ระบบการทรงตัว (Balance system) เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมาก เนื่องจากหากไม่สามารถทรงตัว ก็ได้จะไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เลย ระบบการทรงตัวเป็นระบบการทำงานร่วมกันของอวัยวะต่างๆ ที่ซับซ้อน หากเข้าใจระบบการทรงตัวอย่างดี ก็จะทำให้ป้องกันการเกิดปัญหาการทรงตัวได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
สารบัญ
ระบบการทรงตัวของร่างกายเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ระบบการทรงตัวของร่างกายเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของ 3 ระบบรับความรู้สึกสำคัญ ได้แก่
- ระบบการมองเห็น (Visual system)
- ระบบการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ (Proprioception system)
- ระบบการรับรู้ตำแหน่งของร่างกายภายในหู (Vestibular system)
การทำงานที่สมดุลกันของระบบทั้งสาม ร่วมกับระบบประสาทส่วนกลางและระบบบกระดูกและกล้ามเนื้อ มีผลอย่างมากต่อการทรงตัว โดยสมองจะรับรู้ตำแหน่งของร่างกายผ่านระบบรับความรู้สึกทั้งสามข้างต้น จากนั้นกล้ามเนื้อของร่างกายก็จะตอบสนอง เช่น หดเกร็งหรือยืดยาวออก เพื่อให้ทรงท่าได้ เกิดเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งในขณะที่ยืนเฉยๆ นั่ง เดิน วิ่ง
สามารถกล่าวได้ว่า ระบบการทรงตัวของร่างกายเป็นระบบที่ทำงานตลอดเวลา โดยที่มนุษย์รู้สึกตัวเลย
อธิบายอย่างละเอียด คือ ทั้งระบบการมองเห็น ระบบการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ ระบบการรับรู้ตำแหน่งของร่างกายภายในหู จะทำหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งไปยังสมอง ขั้นแรก ดวงตาทำหน้าที่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ตำแหน่งของร่างกาย และสิ่งกีดขวางโดยรอบ
จากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งของศีรษะและร่างกาย ส่วนหูชั้นใน (Inner ear) ซึ่งมีท่อรูปเกือกม้า 3 ท่อ (Semicircular canals) และท่อขดก้นหอย (Cochlea) ภายในบรรจุขนขนาดเล็ก (Cilia) และของเหลว ก็จะส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและสมดุล (Movement and equilibrium) ของร่างกายและศีรษะเมื่อเทียบกับบริเวณโดยรอบ ไปยังระบบระบบประสาทส่วนกลาง
ตัวรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อต่างๆ ในร่างกายจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของข้อต่อกับสมองส่วนกลาง จากนั้นสมองจะแปลผลและหาวิธีตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น การปรับตำแหน่งของลำตัวให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือการเคลื่อนไหวเพื่อให้ร่างกายทรงท่าได้ต่อไป
สมองส่วนใดบ้างที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว?
สมองส่วนที่เป็นศูนย์กลางควบคุมการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ และการทรงตัว คือ สมองส่วนท้าย (Hindbrain) บริเวณที่มีชื่อว่า ซีรีเบลลัม (Cerebellum)
ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอลล์ปริมาณมาก แอลกอฮอลล์จะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมองส่วนนี้ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ไม่เต็มที่ จับต้องวัตุได้ไม่แม่นยำและรวดเร็วเหมือนในภาวะปกติ ทรงตัวไม่ได้ หรือเดินเซ
หู และการได้ยิน มีผลต่อการทรงตัวหรือไม่?
ถึงแม้ในหูชั้นในจะมีอวัยวะที่ทำหน้าสำคัญในการรับรู้ตำแหน่งของศีรษะและร่างกาย ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อระบบการทรงตัว แต่ระบบการได้ยินและระบบการทรงตัวนั้นทำงานแยกจากกัน
ระบบการได้ยินซึ่งประกอบไปด้วยเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane) และกระดูกขนาดเล็กทั้ง 3 ชิ้นได้แก่ ค้อน(Malleus) ทั่ง (Incus) โกลน (Stapes) จะวางตัวอยู่ในหูชั้นกลาง (Middle ear) ในขณะที่อวัยวัที่เกี่ยวข้องกับกับการทรงตัวจะวางตัวอยู่ในหูชั้นใน
จึงจะสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะไม่ได้มีปัญหาด้านการทรงไปตัวด้วยนั่นเอง
ความเสื่อมของระบบการทรงตัวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดยทั่วไปการเสื่อมของระบบการทรงตัวค่อยๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น การมองเห็นเริ่มมีปัญหา ข้อต่อเริ่มเสื่อม ปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการส่งตัวด้วย
ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาการทรงตัวได้ เช่น ผู้ที่เอ็นข้อเท้าฉีกและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้ข้อท้ามีความมั่นคงลดลง ผู้ที่มีหินปูนในหูชั้นในเคลื่อออกไปจากตำแหน่งที่ผิดปกติ (benign paroxysmal positional vertigo: BPPV) หรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ สมองได้รับการกระทบกระเทือน ทำให้เนื้อสมองส่วนที่รับความรู้สึก สั่งการการเคลื่อนไหว หรือศูนย์กลางประสานการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายมีปัญหา ก็จะทำให้มีปัญหาด้านการทรงตัวได้
การสังเกตความเสื่อมของการทรงตัวเบื้องต้นทำได้อย่างไรบ้าง?
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โดยทั่วไปความเสื่อมของระบบการทรงตัวมักจะมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น ดังนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดคือผู้สูงอายุ
วิธีการสังเกตความเสื่อมของการทรงตัวง่ายๆ คือ ผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาการทรงตัวจะเดินช้าลง ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ขณะเดินจะคอยหาราว หรือเครื่องเรือนเพื่อยึดขณะเดิน มีอาการเดินเซหรือเดินช้ามากเมื่อต้องเดินบนผิวที่ขรุขระหรือขึ้นลงบันได
มีรายงานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัวมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มสูงจำนวนมากนั้น หกล้มแล้วไม่สามารถกลับมาเดินได้อีกเลย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง (Bed ridden) และจำนวนมากเสียชีวิตลงในเวลาอันสั้นด้วยโรคแทรกซ้อนหลังจากไม่สามารถเดินได้ เช่น แผลกดทับ ปอดติดเชื้อ
การป้องกันที่ดีที่สุดคือการสังเกตปัญหาการทรงตัวแต่เนิ่นๆ และพาผู้สูงอายุไปพบนักกายภาพบำบัดทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม รวมถึงได้ฝึกการทรงตัวด้วยวิธีการต่างๆ ลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม หรือหากเกิดปัญหาแล้ว การบำบัดก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถกลับมาดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
ในการนี้ บุคคลใกล้ชิดถือว่ามีส่วนอย่างมากที่จะให้การช่วยเหลือ เนื่องจากตัวผู้สูงอายุบางคนอาจไม่ให้ความสำคัญกับการทรงตัวที่เสื่อมลงมากนัก นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทรงตัวเป็นประจำ ก็เป็นอีกแนวทางที่มีประโยชน์อย่างมาก
เขียน/ตรวจสอบความถูกต้องโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล