ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หมายถึง การไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธุ์สม่ำเสมออย่างน้อย 12 เดือนโดยไม่คุมกำเนิด เกิดขึ้นเมื่อคู่รักไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ อาจเป็นเพราะว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะที่ไม่เอื้อต่อการตั้งครรภ์
จากการสำรวจวิจัยคู่สมรสในประเทศไทย 100 คู่ ที่อยู่ด้วยกันครบ 1 ปี มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ พบว่า มี 10%ที่ยังไม่มีลูก ซึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุแบ่งได้หลายประเภท โดยมีสาเหตุมาจากเพศชายประมาณ 30-40%
สารบัญ
สาเหตุของการเกิดภาวะมีบุตรยากในเพศชาย
ภาวะมีบุตรยากในเพศชายอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ปัญหาการสร้างอสุจิ
- การผ่านเข้าออกของอสุจิที่ผิดปกติ
- ปัญหาความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์
- ปัญหาเกี่ยวกับโรคประจำตัว
- การใช้สารเสพติด
- ความเครียด
- ภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ
ปัญหาในเพศชายที่ส่งผลให้ไม่สามารถปฏิสนธิได้ หรือปฏิสนธิไม่สำเร็จ มีดังต่อไปนี้
- จำนวนอสุจิน้อย หรือหลั่งอสุจิออกมาจำนวนน้อยกว่า 15 ล้านตัวต่อครั้ง มีหลักฐานพบว่า 1 ใน 3 ของคู่รักที่มีบุตรยากนั้นมีสาเหตุมาจากจำนวนอสุจิน้อย
- อสุจิเคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ หรือมีปัญหาเรื่องความเข้มข้น ทำให้ไม่สามารถว่ายไปหาไข่ได้อย่างที่ควรเป็น
- อสุจิบกพร่อง เช่น อาจมีรูปร่างผิดปกติ ทำให้ว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก หรือไม่สามารถเดินทางไปยังไข่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยเฉลี่ยแล้ว 2% ของผู้ชายมีอสุจิบกพร่อง
- อยู่ระหว่างมีอาการเจ็บป่วยบางอย่างซึ่งส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น อัณฑะติดเชื้อ มะเร็ง หรืออยู่ในระหว่างผ่าตัดโรคซิลติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหลอดอสุจิตันได้ และโรคคางทูมลงอัณฑะ โรคนี้มักเกิดกับอัณฑะข้างเดียว ซึ่งจะไม่ทำให้เป็นหมัน แต่หากเป็นทั้งสองข้าง (มีโอกาสเป็นได้ 10%) ก็อาจส่งผลต่อการผลิตตัวอสุจิ
- อัณฑะมีอุณหภูมิสูงเกินไป สาเหตุอาจเกิดจากลูกอัณฑะไม่ลงถุง หลอดเลือดดำอัณฑะขอด มีเส้นเลือดขอดที่ต่อมลูกหมาก หรือใช้ห้องซาวน่า หรืออ่างน้ำร้อน ใส่เสื้อผ้าคับเกินไป รวมไปถึงทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง
- ท่อฉีดอสุจิอุดตัน ส่งผลให้การหลั่งผิดปกติ เช่น น้ำอสุจิหลั่งเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะแทนที่จะออกมานอกร่างกาย
- ถุงเก็บตัวอสุจิอุดตัน โดยถุงเก็บตัวอสุจิจะมีโครงสร้างคล้ายท่อยาวที่ขดไปมา ทำหน้าที่ช่วยกักเก็บและส่งผ่านอสุจิ หากท่อเหล่านี้อุดตันก็จะไม่สามารถหลั่งอสุจิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น เกิดภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (Hypogonadism) ทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนพร่อง (Testosterone Deficiency)
- รูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (Hypospadias) เกิดขึ้นเมื่อรูท่อปัสสาวะนั้นเปิดอยู่ภายในองคชาติแทนที่จะเป็นบริเวณปลายองคชาติ สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก หากไม่ได้รับการแก้ไขในวัยเด็กก็อาจทำให้อสุจิเข้าสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้ยากขึ้น ภาวะรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกตินี้เกิดขึ้น 1 ใน 500 ของทารกเกิดใหม่
สาเหตุอื่นๆ อาจรวมไปถึง
- อายุ ความสมบูรณ์ทางเพศของผู้ชายจะลดลงเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 ปี
- การได้รับสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นหมันได้
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปสามารถทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility) แย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณปกตินั้นจะส่งผลอะไร แต่อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาอสุจิน้อยอยู่แล้ว
- น้ำหนักตัวเกินและความอ้วน เนื่องจากดัชนีมวลกายมีผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนและคุณภาพของสเปิร์ม
- ความเครียดทางจิตใจ ความเครียดสามารถส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง หรือมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเพศ
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เพศชายควรมีโครโมโซม X 1 ตัว และ โครโมโซม Y 1 ตัว ในกรณีที่เพศชายมีโครโมโซม X เกินมา 1 ตัว (XXY) หรือที่เรียกว่า “กลุ่มอาการไคล์เฟลเตอร์ (Klinefelter´s Syndrome)” จะทำให้อัณฑะเติบโตผิดปกติ ฮอร์โมนเพศชายน้อย จำนวนอสุจิต่ำ หรือไม่มีอสุจิเลย
ยาที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะมีบุตรยากในเพศชาย
นอกจากนี้การใช้ยาบางอย่างก็เพิ่มความเสี่ยงภาวะมีบุตรยากในเพศชายได้ ตัวอย่างเช่น
- ซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ยาแก้อักเสบตัวนี้มักใช้ในการรักษาโรคโครห์นหรือข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้จำนวนอสุจิลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วจำนวนอสุจิจะกลับมาเป็นปกติหลังหยุดใช้ยา
- อนาบอลิก สเตียรอยด์ (Anabolic Steriods) นิยมใช้ในหมู่นักเพาะกล้ามและนักกีฬา การใช้ยานี้ในระยะยาวสามารถลดจำนวนและความสามารถในการเคลื่อนที่ของอสุจิได้
- ยากลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) มีผลการวิจัยจากห้องทดลองชี้ให้เห็นว่า การใช้ยากลุ่มนี้ในระยะยาวส่งผลให้ร่างกายของผู้ชายผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยลง
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) การรับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด หรือที่เรียกว่าการทำ “คีโม” บางประเภทอาจส่งผลต่อจำนวนอสุจิ
- ยาเสพติด การใช้กัญชาและโคเคนสามารถทำให้อสุจิมีปริมาณน้อยลง
วิธีวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากในเพศชาย
เพื่อจะวินิจฉัยว่า สาเหตุการมีบุตรยากของคุณคืออะไร แพทย์จะสอบถามเพศชายเกี่ยวกับประวัติทางครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว ยารักษา รวมไปถึงประวัติการผ่าตัดที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก พร้อมตรวจร่างกาย
โดยเฉพาะการตรวจอวัยวะเพศเพื่อตรวจดูขนาดรูปร่าง หรือความผิดปกติ ตรวจดูรูเปิดท่อปัสสาวะ ตรวจดูอัณฑะทั้งสองข้าง และคลำเพื่อตรวจหาภาวะเส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ
นอกนั้ันมีวิธีการดังต่อไปนี้
- วิเคราะห์อสุจิ แพทย์อาจนำตัวอย่างอสุจิไปวิเคราะห์ปริมาตร ความหนาแน่นของตัวอสุจิ จำนวน การเคลื่อนที่ รูปร่างและลักษณะของตัวอสุจิ จำนวนเม็ดเลือดขาว ความเป็นกรด-ด่าง และการมีชีวิตของตัวอสุจิ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกณฑ์ของการวิเคราะห์น้ำอสุจิที่ถือว่า “ปกติ” ต้องผ่านเกณฑ์เหล่านี้
- ตรวจเลือดในห้องปฏิบัติ เพื่อวัดระดับเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนอื่นๆ
- อัลตราซาวด์ เพื่อตรวจสอบปัญหา เช่น ท่อฉีดอสุจิตีบตันหรือการหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง
- ตรวจหาเชื้อคลามิเดีย ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ แต่ก็สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
การรักษาภาวะมีบุตรยากในเพศชาย
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในแต่ละบุคคล ดังนี้
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือหลั่งไว สามารถรักษาได้ด้วยยา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ
- หลอดเลือดดำอัณฑะขอด อาจรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกจากถุงอัณฑะ
- ท่อฉีดอสุจิอุดตัน สามารถเจาะนำอสุจิออกมาจากอัณฑะโดยตรงแล้วฉีดเข้าสู่ไข่ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
- การหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง (Retrograde Ejaculation) สามารถแก้ไขได้ด้วยการเจาะนำอสุจิออกมาจากกระเพาะปัสสาวะโดยตรงแล้วฉีดเข้าสู่ไข่ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
- ถุงเก็บเชื้ออสุจิอุดตัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด
- มีบางคำแนะนำกล่าวว่า ผู้ต้องการมีบุตรควรลดความถี่ในการร่วมเพศลง เพื่อให้ร่างกายมีอสุจิสะสมเพิ่มขึ้น แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่แสดงความแตกต่างอย่างชัดเจน
หากแก้ไขภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีนี้แต่ยังไม่ได้ผล แต่คุณและคู่ชีวิตยังคงต้องการมีบุตรอยู่ ปัจจุบันก็มีนวัตกรรมมากมาย เช่น การทำ IUI การทำ IVF การทำ ICSI มารองรับด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ปรึกษาคลินิกผู้มีบุตรยากอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจทำ เพื่อดูโอกาสความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่า บริการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยทีเดียว
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ภกญ. เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์