โรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปกติมักพบในวัยกลางคนถึงวัยอายุมาก

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ  ซึ่งน้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ที่ได้จากการรับประทานอาหาร และถูกนำเข้ามาโดยฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างจากตับอ่อน

ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอกับความต้องการ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

คุณสามารถเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ทุกช่วงอายุ แม้ว่าจะเป็นวัยเด็กก็ตาม อย่างไรก็ตามเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบได้มากที่สุดในช่วงอายุวัยกลางคนจนถึงผู้ที่มีอายุมาก  คุณจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าปกติถ้าคุณมีปัจจัย ดังนี้

  • อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกิน
  • ผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • การขาดการออกกำลังกายและปัญหาทางสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่

  • กระหายน้ำ และปัสสาวะบ่อย
  • หิวบ่อย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย มึนเบลอ
  • สายตาพร่ามัว
  • อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
  • ชาหรือรู้สึกเสียวตามมือ หรือเท้า
  • มีแผลที่ไม่หายขาด
  • น้ำหนักลดแบบหาสาเหตุไม่ได้

จะเห็นได้ว่าอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถถูกเข้าใจผิดว่าว่าเจ็บป่วยเป็นโรคอื่น หรือเป็นเพียงความอ่อนเพลียทางร่างกายเท่านั้น เพราะอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดอย่างช้าๆ และคุณอาจมีอาการแสดงออกเพียงทีละเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีอาการใดๆ และบางคนไม่เคยตรวจร่างกายเพื่อหาโรคเบาหวานเลย จนกระทั่งเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เช่น ตามองภาพไม่ชัด หรือโรคหัวใจ

นอกจากนี้ยังมีอาการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย เช่น เหงือกติดเชื้อ การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ (โดยเฉพาะในผู้หญิง) การติดเชื้อที่เท้า

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ชาย

โดยทั่วไปแล้ว อาการแสดงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะเหมือนกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อย่างไรก็ตาม จากรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า 20-75% ของผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวานชนิดใดๆ มักจะเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) หรือการที่องคชาตไม่สามารถแข็งตัวได้

นักวิจัยเชื่อว่าโรคเบาหวานก่อให้เกิดปัญหาทางเพศในผู้ชาย ซึ่งเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายที่ควบคุมการไหลเวียนต่างๆ นั้นถูกทำลาย ถ้าคุณมีอาการแสดงของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน

อีกหนึ่งโรคทางเดินปัสสาวะที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานในผู้ชายคือ การหลั่งน้ำอสุจิย้อนกลับเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ (retrograde ejaculation) อาการแสดงที่พบได้ คือน้ำอสุจิลดลงระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้หญิง

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อราที่เพิ่มขึ้นในช่องคลอดของผู้หญิง เพราะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เชื้อราและแบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปด้วย ทำให้ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นตกขาวจากการติดเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งตกขาวในช่องคลอดนั้นจะนำไปสู่การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ

การวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

สมาคมโรคเบาหวานแนะนำให้ทุกคนตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเมื่ออายุเข้าสู่ 45 ปี คนที่มีปัจจัยเสี่ยงนอกจากอายุ ควรได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการเจาะเลือดเพื่อไปตรวจ ซึ่งการเจาะเลือดที่นิยมใช้จะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ และมีวิธีการตรวจโรคเบาหวานอื่นๆอีกต่อไปนี้

1. การวัดระดับกลูโคสในพลาสมา

การตรวจเลือดชนิดนี้จะมีขึ้นหลังจากคุณอดอาหารเป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมงแล้ว โดยปกติจะตรวจเลือดในตอนเช้าก่อนช่วงอาหารเช้า การตรวจชนิดนี้จะช่วยวินิจฉัยโรคเบาหวาน และภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะเมื่อระดับกลูโคสสูง แต่ยังไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน

ปริมาณน้ำตาลในเลือดของคุณสามารถบ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวานหรือไม่

  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่เกิน 99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL.) ถือว่าอยู่ในระดับปกติ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับ 100-125 mg/dL จะถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (ภาวะของคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จัดว่าเป็นเบาหวาน)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 126 mg/dL. หรือสูงกว่า จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

2. การตรวจ HbA1c 

มีอีกชื่อที่เรียกกันว่าการตรวจ “A1C” หรือการตรวจ hemoglobin A1c การตรวจชนิดนี้ประเมินระดับกลูโคสของคุณ ว่าได้รับการควบคุมดีระดับไหนจากช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรไปรับผลตรวจ A1C อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพราะเป็นการตรวจประเภทที่วัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีที่สุด

ผู้ที่มีผลตรวจบ่งชี้ว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยง 40% ของการพัฒนาที่จะเป็นโรคเบาหวานภายในระยะเวลา 5 ปี ถ้าพวกเขาไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต และสุขภาพโดยรวม

3. การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส (OGTT)

การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส เป็นอีกหนึ่งการตรวจเบาหวานที่จะทขึ้นหลังจากที่คุณอดอาหารมาเป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง การตรวจชนิดนี้มักใช้เพื่อตรวจโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes) โดยนักเทคนิคจะเก็บเอาตัวอย่างผลเลือดของคุณ และหลังจากนั้นจะให้คุณดื่มเครื่องดื่มน้ำตาลที่มีกลูโคส 75 มก. ผสมอยู่ หลังจากที่คุณดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ คุณจะถูกวัดระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังจากนั้นเ พื่อวัดปฏิกิริยาของอินซูลินต่อเครื่องดื่ม การตรวจชนิดนี้สามารถวินิจฉัยได้ทั้งโรคเบาหวาน และภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

ผลของการวัดภาวะความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคสที่เป็นไปได้มีดังต่อไปนี้

  • 139 mg/dL หรือต่ำกว่าในเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากการตรวจ ถือว่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ
  • 140-199 mg/dL ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (ความทนทานของกลูโคสผิดปกติ)
  • 200 mg/dL หรือสูงกว่า จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน(แต่แพทย์ประจำตัวของคุณอาจให้คุณตรวจอีกรอบในวันถัดไป เพื่อยันยันผลนี้)

4. การสุ่มวัดระดับกลูโคสในพลาสมา

การตรวจวิธีอาจทำเมื่อไหร่ก็ได้เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ไม่แม่นยำพอที่จะวินิจฉัยภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แต่ก็สามารถนำได้สู่การวินิจฉัยโรคเบาหวานถ้าน้ำตาลในเลือดของคุณอยู่ที่ 200 mg/dL เป็นอย่างน้อย และมีอาการแสดงอื่นๆ เช่น

  • ปัสสาวะมากขึ้น
  • ดื่มมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยที่คุณไม่ได้ตั้งใจ

แต่โดยทั่วไปแล้ว การวินิจฉัยโรคเบาหวานมักจะได้รับการยืนยันจากการวัดระดับกลูโคสในพลาสมา การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส หรือการตรวจ HbA1c เป็นส่วนใหญ่

วิธีการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

วิธีจัดการเกี่ยวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีดังนี้

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับไขมันคอเลสเตอรอล
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ปรับแผนการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ จำกัดปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวัน (หากมีน้ำหนักเกิน)
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานยารักษาโรคเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์  และปรึกษาทีมแพทย์ผู้ดูแลคุณเพื่อร่วมกันวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคุณ

ยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ในระหว่างการรักษาโรคเบาหวาน คุณอาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาร่วมด้วย ซึ่งยามีทั้งแบบรับประทาน และแบบฉีดใต้ผิวหนัง ได้แก่ ยาฉีดอินซูลิน ซึ่งบางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาโรคเบาหวานมากกว่าหนึ่งชนิด

และถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน แต่ในบางภาวะคุณอาจจำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน เช่น ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นต้น  นอกจากนี้คุณอาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาโรคร่วมอื่นๆ ที่เป็นด้วย เช่น ยาสำหรับโรคความดันโลหิตสูง ยาสำหรับคอเลสเตอรอลสูง หรือภาวะอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย

โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

หากคุณไม่ได้รักษาโรคเบาหวานที่ดีพอ หรือไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น

  • โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง
  • เส้นประสาทถูกทำลาย
  • โรคไต
  • ปัญหาที่เท้า แผลที่เท้า
  • โรคตา มองภาพไม่ชัด
  • โรคเหงือก และปัญหาในช่องปากอื่นๆ
  • ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ และกระเพาะปัสสาวะ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หลายรายยังมี “โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์” (nonalcoholic fatty liver disease) ร่วมด้วย หากคุณมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การลดน้ำหนัก จะช่วยให้อาการของไขมันพอกตับดีขึ้น  และโรคเบาหวานยังสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ อีก ได้แก่

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ซึมเศร้า
  • มะเร็งบางชนิด
  • ภาวะสมองเสื่อม (dementia)

วิธีลดโอกาสต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ลดน้ำหนัก 

ถ้ามีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักลง 5-7% ของน้ำหนักตัวจะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ เช่น ถ้าคุณมีน้ำหนัก 90 กิโลกรัม คุณจะต้องลดน้ำหนักลงให้ได้ประมาณ 4.5–6.3 กิโลกรัม

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เช่น เดิน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์  ในช่วงแรกคุณสามารถปรึกษาทีมแพทย์ของคุณ เพื่อวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคุณ โดยเริ่มช้าๆ และค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายไปเรื่อยๆ

รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

รับประทานอาหารให้ลดลง เพื่อลดปริมาณพลังงานที่ร่างกายจะได้รับและยังช่วยลดน้ำหนักด้วย การเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำเป็นทางเลือกที่ดีในการจำกัดปริมาณพลังงานที่ได้รับ และแนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าแทนการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

วิธีลดโอกาสของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ดีที่สุด คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มันอาจเป็นเรื่องยากที่คุณจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเองทำอยู่ทุกวัน แต่เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนอื่นๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สุขภาพของคุณรับแต่ผลประโยชน์มากกว่าผลเสียจึงเป็นสิ่งสำคัญ ลองเปลี่ยนแปลงตนเองดูสักครั้ง คุณอาจชอบการดำเนินชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top