันหลายข้อตั้งแต่การเสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ หรือท่าทางในชีวิตประจำวันที่ต้องก้มๆ เงยๆ เป็นต้น

ข้อสำคัญคืออาการครั้งแรกจะรุนแรงที่สุด จากนั้นจะดีขึ้นเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวศีรษะ สามารถพบได้กับหูทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน หรือได้ยินเสียงที่ผิดปกติในหูร่วมด้วย

หลักการทางกายภาพบำบัดช่วยรักษาภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนได้อย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ป่วยในที่มีภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมีจำนวนมาก และนักกายภาพบำบัดก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยได้มีการพัฒนาศาสตร์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว (Vestibular rehabilitation) ขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การตรวจร่างกายเพื่อยืนยันตำแหน่งที่หินปูนหลุดเข้าไปรบกวน ก่อนจะให้การรักษาด้วยการเคลื่อนไหวศีรษะและลำคอในทิศทางที่คาดหวังว่าแรงโน้มถ่วงของโลกจะช่วยเคลื่อนหินปูนกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิมที่เหมาะสม

นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดยังอาจออกแบบการออกกำลังกายด้วยการให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะ ลำคอ หรือการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วเพื่อล้มตัวลงนอนบนเบาะนุ่มๆ หรือที่นอนที่บ้านด้วยตนเองให้เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงแต่ละคน

การตรวจร่างกายทางกายภาพบำบัดเบื้องต้นเพื่อยืนยันภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การตรวจร่างกายมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยให้นักกายภาพบำบัดระบุตำแหน่งที่หินปูนน่าจะเคลื่อนไปรบกวนอยู่ได้ เมื่อทราบตำแหน่งก็จะทำให้ออกแบบการรักษาที่เหมาะสมได้ และในผู้ป่วยบางราย หลังรับการรักษาเพียง 1-2 ครั้งก็อาจจะหายสนิททันที

การทดสอบที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักกายภาพบำบัดได้แก่ การให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนอย่างรวดเร็วในท่าตะแคงศีรษะ และห้อยศีรษะเล็กน้อย (Dix-Hallpike maneuver) ซึ่งอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศีรษะได้

นักกายภาพบำบัดจะทำการสังเกตรายละเอียดต่างๆ ของการกระตุกของลูกตา (Nystagmus) ไม่ว่าจะเป็นระยะก่อนที่จะมีการกระตุกของลูกตา (Latency of onset) ระยะเวลารวมของการกระตุกของลูกตา และรูปแบบการกระตุกของลูกตา ก่อนจะทำการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดอาจจะขอให้ผู้ป่วยจ้องมองวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่งไปด้วย ซึ่งการกระตุกของลูกตาจะต้องไม่น้อยลง การทดสอบต้องทำ 2 ข้างเพื่อตรวจสอบหาหูข้างที่มีปัญหาให้ถูกต้อง

ผลข้างเคียงจากการทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

ขณะนักกายภาพบำบัดทำการตรวจร่างกายหรือให้การรักษา ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเวียนหัว บ้านหมุน รู้สึกคลื่นไส้ หรือมีอาเจียนได้ ทั้งนี้นักกายภาพบำบัดที่เป็นผู้ให้การรักษาจะประเมินอาการและความรุนแรง ว่าควรให้การรักษาต่อไปหรือหยุดการรักษาเมื่อมีอาการ ดังนั้นขณะเข้ารับการบริการทางกายภาพบำบัด หากรู้สึกผิดปกติควรรีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าการรักษาทางกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากหายขาดจากอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือสูญเสียการทรงตัวได้ แต่ก็ยังมีข้อห้ามให้การรักษาแบบเด็ดขาด (Absolute contraindications) เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ เช่นในผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้

  • กระดูกต้นคอเสื่อม (Cervical spondylosis)
  • กระดูกต้นคอเคลื่อน (Cervical dislocation)
  • จอประสาทตาหลุด (Retinal detachment)
  • จอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration: AMD)
  • โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease)

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะมาก รู้สึกบ้านหมุนตลอดเวลา คลื่นไส้อย่างรุนแรงก็ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักกายภาพบำบัดขณะทำการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูภาวะหินปูนในหูในหูเคลื่อน

ท่าออกกำลังกายที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านสำหรับผู้ที่ภาวะหินปูนในหูในหูเคลื่อน

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหินปูนในหูในหูเคลื่อน การรักษาที่เป็นที่ยอมรับว่าได้ผลดีในหมู่นักกายภาพบำบัดคือ การออกกำลังกายเพื่อคืนตำแหน่งของหินปูนในหูชั้นใน (Canalith repositioning therapy) ตามวิธีของ Sement และ Epley จะเลือกใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับตำแหล่งที่หลุดปูนหลุดเข้าไป ซึ่งควรมีนักกายภาพบำบัดดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนวิธีการกระตุ้นให้สมองทำหน้าชดเชยการทำงานของหูชั้นในที่มีปัญหา และช่วยลดอาการบ้านหมุน (Cawthrone vestibular exercise) ตามวิธีของ Brandt และ Daroff ซึ่งวิธีนี้นักกายภาพบำบัดมักจะนิยมให้คนไข้กลับไปทำเองที่บ้านด้วย มีขั้นตอนที่ทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. นั่งห้อยขาข้างเตียง หลังตรง
  2. เอียงศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หันมองไปทางเพดาน 45 องศา
  3. ล้มตัวลงนอนไปทางด้านตรงข้ามกับที่หัน นอนนิ่งค้างในท่านั้นประมาณ 30 วินาที (การออกกำลังกายนี้อาจจะกระตุ้นให้มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนเล็กน้อย หากมีอาการมากจนทนไม่ไหวให้นอนราบ และหยุดทำทันที)
  4. ลุกขึ้นมานั่งท่าเดิมช้าๆ และทำซ้ำโดยเปลี่ยนไปด้านตรงข้าม

ข้อ 1- 4 นับเป็น 1 รอบ ควรทำประมาณ 5 รอบต่อครั้ง สามารถทำได้วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จนกว่าจะหายดี ที่สำคัญคือ ก่อนออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อนว่ามีภาวะหินปูนในหูในหูเคลื่อน ในระยะแรกที่มีอาการเวียนศีรษะรุนแรงยังไม่ควรออกำลังกายด้วยวิธีนี้ 1-2 วันแรกควรนอนนิ่งๆ และรับประทานยาลดอาการเวียนศีรษะตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนจนสามารถเริ่มออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย

สามารถเข้ารับบริการรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ที่ภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนได้ที่ไหนบ้าง ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่?

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้ป่วยที่มีภาวะหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนจะมีจำนวนมาก และการกายภาพบำบัดเป็นวิธีการสำคัญที่สามารถแก้ไขอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ แต่สถานบริการทางกายภาพบำบัดที่สามารถให้บริการด้านนี้ในประเทศไทยมีน้อยมาก เนื่องด้วยเป็นศาสตร์ที่ยังใหม่มากในประเทศไทย และต้องอาศัยความชำนาญของนักกายภาพบำบัดที่ต้องได้รับการฝึกฝนจนชำนาญอย่างพิเศษ นักกายภาพบำบัดทั่วไปไม่สามารถทำได้ ในสถานพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ อาจจะมีให้บริการด้านนี้ แต่ราคาอาจจะสูงถึงครั้งละ 1,500-2,000 บาท ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนสถานพยาบาลของรัฐนั้นยังมีน้อย ก่อนเดินทางไปเข้ารับการรักษาจริงควรสอบถามข้อมูลให้แน่ชัดก่อน


เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล

Scroll to Top