หนึ่งในยาหยอดตาที่จักษุแพทย์สั่งจ่ายมากที่สุดคือ “น้ำตาเทียม” เพราะปัญหาจากตาแห้งเป็นหนึ่งในปัญหาที่นำคนไข้มาปรึกษาจักษุแพทย์และบุคลากรด้านจักษุวิทยาบ่อยที่สุด ปัจจุบันถือว่าตาแห้งเป็นโรคชนิดหนึ่ง โรคตาแห้งเกิดจากหลายเหตุปัจจัย พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเป็นสัดส่วน 3:1
สารบัญ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคตาแห้งที่พบบ่อย
- อายุที่มากขึ้น สิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ
- ภาวะต่อมมัยโบเมียน (Meibomian) อยู่ที่เปลือกตามีหน้าที่ผลิตชั้นไขมันเคลือบตาทำงานผิดปกติ หรือเป็นโรคต้อเนื้อ
- โรคบางอย่าง เช่น ภูมิต้านทานผิดปกติ (Autoimmune diseases) เบาหวาน ไทรอยด์ โรคทางจิตเวช
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดประเภท NSAID ยาภูมิแพ้กลุ่มแอนติฮิสตามีน (Antihistamine) ยารักษาสิวกลุ่มไอโซเตรตินอยน์ (Isotretinoin) BOTOX และยาหยอดตา เช่น ยารักษาต้อหิน
- พฤติกรรมการใช้สายตา เช่น ใช้คอมพิวเตอร์หรือจอต่างๆ มาก ใส่คอนแทคเลนส์
- การผ่าตัดรักษาสายตา การผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดหนังตา
- การใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบตามากๆ เป็นประจำ การสักขอบตา
ไม่จำเป็นว่าคนไข้โรคตาแห้งทุกคนต้องมีน้ำตาน้อยผิดปกติ คนไข้ตาแห้งบางคนมีปริมาณน้ำตาปกติ แต่คุณภาพของน้ำตาขาดความเสถียร ระเหยเร็วเกินไป ปัญหานี้พบบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ทำงานออฟฟิศ และใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นเวลานาน
ส่งผลให้การกะพริบตาลดน้อยลง น้ำตาที่ขาดความเสถียรนี้เคลือบตาอยู่เพียงเวลาสั้นๆ ก็แตกตัวระเหยหายไป แต่ตากะพริบน้อยครั้ง ผิวตาจึงขาดน้ำตาชุดใหม่หมุนเวียนมาเคลือบ เซลล์ผิวตาจากเรียบลื่นจึงกลายเป็นแห้งและขรุขระ
แสงที่ผ่านผิวกระจกตาที่ไม่เรียบนี้จึงเกิดการกระเจิงแสง ภาพที่เห็นจึงซ้อนๆพร่าๆ มีอาการแสบเคืองตาเหมือนมีเศษผงติด เหนื่อยตา ล้าตา หนักตา เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การทำงาน และสุขภาพจิตใจ
น้ำตาเทียม สิ่งหนึ่งช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง
เพราะเหตุปัจจัยของตาแห้งในคนไข้แต่ละคนแตกต่างกันจึงไม่มีสูตรตายตัวในการรักษา แต่ไม่ว่าคนไข้จะมีปัญหาหรืออาการมากน้อยเพียงใด การรักษาหลักอันดับแรกยังคงเป็นการเพิ่มเติมน้ำตาที่ผิดปกติด้วยน้ำตาเทียม
หน้าที่ของน้ำตาเทียมมีดังนี้
- ให้ความชุ่มชื้น หล่อลื่นผิวหน้าของดวงตา ลดการเสียดสีของเยื่อบุตาด้านในที่ถูกับผิวกระจกตาและผิวหน้าดวงตาส่วนอื่น ทำให้สบายตา ลดอาการหนักๆ ฝืดๆ ที่ผิวตา
- ทำให้น้ำตามีความเสถียร ชะลอการแตกตัวและระเหย ผิวกระจกตาที่เป็นทางผ่านของแสงเข้าสู่ตาจึงเรียบลดการกระเจิงแสง ทำให้โฟกัสภาพได้คมและชัดเจน
- ช่วยลดสารอักเสบบริเวณผิวหน้าของดวงตา โดยการเจือจางสารอักเสบที่ผิวหน้าดวงตา ลดความเข้มข้นของสารในน้ำตา กระบวนการอักเสบจึงลดลง ป้องกันมิให้อาการตาแห้งรุนแรงขึ้น ทั้งยังช่วยเร่งให้ผิวกระจกตาที่เป็นจุดหรือรอยถลอกหายเร็วขึ้นด้วย
องค์ประกอบสำคัญของน้ำตาเทียม มี 5 ส่วน ได้แก่ สารให้ความชุ่มชื้น เกลือแร่ สารให้ความเข้มข้น สารปรับความเป็นกรดด่าง สารกันเสีย และอาจมีสารอื่นๆ เพิ่มเติมเป็นสูตรลับไม่เป็นที่เปิดเผยของแต่ละบริษัทผู้ผลิตเพื่อความสบายตาเป็นพิเศษ
รายละเอียดของส่วนประกอบในน้ำตาเทียมที่สำคัญ มีดังนี้
- สารให้ความชุ่มชื้น เป็นส่วนประกอบหลัก สารกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการหล่อลื่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา ทั้งยังเป็นส่วนที่มีความหนืด ช่วยให้หยดน้ำตาเทียมเกาะตัวอยู่บนผิวตาได้นานขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ในแง่บรรเทาอาการตาแห้ง
อย่างไรก็ตาม หากน้ำตาเทียมมีความหนืดมาก ส่วนที่เคลือบบนผิวตาจะหนามาก ส่งผลให้คนไข้มีอาการตาพร่ามัวชั่วคราวหลังหยอดยา หรือเกิดมีคราบแห้งๆ ติดที่เปลือกตาและขนตาหลังหยอดได้ แต่ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
น้ำตาเทียมแต่ละยี่ห้อมีสารให้ความชุ่มชื้น 1 ชนิดหรือมากกว่า บางยี่ห้อมีทั้งชนิดมีสารกันเสียและไร้สารกันเสีย ตัวอย่างน้ำตาเทียมที่มีในประเทศไทย แยกตามประเภทสารให้ความชุ่มชื้นและสารหนืดดังต่อไปนี้- สาร HPMC
- สาร CMC
- สารให้ความชุ่มชื้น 3 ชนิด CMC + glycerin+polysorbate
- สาร Polyols + HP-guar มีความหนืดน้อยแต่เกาะผิวตาได้ดี
- สาร Polyvinyl alcohol (PVA)
- สาร Hyaluronic acid สารนี้เป็นสารที่พบในธรรมชาติ มีคุณสมบัติอุ้มน้ำและเกาะยึดผิวตาได้นาน และยังกระตุ้นให้แผลที่ตารวมถึงแผลหลังผ่าตัดหายเร็วขึ้นด้วย
- สารประเภท Carbomer เป็นรูป gel เกาะติดตาได้นาน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ หรือใช้เวลากลางคืนก่อนนอนในคนที่ตาปิดไม่สนิท หรือมีอาการตาแห้งมากจนลืมตายากตอนตื่นนอน
- สารประเภท Oil-based emulsion มีลักษณะเป็นน้ำผสมน้ำมัน ช่วยลดการระเหยของน้ำตา ป้องกันผิวหน้าดวงตาจากการรบกวนได้ดี ใช้ในผู้ที่มีอาการตาแห้งปานกลางถึงมาก มี 2 รูปแบบ ได้แก่
- รูปแบบสารละลาย
- รูปแบบขี้ผึ้ง เหมาะสำหรับใช้กลางคืน
- สารกันเสีย (Preservatives) หรือบางคนเรียกว่า สารกันบูด คือสารที่เติมเข้าไปในยาหยอดตาต่างๆ รวมทั้งน้ำตาเทียมแบบขวดซึ่งเมื่อเปิดใช้แล้วใช้ได้หลายๆครั้ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมา และยับยั้งการเกิดการเสื่อมของตัวยาหลัก แต่หากเป็นน้ำตาเทียมแบบหลอดเล็ก (Single dose) จะไม่มีการผสมสารกันเสียเข้าไป
สิ่งที่ควรระวังคือ การใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียวันละหลายๆ ครั้ง แทนที่จะได้ประโยชน์จากสารให้ความชุ่มชื้น อาจก่อให้เกิดปัญหากับผิวดวงตาจากตัวสารกันเสีย อาจทำให้การอักเสบที่ผิวตาเพิ่มมากขึ้นได้ ปัจจุบันน้ำตาเทียมบางแบรนด์เปลี่ยนมาใช้สารกันเสียชนิดที่สลายตัวเมื่อสัมผัสผิวดวงตาก็ช่วยลดผลข้างเคียงไปได้บ้าง - สารอื่นๆ น้ำตาเทียมที่เป็นที่นิยม ยี่ห้อต่างๆ จากญี่ปุ่น ที่นอกจากกล่องจะสวยงามน่ารักน่าใช้แล้ว ยังใส่สารอื่นๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ได้แก่
- สารหดเส้นเลือด ได้แก่ สารเตตระไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline) หรือเนฟาโซลีน (Naphazoline) ในคนที่ตาแห้ง หรือคนที่ใส่คอนแทคเลนส์นานจนผิวตาขาดออกซิเจน บริเวณตาขาวจะดูแดงเรื่อ เพราะเส้นเลือดฝอยที่เยื่อบุตาขยายตัว การหยอดน้ำตาเทียมที่มีสารหดเส้นเลือดเหล่านี้จะช่วยให้ตาหายแดงได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามน้ำตาเทียมที่ผสมสารหดเส้นเลือดนี้เหมาะสำหรับใช้ชั่วคราวเท่านั้น เช่น กำลังจะต้องออกงานสำคัญ ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำเพราะอาจเกิดการดื้อยา ตาจะกลับแดงและแห้งมากกว่าเดิมได้
- ยาประเภทแก้แพ้ ลดอาการระคายเคือง เช่น แอนติฮิสตามีน (Antihistamine)
- วิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบี 6 (Vitamin B6) ทอรีน (Taurine) เชื่อว่าช่วยให้หายจากอาการล้าตาได้
เอกลักษณ์ที่ทำให้น้ำตาเทียมจากญี่ปุ่นเป็นที่กล่าวขวัญถึงคือ ใส่สารที่ช่วยให้มีความเย็นสบายตา โดยมีตัวเลขระบุระดับความเย็นตั้งแต่ระดับ 1-10 เข้าใจว่าความเย็นนั้นจะช่วยบรรเทาอาการแสบเคืองจากการอักเสบและตาแห้ง ให้รู้สึกเย็นสบายตา หรือกระตุ้นให้หายง่วงจากการทำงานได้โดยเร็ว แต่มีข้อควรระวังว่า สารที่ให้ความเย็นมากเกินไปอาจทำให้แสบตามากกว่าเดิม
รูปแบบของน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมมีรูปแบบดังนี้
- แบบน้ำสำหรับหยอดตา
- แบบขี้ผึ้งหรือเจลสำหรับป้ายตา
โดยทั่วไปแนะนำใช้น้ำตาเทียมแบบน้ำใส ใช้ในเวลากลางวัน เพราะตาจะได้ไม่มัว แบบน้ำที่มีความหนืดสูง แบบขี้ผึ้งหรือเจลควรใช้เวลากลางคืนก่อนนอน
คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำตาเทียม แบ่งตามภาชนะบรรจุ
- น้ำตาเทียมแบบขวดยาหยอดตา (Multiple dose container) ขนาดบรรจุ 3-15 cc. มีสารกันเสียบรรจุอยู่ หลังจากเปิดขวดใช้ครั้งแรก มีอายุการใช้งาน 1 เดือน เวลาใช้ต้องระวังมิให้ปากขวดสัมผัสสิ่งอื่น เช่น นิ้วมือหรือขนตา เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งน้อยถึงปานกลาง ใช้น้ำตาเทียมวันละไม่เกิน 4 ครั้ง ข้อดีคือราคาไม่แพง ข้อเสียคืออาจเกิดอาการแพ้ ระคายเคืองตาจากสารกันเสียระคายเคืองเยื่อบุตา
- น้ำตาเทียมแบบหลอดขนาดเล็ก (Single dose container) ขนาดบรรจุ 0.3-0.9 cc. ไม่มีสารกันเสีย (Preservative-free) ชื่อว่า Single dose ก็จริง แต่ไม่ถึงกับต้องใช้หยดเดียวแล้วทิ้งเลย เพราะจะสิ้นเปลืองมาก แนะนำว่าหลังจากเปิดฝามีอายุการใช้งานเพียง 24 ชั่วโมง จะใช้หมดหลอดหรือไม่ก็ต้องทิ้งไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งปานกลางถึงมาก ต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ ใช้คอนแทคเลนส์ หรือจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาที่มีสารกันเสียร่วมด้วย
ข้อดีคือ ลดปัญหาจากสารกันเสีย พกง่าย ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่าแบบขวดเมื่อคิดในปริมาณที่เท่ากัน
จากประสบการณ์ คนไข้ตาแห้งจำนวนมากคาดหวังต้องการให้จักษุแพทย์สั่ง “น้ำตาเทียมยี่ห้อที่ดีที่สุด ใช้ยี่ห้อเดียวพอไม่ต้องเปลี่ยน หยอดแล้วตาไม่มัว สบายตาที่สุด ไม่ต้องต้องหยอดบ่อย” ซึ่งความคาดหวังนี้เป็นไปได้ยากยิ่งสำหรับธรรมชาติของโรคตาแห้ง
ความจริงก็คือ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ว่า น้ำตาเทียมที่มีสารประกอบชนิดใดมีคุณสมบัติดีที่สุดหรือเหมาะสำหรับคนไข้ตาแห้งทุกรูปแบบ น้ำตาเทียมที่เคยหยอดแล้วดี สบายตา วันหนึ่งอาจหยอดแล้วไม่สบายตาอีกต่อไปก็ได้ เพราะสภาพตาคนเราย่อมมีการเปลี่ยนแปลง
ระหว่างการรักษาอาจต้องเปลี่ยนชนิดน้ำตาเทียม ปรับความถี่ในการหยอด เพิ่มยาประเภทอื่น หรือเสริมด้วยรักษาด้วยวิธีอื่นก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น
ปัจจุบันน้ำตาเทียมหาซื้อได้ง่ายและสะดวกจนแทบจะกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว หากต้องใช้สายตากับหน้าจอเป็นเวลานาน ควรใช้น้ำตาเทียมช่วยบำรุงสุขภาพผิวตา
แต่หากคุณเกิดปัญหาจากตาแห้งแล้ว หรือมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นระยะ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับน้ำตาเทียมและวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี