เชื่อว่า หลายคนต้องเผชิญกับปัญหาอาการแพ้อาหารบางชนิด จนต้องระมัดระวังอย่างมากในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ โดยอาหารที่มักเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้แก่ อาหารทะเล นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง รวมถึงถั่วเหลืองด้วย
สารบัญ
ความหมายของอาการแพ้ถั่วเหลือง
อาการแพ้ถั่วเหลือง (Soy Allergy) คือ อาการของโรคภูมิแพ้อาหารโดยผู้ป่วยจะมีอาการแพ้เกี่ยวกับอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง มักพบในกลุ่มผู้ป่วยวัยทารก และเด็กเล็ก
ถั่วเหลืองจัดเป็นหนึ่งในพืชตระกูลถั่วซึ่งเป็นชนิดของอาหารที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ได้เป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มผู้ป่วยภูมิแพ้อาหาร
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า หากมีอาการแพ้ถั่วเหลืองแล้วจะมีอาการแพ้ถั่วชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะอาการแพ้อาหารของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป บางรายแพ้ถั่วชนิดเดียว บางรายก็อาจแพ้ถั่วทุกชนิด
ถั่วเหลืองจัดเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารเกือบทุกชนิด รวมถึงเครื่องปรุงรสต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ดังนั้นผู้ป่วยภูมิแพ้ถั่วเหลืองจึงต้องสังเกตส่วนผสมของอาหาร สอบถามวัตถุดิบปรุงอาหารกับร้านอาหารก่อนสั่งซื้อ รวมถึงรู้จักอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารให้เป็นว่า มีส่วนผสมของถั่วเหลืองหรือไม่
ตัวอย่างอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง
- เต้าหู้
- เต้าเจี้ยว
- เนื้อเทียม
- มิโซะ
- ซอสโชยุ
- ซอสปรุงรสถั่วเหลือง
- ผลิตภัณฑ์โปรตีนเสริมที่มีถั่วเหลือง
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
- นมถั่วเหลือง
- โยเกิร์ต
- ไอศกรีม
- เต้าฮวย
นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหาร หรือขนมหวานบางชนิดที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองด้วยเช่นกัน แต่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย และไม่ได้สังเกตจนเผลอรับประทานเข้าไปจนมีอาการแพ้ถั่วเหลือง เช่น เบเกอรี อาหารเช้าซีเรียล โปรตีนแท่ง ขนมปังแครกเกอร์ อาหารกระป๋อง
อาการแพ้ถั่วเหลือง
อาการแพ้ถั่วเหลืองจะมีลักษณะคล้ายกับอาการแพ้อาหารชนิดอื่นๆ ได้แก่
- วิงเวียนศีรษะ
- หายใจไม่ออก
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปากบวม ลิ้นบวม หรือบวมทั้งใบหน้า
- ปวดท้องหายใจไม่ออก
- ท้องเสีย
- มีผื่นลมพิษขึ้นตามผิวหนัง
อาการแพ้ถั่วเหลืองอาจรุนแรงได้ถึงขั้นเป็นอาการ “ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylactic shock)” ซึ่งเป็นอาการที่ร้ายแรงมาก หากไม่รีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ก็อาจเสียชีวิตได้ โดยอาการหลักๆ จะได้แก่
- รู้สึกมึนงง
- หายใจมีเสียงวี๊ด
- แน่นหน้าอก
- อุจจาระราด หรือปัสสาวะราด
- ผื่นลมพิษขึ้นทั้งตัว
- ความดันโลหิตต่ำลง
- ชัก
- หมดสติ
- ช็อก
วิธีรักษาอาการแพ้ถั่วเหลือง
วิธีปฐมพยาบาลหากผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงคือ การฉีดยาอะดรีนาลิน (Adrenaline) หรือยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ซึ่งเป็นยารักษาภาวะแพ้อย่างรุนแรงเพื่อพยุงอาการ จากนั้นให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ส่วนวิธีรักษาอาการแพ้ถั่วเหลืองที่ไม่รุนแรง จะรักษาโดยให้รับประทานยาแก้แพ้ เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) รวมถึงอาจรับประทานยาตัวอื่นๆ เพิ่มเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ยาลดน้ำมูก ยารักษาโรคหอบ ในกรณีผู้ป่วยเป็นหอบหืด หรือหายใจไม่ทัน
วิธีป้องกันอาการแพ้ถั่วเหลือง
วิธีป้องกันอาการแพ้ถั่วเหลือง รวมถึงอาหารชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วเหลือง และอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองทุกชนิด
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำต่อไปนี้
- อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารทุกครั้งที่ซื้อ และต้องระมัดระวังผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดที่ไม่ได้บอกส่วนประกอบการปรุงอาหารอย่างละเอียดด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการปรุงรสชาติ
- ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วเหลืองรุนแรงมากๆ ต้องระมัดระวังไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ภาชนะที่ใส่อาหาร รวมถึงน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารไม่ให้มีการปนเปื้อนถั่วเหลือง
- เด็กที่มีอาการแพ้ถั่วเหลืองยังควรมีป้ายติดอกเสื้อ หรือสวมสายรัดข้อมือที่บอกรายละเอียดอาการแพ้อาหารเอาไว้ให้ทางโรงเรียนรู้ จะได้ช่วยดูแลไม่ให้เด็กเผลอรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองเข้าไป รวมถึงควรให้เด็กพกยาอีพิเนฟรินติดตัวไว้เป็นยาฉุกเฉินด้วย
- ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยแพ้ถั่วเหลืองควรรู้จักวิธีฉีด หรือใช้ยาอีพิเนฟริน เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองขึ้น
- หากไม่แน่ใจว่าตนเองแพ้ถั่วเหลืองหรือไม่ คุณสามารถไปรับการทดสอบโรคภูมิแพ้ที่โรงพยาบาลได้ โดยมักเป็นการทดสอบทางผิวหนังโดยการสะกิด (Skin prick test) แพทย์จะหยดน้ำยาที่มีสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังผู้ป่วย จากนั้นจะรอผลว่า ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาแพ้เกิดขึ้นหรือไม่ หลังจากผลการตรวจภูมิแพ้ออกมาแล้ว คุณจะสามารถป้องกันตนเองจากอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ดียิ่งขึ้น
อาการแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้กับอาหารทุกชนิดและอาจเป็นอันตรายได้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเคยมีอาการแพ้อาหารชนิดใดก็อย่าประมาทในการรับประทานอาหารทุกมื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองเผลอรับอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้เข้าไป
นอกจากนี้หากสงสัยว่า ตนเองมีความเสี่ยงจะแพ้อาหารชนิดใด ก็ควรไปรับการทดสอบภูมิแพ้ที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ไว้ก่อน เพียงเท่านี้คุณก็จะมีความสุขกับการรับประทานอาหารทุกมื้ออย่างปลอดภัย ไร้กังวลเรื่องอาการแพ้อาหารได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี