การวิ่ง เป็นหนึ่งในการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) ที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ เพียงสวมรองเท้าวิ่งแล้วออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะ หรือบนลู่วิ่ง สัปดาห์ละ 75-150 นาที ก็ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว
การวิ่งอย่างปลอดภัยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ผู้วิ่งจะต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป อบอุ่นร่างกาย (Warm up) ก่อนวิ่ง และคูลดาวน์ (Cool Down) ร่างกายหลังวิ่งเสมอ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะสมเพราะจะช่วยลดการบาดเจ็บที่หัวเข่าและข้อเท้าได้เป็นอย่างดี
สารบัญ
รองเท้าวิ่ง สำคัญอย่างไร?
การวิ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อเท้า ข้อเท้า และหัวเข่าเป็นอย่างมาก เพื่อความปลอดภัยจึงควรเลือกใส่รองเท้าวิ่งแทนรองเท้าผ้าใบปกติ เพราะรองเท้าวิ่งได้รับการผลิตขึ้นเพื่อช่วยลดการบาดเจ็บของเท้าจากการวิ่งโดยเฉพาะ
เนื่องจากมีรองเท้าวิ่งสามารถรองรับส้นเท้าขณะลงที่ลงน้ำหนักเท้า ลดแรงกระแทก และยึดเกาะพื้นได้เป็นอย่างดี
อย่าลืมว่า เท้า เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการเคลื่อนไหว ช่วยพยุงกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลัง หากเกิดการบาดเจ็บที่เท้าก็จะส่งผลต่อกระดูกอื่นๆ ด้วย และยังกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก
ดังนั้นเราจึงควรดูแลและใส่ใจสุขภาพเท้าให้มากๆ ด้วยการเลือกรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมนั่นเอง
หลักการเลือกรองเท้าวิ่ง มีอะไรบ้าง?
1. รองเท้าวิ่งจะต้องช่วยลดการบาดเจ็บได้
สิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกรองเท้าวิ่งคือ ต้องสามารถป้องกัน หรือลดการบาดเจ็บจากการวิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท้า หัวเข่า หรือหน้าแข้ง
รองเท้าวิ่งมีหลายรูปแบบแต่ละรูปแบบสร้างขึ้นมาให้รองรับสรีระเท้าที่ต่างกันในแต่ละคน
หากต้องการวิ่งอย่างจริงจัง แนะนำให้เลือกซื้อรองเท้าที่ร้านรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ เพราะพนักงานขายจะสามารถตรวจสรีระเท้า รูปแบบการวิ่ง การลงน้ำหนักขณะวิ่ง แล้วเลือกรูปแบบรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมกับคุณได้ เช่น
- Stability และ Neutral เป็นรองเท้าวิ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีสรีระเท้าปกติ ตั้งฉากกับพื้น หรือผู้ที่มีฝ่าเท้าสูงยกเล็กน้อย
- Cushioned เหมาะสำหรับผู้ที่มีฝ่าเท้ายกสูง ข้อเท้าโก่ง จะช่วยลดแรงกระแทกที่อาจทำให้ข้อเท้าบาดเจ็บได้เป็นพิเศษ
- Motion control เหมาะสำหรับผู้ที่มีเท้าแบนราบกับพื้น ข้อเท้าเอียงเข้ามาด้านใน หรือที่เรียกว่า “เท้าล้ม” การสวมใส่รองเท้าชนิดนี้จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้
2. เลือกรองเท้าให้เหมาะกับเป้าหมายในการวิ่ง
การวิ่งมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเพื่อรักษาสุขภาพ วิ่งเพื่อการแข่งขัน หรือวิ่งมาราธอน เป้าหมายในการวิ่งที่แตกต่างกันก็จะใช้รองเท้าวิ่งที่ต่างกันไปด้วย
หากเป็นการวิ่งเพื่อการแข่งขันควรเลือกรองเท้าวิ่งที่ช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้น มีน้ำหนักเบา ประหยัดพลังงานในการวิ่งอย่าง Racing Shoe
3. เลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับพื้นที่วิ่ง
รองเท้าวิ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ รองเท้าวิ่งถนน (Road) สำหรับวิ่งบนพื้นที่ราบ หรือบนลู่วิ่ง และรองเท้าวิ่งเทรล (Trail) สำหรับวิ่งบนพื้นที่ขรุขระ ลาดชัน พื้นเป็นหินหรือทราย เช่น ในป่า ภูเขา ชายหาด หรือทุ่งหญ้า
รองเท้าวิ่งถนนและรองเท้าวิ่งเทรลจะเหมาะสำหรับใช้วิ่งในพื้นที่ที่ต่างกัน หากนำไปใช้ไม่เหมาะสม เช่น นำรองเท้าวิ่งเทรลมาวิ่งบนถนน ก็อาจทำให้ลื่น หรือเกิดการบาดเจ็บได้ เนื่องจากพื้นรองเท้าไม่ยึดเกาะกับพื้น รองรับแรงกระแทกได้ไม่ดี
นอกจากนี้การใช้รองเท้าวิ่งผิดประเภทยังทำให้รองเท้าวิ่งเสื่อมสภาพเร็วขึ้นอีกด้วย
4. งบประมาณในการซื้อรองเท้าวิ่ง
งบประมาณในการซื้อรองเท้าวิ่งเป็นส่วนสำคัญในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งไม่แพ้หลักการข้ออื่นๆ เพราะจะช่วยกำหนดขอบเขตของยี่ห้อและรุ่นของรองเท้า ช่วยให้สามารถเลือกรองเท้าวิ่งได้ง่ายขึ้น
วิธีเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับเท้าของคุณ
วิธีเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับเท้าในเบื้องต้น มีดังนี้
- เลือกขนาดรองเท้าให้เหมาะสม ทั้งความยาวและความกว้างของหน้าเท้า โดยจะต้องเหลือบริเวณปลายเท้าไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร สามารถขยับนิ้วเท้าได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการห้อเลือด หรือบาดเจ็บที่เล็บเท้า
- เลือกประเภทของรองเท้าให้เหมาะกับสรีระเท้าและการลงน้ำหนักเท้า โดยพนักงานขายสามารถช่วยดูให้ได้ หรือดูที่ความสึกของพื้นรองเท้าที่สวมใส่เป็นประจำ ส่วนที่สึกมากจะเป็นส่วนที่ลงน้ำหนักเท้ามากนั่นเอง
- แจ้งให้พนักงานขายทราบว่า จะนำไปใช้วิ่งเพื่อจุดประสงค์ใด เช่น วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งแข่ง หรือวิ่งมาราธอน รวมถึงงบประมาณในการซื้อ พนักงานจะจัดรองเท้าวิ่งที่ตรงตามเกณฑ์มาให้เลือก ทำให้ได้รองเท้าวิ่งที่เหมาะสมกับคุณ
การเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะสม ไม่ได้ดูแค่ยี่ห้อรองเท้า สีสัน หรือรูปแบบที่ชอบเท่านั้น แต่ผู้วิ่งจะต้องเลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะกับสรีระเท้า ประเภทของการวิ่ง และพื้นที่ที่วิ่ง ก็จะช่วยให้การวิ่งเป็นไปอย่างปลอดภัย สนุก และได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี