ยาเค Ketamine scaled

ยาเค (Ketamine)

หลายคนอาจจะรู้จัก ยาเค (Ketamine) ว่าเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ถึงการออกฤทธิ์และข้อเสียที่ยาเคมีต่อร่างกายว่าร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน 

ยาเค (Ketamine) คืออะไร 

ยาเค มาจากคำว่า เคตามีน (Ketamine) เป็นยาเสพติดสังเคราะห์ มีลักษณะเป็นผงสีชา หรือเป็นน้ำในขวดสีชา แต่เดิมถูกคิดค้นเพื่อใช้เป็นยาสลบสำหรับผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด โดยฉีดเข้าเส้นเลือดประมาณ 1–2 มิลลิกรัม หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 

แต่กลับมีกลุ่มคนที่ติดยาเสพติดนำยาเคมาใช้เป็นสารเสพติด เพราะยาเคจะออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพหมดความวิตกกังวล รู้สึกว่าตัวเองมีพลัง มีอำนาจเหนือคนอื่น บางรายจะรู้สึกมึนเมา ขาดสติ ล่องลอย การรับรู้แสง เสียง รอบ ๆ ตัวเปลี่ยนไป

ผู้ที่เสพยาเคส่วนมากจะสูดผงยาเข้าจมูก ฉีดเข้าเส้นเลือด หรือผสมกับใบกัญชาเพื่อสูบเป็นบุหรี่ โดยระยะเวลาการออกฤทธิ์จะอยู่ประมาณ 30–60 นาที แต่ผลข้างเคียงของยาจะอยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยาเคเป็นยาเสพติดที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้มไม่รับรู้กับสิ่งรอบข้าง ไม่ได้สติ จึงมีคนลักลอบนำยาเคมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ 

โดยนำไปผสมกับเครื่องดื่ม เพื่อก่ออาชญากรรม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือลักลอบนำออกจากโรงพยาบาลไปขายต่อ ทำให้ยาเคได้รับชื่ออีกชื่อว่า “ยาเสียตัว” 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเค

ยาเคอาจจะทำให้ผ่อนคลาย หมดความวิตกกังวล แต่ผลข้างเคียงร้ายแรงที่ส่งผลต่อร่างกายนั้นมีมากกว่าเป็นเท่าตัว เช่น 

  • สับสน มึนงง
  • สูญเสียความทรงจำ
  • เกิดภาวะซึมเศร้า
  • เกิดอาการตื่นกลัว หรือก้าวร้าว อาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้อื่น
  • หูแว่ว
  • เห็นภาพหลอน
  • ปวดศีรษะ
  • พูดจาไม่รู้เรื่อง
  • อ่อนเพลียมากผิดปกติ
  • เหงื่อออกมาก
  • ประสาทการรับกลิ่นแย่ลง
  • สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ การทำงานระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อผิดปกติ
  • ความดันโลหิตสูง
  • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • มีไข้สูง
  • หายใจติดขัด
  • คลื่นไส้ อาเจียน

เมื่อขาดการเสพยาไประยะหนึ่ง ผู้ที่เสพติดยาเคอย่างหนักจะเกิดอาการลงแดง และต้องการยาในปริมาณเพิ่มขึ้น เมื่อเสพเกินขนาด ก็อาจทำให้ผู้เสพกลายเป็นคนวิกลจริต มีไข้สูง มีอาการชักเกร็ง โคม่า หรือช็อกจนเสียชีวิตได้ 

นอกจากนี้ การเสพยาเคยังเสี่ยงต่อการติดโรคผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ หรือเชื้อไวรัสเอชไอวี

การเลิกเสพยาเค

สำหรับการบำบัดยาเสพติด จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือนักบำบัด เพื่อให้เลิกยาเคได้ขาด รวมถึงคนใกล้ชิดหรือสมาชิกครอบครัว ก็มีส่วนช่วยให้การบำบัดยาเสพติดประสบผลสำเร็จด้วยได้

เพราะผู้เสพอาจอยากกลับไปเสพยาอีกครั้ง เพื่อลดความทุกข์ทรมานระหว่างเลิกยา การได้กำลังใจจากคนรอบตัว และมีคนคอยย้ำเตือนถึงข้อดีของการเลิกยา จะเป็นแรงเสริมให้ผู้เสพเข้มแข็งขึ้น มีกำลังใจเลิกยามากขึ้น 

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เสี่ยงต่อการเสพยา 

  • ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเสพยา เช่น งานเลี้ยง สถานบันเทิงยามค่ำคืน และมีคนรู้จักชักชวนให้ลองเสพยาเคหรือยาเสพติดใด ๆ ให้ตระหนักถึงความอันตรายของยาเหล่านี้เสมอ และปฏิเสธโดยอย่างเด็ดขาด ตรงไปตรงมา
  • อย่าเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาหยิบยื่นยาเสพติดให้กับคุณ หรือหากมีการยื่นเครื่องดื่มแปลกๆ จากผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ ให้ปฏิเสธที่จะดื่มด้วยเช่นกัน เพราะมันอาจผสมยาเค หรือสารเสพติดที่เป็นอันตรายอื่นๆ อยู่ได้
  • ในช่วงที่เครียดหนัก มีปัญหาต่าง ๆ รุมเร้า เป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น รวมถึงการเสพยา จึงยิ่งเป็นช่วงที่ต้องดูแลหัวใจตัวเองให้ดี 
  • หากมีปัญหาแล้วหาทางออกไม่ได้ นอกจากการปรึกษาคนใกล้ชิด คนในครอบครัวแล้ว การปรึกษาจิตแพทย์เรื่องปัญหาความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์ ก็ถือว่าเป็นทางออกที่ดี เพราะอย่างน้อย ๆ จิตแพทย์จะเป็นทั้งผู้รับฟังและผู้ให้คำปรึกษาที่ดีสำหรับคุณ 

ยาเค จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 หากครอบครองอย่างถูกวัตถุประสงค์ ก็ถือว่าถูกกฎหมาย แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย 

แต่ถ้าครอบครองอย่างผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top