ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycaemia) เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำตาลสูงอาจเกิดในคนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานได้ เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเบื้องต้น มักไม่แสดงอาการให้เรารู้ตัว แต่หากพัฒนาจนถึงระดับรุนแรง จะทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่คุกคามต่อชีวิตได้
คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน) หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อที่จะได้สังเกตอาการ วิธีการรักษา และป้องกันได้อย่างถูกต้อง
สารบัญ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycaemia) คืออะไร
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร้ายแรงหรือไม่
- ระดับน้ำตาลในเลือดควรมีค่าเท่าใด
- สาเหตุของน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ควรเข้าพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อใด
- วิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหญิงตั้งครรภ์
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycaemia) คืออะไร
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycaemia) เป็นศัพท์ทางการแพทย์สำหรับสภาวะที่ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ภาวะนี้สามารถส่งผลกระทบได้ทั้งในคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้หญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในบางครั้ง อาจส่งผลต่อผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวานได้ ซึ่งคนเหล่านั้นมักเป็นคนที่ป่วยอาการหนัก เช่น ผู้ที่เพิ่งเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือมีการติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร้ายแรงหรือไม่
จุดมุ่งหมายของการรักษาโรคเบาหวาน คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับค่าปกติมากที่สุด แต่ถ้าคุณป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะระมัดระวังแค่ไหนก็อาจมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาได้ในบางช่วง
สิ่งสำคัญ ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องสามารถบ่งบอกอาการของตนเอง และรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในเบื้องต้นได้ เนื่องจากภาวะเริ่มต้นนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ช่วงอาการที่ไม่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว มักไม่ทำให้เกิดความวิตกกังวล สามารถรักษาได้ง่าย หรืออาจกลับสู่ภาวะปกติได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นอันตรายได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีค่าสูงมาก หรือสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่คุกคามชีวิตได้ เช่น
- ภาวะเลือดเป็นกรดด้วยคีโตนจากเบาหวาน Diabetic Ketoacidosis (DKA) ภาวะที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อต้องการจะย่อยสลายไขมันให้เป็นสารคีโตน เพื่อนำมาเป็นแหล่งพลังงาน แต่สารคีโตนนี้มีฤทธิ์เป็นกรดจึงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด
ภาวะนี้สามารถนำไปสู่อาการโคม่าจากโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มที่จะเกิดในคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มากกว่า เบาหวานชนิดที่ 2 - ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิด Hyperosmolar Hyperglycemic State (HHS) จะมาพร้อมกับภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เลือดจะเริ่มข้น เพราะความเข้มข้นของน้ำตาลเพิ่มขึ้นขณะที่น้ำนั้นลดลง เกิดจากร่างกายพยายามขจัดน้ำตาลส่วนเกินออกไป
ภาวะนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่า
การมีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะเวลานานหลายเดือน หรือหลายปี อาจส่งผลต่อความเสียหายถาวรของร่างกาย เช่น ดวงตา เส้นประสาท หน่วยไต และหลอดเลือด
หากคุณเคยมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว อาจจำเป็นต้องปรับการรักษา หรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วงที่ดีต่อสุขภาพ
ระดับน้ำตาลในเลือดควรมีค่าเท่าใด
คนปกติระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 70-100 mg/dL หรือ 4-7 mmol/L
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์ประจำตัวคุณจะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปัจจุบัน และกำหนดค่าน้ำตาลเป้าหมายที่ควรลด
แพทย์จะแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เจาะน้ำตาลที่บ้าน เพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอที่บ้าน หรือได้รับนัดหมายทุกสองหรือสามเดือนเพื่อดูระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง
การกำหนดเป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างกันในแต่ละคน แต่โดยทั่วไปอาจกล่าวได้ว่า
- ถ้าคุณตรวจสอบตัวเองที่บ้าน เป้าหมายปกติคือ 72-126 mg/dL ก่อนรับประทานอาหาร และต่ำกว่า 153-162 mg/dL หลังรับประทานอาหารสองชั่วโมง
- ถ้าคุณได้รับการตรวจทุกสองสามเดือน เป้าหมายปกติจะอยู่ต่ำกว่า 72-144 mg/dL หรือ 6.5% ของการวัดโดยการตรวจระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c)
สาเหตุของน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ความเครียด
- ความเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัด
- การรับประทานมากเกินไป เช่น การรับประทานอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารบ่อยเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย
- ภาวะขาดน้ำ
- ลืมกินยารักษาโรคเบาหวาน หรือกินยาในปริมาณไม่ถูกต้อง
- การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่รุนแรงเกินไป
- การได้รับยาบางอย่าง เช่น ยาสเตียรอยด์
ช่วงเวลาการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นครั้งคราว สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แต่หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจภาวะก่อนเป็นเบาหวาน โดยปัจจุบันมีวิธีการป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้แล้ว
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจจะเกิดขึ้นในไม่กี่วันหรือเป็นสัปดาห์ บางกรณี อาจไม่มีอาการใดๆ เลยจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงมาก การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจึงควรทำอย่างสม่ำเสมอ
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่
- กระหายน้ำมาก และปากแห้ง
- ปัสสาวะบ่อย
- เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า
- มองเห็นภาพซ้อน
- การสูญเสียน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
- การติดเชื้อซ้ำซ้อน เช่น ฝ้าขาวบนลิ้น การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (Cystitis) และการติดเชื้อที่ผิวหนัง
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจเกิดจากโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย ดังนั้น คุณควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของภาวะต่างๆ และวิธีรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคเบาหวาน และมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมด้วย ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัวในการลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาจได้รับคำแนะนำ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เช่น เค้ก เครื่องดื่มที่มีรสหวาน แป้งขัดสี แล้วเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักใบเขียว แป้งไม่ขัดสี
- ดื่มน้ำเปล่าปริมาณมากๆ หรือดื่มของเหลวปราศจากน้ำตาล เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไปอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เช่น การเดินไว จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์
- ปรับเปลี่ยนขนาดยาอินซูลิน โดยแพทย์ประจำตัว และขอคำแนะนำในการรักษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ควรทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยมากขึ้น หรือตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสารที่เรียกว่า คีโตน ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อน คือ ภาวะเลือดเป็นกรดด้วยคีโตนจากเบาหวาน จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ให้เฝ้าระวังอาการต่างๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น
ควรเข้าพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อใด
ติดต่อแพทย์ประจำตัว หรือเข้าโรงพยาบาลทันที หากคุณมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และพบอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกว่ากำลังจะป่วย หรือป่วยอยู่
- ปวดท้อง
- หายใจหอบ เร็ว
- อาการซึ่งสัญญาณของการขาดน้ำ เช่น ปวดศีรษะ ผิวแห้ง หัวใจถี่และเบาลง
- นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือภาวะภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบสุดขีด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล
วิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ระวังอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
- รักษาวินัยในแผนการรักษา อย่าลืมนำอินซูลินหรือยาโรคเบาหวานอื่นๆ ติดตัวเสมอตามคำสั่งแพทย์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษากับแพทย์ก่อนหากคุณกำลังใช้ยาเบาหวาน เนื่องจากยาบางชนิดสามารถนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ หากออกแรงมากเกินไป
- ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อป่วย โดยแพทย์จะอธิบายถึงกฏที่ต้องทำเวลาป่วยให้ทราบอยู่แล้ว เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมระหว่างป่วย
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตอาการ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหญิงตั้งครรภ์
เมื่อหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถผลิตอินซูลีนเพียงพอ จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จนเกิดเป็น “โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์” ได้ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเกิดในครึ่งหลัง หรือช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของมารดา และทารกได้
- ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน คนในครอบครัว หรือตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ สามารถป้องกันได้โดยการตรวจสุขภาพ เพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
- ลักษณะอาการเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ปากแห้ง กระหายน้ำ และรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หากเกิดอาการดังกล่าว เบื้องต้น แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้วใหญ่ หากมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดสูงบ่อยครั้ง ควรพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาต่อไป
- การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีวิธีการรักษาเหมือนกับโรคเบาหวานทั่วไป คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยการคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้ยารักษาให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการ และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคเบาหวานหลังคลอด เป็นต้น
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล