เมื่อพูดถึง “โรคเอดส์” หลายคนมักจะนึกถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สุดน่ากลัว เพราะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย อาการแสดงน่ากลัว เช่น ออกดอกตามตัว ดังนั้นหากรู้ว่า ใครเป็นโรคเอดส์ก็มักจะรีบตีตัวออกห่าง ไม่อยากเข้าใกล้ แยกสิ่งของเครื่องใช้ อาหารออกมาเพื่อป้องกันการติดโรค แล้วความหมายของโรคเอดส์จริงๆ เป็นอย่างไร มาดูพร้อมๆ กัน
สารบัญ
ความหมายของโรคเอดส์
โรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) หมายถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนเดิม และทำให้เกิดโรคเอดส์ขึ้น
เชื้อไวรัสเอชไอวีที่สามารถติดต่อกันได้ 3 ทาง ได้แก่
- ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (Heterosexual) ทั้งจากคู่รักหญิงชาย หรือกลุ่ม LGBTQ
- ผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ผ่านการติดเชื้อจากมารดาที่ตั้งครรภ์ และเป็นโรคเอดส์
ความแตกต่างระหว่างโรคเอดส์กับการติดเชื้อไวรัส HIV
ยังมีความสับสนระหว่างโรคเอดส์กับการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอยู่ เพราะทั้งสองอย่างอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนกัน และการเกิดของโรคเอดส์ก็ยังสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีด้วย
ความแตกต่างของทั้ง 2 โรคนี้ก็คือ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นการติดเชื้อโรคชนิดหนึ่งผ่านการติดต่อ 3 ช่องทางที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ยังไม่ใช่โรคเอดส์
เนื่องจากโรคเอดส์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีทำลายจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคใดๆ ได้อีกต่อไป จึงเกิดเป็นโรคเอดส์ขึ้น ดังนั้นโรคเอดส์จึงเรียกได้ว่า “เป็นภาวะหนึ่งในระหว่างการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีก็ได้”
นอกจากโรคเอดส์แล้ว ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีก็สามารถเจ็บป่วยเป็นโรคอื่นได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย โดยโรคเหล่านี้เราจะเรียกว่า “โรคฉวยโอกาส” หรือ “โรคแทรกซ้อน” ซึ่งหมายถึง โรคที่เกิดขึ้นระหว่างภูมิคุ้มร่างกายอ่อนแอ เช่น
- วัณโรค
- โรคปอดอักเสบ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคมะเร็ง
ดังนั้นระยะของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีกับระยะของการเป็นโรคเอดส์แล้วจึงไม่ใช่ระยะเดียวกัน เพราะระยะเริ่มต้นของการเป็นโรคเอดส์คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงเพียงพอจะต่อสู้กับเชื้อโรคอีกแล้ว
โดยปกติโรคเอดส์มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ยอมเข้ารับการรักษาภายใน 5-7 ปี หลังจากติดเชื้อแล้ว
ระยะแรกของการเป็นโรคเอดส์
ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะเข้าสู่ระยะเป็นโรคเอดส์เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญของร่างกายอยู่ในปริมาณต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อไมโครลิตร
อาการแรกเมื่อเริ่มเป็นโรคเอดส์ในผู้ป่วยผู้หญิงกับผู้ชายจะไม่แตกต่างกัน โดยระยะแรกของโรคเอดส์เรียกได้อีกอย่างคือ ระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี (Third Stage)
อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เริ่มจะเป็นโรคเอดส์มีดังต่อไปนี้
- มีอาการทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า
- รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง
- ปวดเจ็บกล้ามเนื้อ
- เหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- มีไข้สูงเกิน 38 องศามากกว่า 1 เดือน
- ปวดศีรษะเรื้อรัง
- หายใจลำบาก
- เจ็บคอ
- ติดเชื้อในปาก ลำคอ หรืออวัยวะเพศ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- ท้องเสียเรื้อรัง
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างไม่ทราบที่มา
- มีตุ่มสีม่วง สีแดง หรือสีชมพูขึ้นตามตัว
- มีจุดห้อเลือด หรือมีอาการเลือดออกตามร่างกาย
- เจ็บอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
บางครั้งการไปพบแพทย์ด้วยปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะเพศ หรืออาจสัมพันธ์กับโรคทางเพศสัมพันธ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเปิดเผย หรืออยากให้ใครรับรู้
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดีๆ เข้ามาช่วยแล้ว โดยเฉพาะการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (วีดีโอคอล) เพื่อรับคำปรึกษาเบื้องต้นก่อน โดยที่ยังไม่ต้องเดินทางไปพบคุณหมอจริงๆ นั่นเอง อีกทั้งบริการที่ว่านี้ ยังอาจช่วยบรรเทาปัญหาของคุณให้เบาบางลงได้
วิธีรักษาโรคเอดส์ระยะแรก
การรักษาโรคเอดส์ในระยะแรกจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ฟื้นฟูให้ภูมิคุ้มกันร่างกายกลับมาแข็งแรงอีกครั้งด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์
- รักษาโรคฉวยโอกาสที่เป็นอยู่ในระหว่างติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค สาเหตุของโรค และความรุนแรงของโรค
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเอดส์บางรายหากยังมีภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงอยู่บ้างก็อาจไม่มีโรคฉวยโอกาสเกิดขึ้น การรักษาจึงทำเฉพาะในส่วนของการฟื้นฟูภูมิคุ้มกันร่างกายเท่านั้น
โดยปกติผู้ป่วยที่รับประทานยาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ รวมกับรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเป็นประจำ จะมีความแข็งแรงเป็นปกติเทียบเท่ากับคนทั่วไป
การรักษาด้วยยาจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีออกไปได้หมดหรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาด้วยวิธีใดที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีหายไปได้หมดจากร่างกาย ตัวยารักษาโรคเอดส์ที่ให้ผู้ป่วยรับประทานในปัจจุบันเป็นยาที่ช่วยกดเชื้อให้สงบอยู่ในร่างกายเท่านั้น
ผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาโรคเอดส์อย่างต่อเนื่องอาจไม่ตรวจพบเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดอีก แต่เชื้อก็ยังซ่อนอยู่ในร่างกาย โดยมักซ่อนอยู่ในบริเวณเนื้อเยื่อ หรือต่อมน้ำเหลือง
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อไวรัสเอชไอวี คุณควรรู้จักวิธีป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม เช่น ไม่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศทั้งในคู่รักชายหญิงและคู่รัก LGBTQ
สวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์
ปัจจุบันปริมาณผู้ป่วยโรคเอดส์ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อหยุดการลุกลามของเชื้อไวรัสไว้แต่เนิ่นๆ
หากพบว่า ตนเองมีความเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด เพราะหากเข้ารับการรักษาช้าเกินไป เชื้อไวรัสอาจลุกลามจนกลายเป็นโรคเอดส์ และส่งผลทำให้เกิดโรคฉวยโอกาสร้ายแรงต่างๆ ตามมาในภายหลัง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย