โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) เป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดเรื้อรังแก่ผู้ที่เป็น ปัจจุบันมีหลายแนวทางการรักษา ทั้งแบบใช้ยา ผ่าตัดเล็ก ไปจนถึงผ่าตัดใหญ่เพื่อแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท (MVD) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ให้ประสิทธิภาพสูง และอัตรากลับมาเป็นโรคซ้ำมีน้อย
การผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาทถือเป็นวิธีรักษาที่รุกราน (Invasive) กว่าวิธีรักษาโรคปวดเส้นประสาทวิธีอื่น แพทย์มักแนะนำให้ใช้วิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดที่ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยา ผู้ป่วยไม่ต้องการรู้สึกชาหลังรักษา หรือต้องการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการชาใบหน้าให้น้อยที่สุด หรือผู้ป่วยเคยรักษาโรคนี้ด้วยวิธีอื่นมาแล้ว แต่กลับมาเป็นซ้ำ
ในขณะที่ผลการรักษาค่อนข้างดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ บทความนี้รวบรวมรายละเอียดการผ่าตัดทั้งหมดเพื่อให้ผู้สนใจวิธีรักษานี้ได้ชั่งน้ำหนักตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวิธีรักษาโรคปวดเส้นประสาทใดๆ ก็อาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ รับการตรวจอย่างละเอียด แล้วค่อยเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับแต่ละคนมากที่สุด
สารบัญ
ขั้นตอนการผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท เพื่อรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
การผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาทใบหน้ามักทำในโรงพยาบาล ใช้เวลาผ่าตัดทั้งสิ้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง ใช้ยาสลบเพื่อระงับความรู้สึกผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด
ขั้นตอนที่ 1
เจ้าหน้าที่เตรียมผู้ป่วยให้พร้อมรับการผ่าตัดโดยเริ่มจากวางยาสลบ เมื่อยาออกฤทธิ์แล้วจะจัดตำแหน่งท่าทางให้ผู้ป่วยหันใบหน้าด้านที่ต้องผ่าตัดขึ้นข้างบน มีการใช้เครื่องล็อกศีรษะให้อยู่นิ่งกับเตียงผ่าตัด ผมส่วนหนึ่งบริเวณด้านหลังใบหูผู้ป่วยจะถูกโกนออกเพื่อเตรียมสำหรับการเจาะกะโหลกศีรษะในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ 2
แพทย์กรีดเปิดผิวหนังที่ศีรษะผู้ป่วยบริเวณหลังใบหู ตามด้วยเจาะรูกะโหลกศีรษะด้วยสว่านทางการแพทย์ จากนั้นตัดเปิดเยื่อหุ้มสมองชั้นดูราเพื่อเปิดทางสำหรับผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
ขั้นตอนที่ 3
แพทย์ใช้อุปกรณ์ถ่างเนื้อเยื่อ (Retractor) ถ่างเปิดสมองเพื่อเข้าถึงเส้นประสาทไตรเจมินัล แล้วหาหลอดเลือดที่กดทับเส้นประสาทอยู่ มักพบว่าหลอดเลือดนั้นถูกตรึงไว้ด้วยพังผืดเหนียว เมื่อพบแล้ว แพทย์จะเลาะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันนั้นด้วยมีดหรือกรรไกร เพื่อแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
ขั้นตอนที่ 4
ขั้นตอนนี้แพทย์จะตัดฟองน้ำเทฟลอนขนาดพอเหมาะ แล้วนำไปวางคั่นระหว่างเส้นประสาทกับหลอดเลือด ถ้าพบว่ามีหลอดเลือดติดแน่นกับเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บปวดใบหน้า แพทย์จะใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าจี้หลอดเลือด แล้วย้ายให้ออกห่างจากเส้นประสาท
ขั้นตอนที่ 5
เมื่อหลอดเลือด เส้นประสาท และฟองน้ำอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมเรียบร้อย แพทย์จะนำอุปกรณ์ถ่างเนื้อเยื่อออก จากนั้นปิดแผล
โดยเริ่มจากเย็บปิดเยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา แล้วผนึกให้สนิทด้วยกาวกันน้ำทางการแพทย์ กะโหลกศีรษะที่ถูกเจาะออกไปจะไม่ได้ถูกนำกลับมาใส่คืนเนื่องจากรอยเจาะมีขนาดเล็กมาก แต่แพทย์จะใช้แผ่นไทเทเนียมปิดแทน โดยจะยืดแผ่นไทเทเนียมให้แนบสนิทอยู่กับที่ด้วยสกรูขนาดเล็ก ส่วนผิวหนังชั้นนอกสุดนั้นจะถูกเย็บแล้วปิดด้วยผ้าก๊อซ
หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะพาผู้ป่วยไปพักในห้องสังเกตอาการจนกว่าจะฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบ จากนั้นจึงพาย้ายไปที่ห้อง ICU เพื่อติดตามความผิดปกติใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
เมื่ออาการคงที่ ผู้ป่วยจะได้ออกจากห้อง ICU แต่ยังต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จึงให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
ก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งอาจรวมถึงการเจาะเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถรับการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย
ข้อปฏิบัติก่อนผ่าตัดขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้แนะนำ ตัวอย่างมีดังนี้
- งดรับประทานยาและอาหารเสริมบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นระยะเวลา 7 วันก่อนผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงเลือดออกระหว่างผ่าตัด
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงงดสูบบุหรี่ ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด และ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเลือดออกและปัญหาการฟื้นตัว
- ทำความสะอาดร่างกายรวมถึงใบหน้า เส้นผม และหนังศีรษะ ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ
- ให้งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
หลังย้ายจากห้อง ICU มาที่ห้องพักฟื้น ผู้ป่วยควรทำกิจกรรมเบาๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู เช่น ลุกขึ้นนั่ง เดิน ในกรณีที่เคยรับยาบรรเทาอาการโรคปวดเส้นประสาทใบหน้ามาก่อนเป็นระยะเวลานานก่อนผ่าตัด แพทย์อาจให้ค่อยๆ ลดยา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะถอนยาซึ่งจะมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ขึ้น
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองในช่วง 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด มีดังนี้
ข้อห้าม
- ห้ามยกของหนักเกิน 2 กิโลกรัม
- ห้ามกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก ซึ่งรวมถึงการทำสวน ทำงานบ้าน มีเพศสัมพันธ์
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เลือดแข็งตัวน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก
- ห้ามสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่มีนิโคตินเป็นส่วนผสม เนื่องจากจะทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้าลง
- ห้ามขับรถหรือเดินทางด้วยเครื่องบิน จนกว่าแพทย์จะพิจารณาว่าร่างกายฟื้นตัวเต็มที่ พร้อมสำหรับเดินทางแล้ว
การดูแลแผลผ่าตัด
- สามารถอาบน้ำและสระผมได้หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 1 วัน โดยใช้แชมพูเด็กที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง
- ทำความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดได้ด้วยน้ำและสบู่ โดยใช้วิธีล้างเบาๆ ห้ามขัดถู ห้ามใช้ฝักบัวเปิดแรงๆ จ่อล้างที่แผลโดยตรง หลังล้างเสร็จให้ซับเบาๆ จนแห้ง
- ถ้ามีการใช้กาวทางการแพทย์ปิดแผลให้ ห้ามถูหรือแกะกาวนั้น
- อย่าให้แผลแช่น้ำ (รวมถึงการใช้อ่างอาบน้ำ ว่ายน้ำในสระ กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำให้แผลผ่าตัดอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน)
- ห้ามใช้โลชั่น น้ำมัน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม กับบริเวณแผลผ่าตัด สำหรับการทำสีผมให้งดไปก่อนเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์
การใช้ยา
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ถ้าปวดศีรษะสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ โดยทั่วไปความต้องการยาควรจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามร่างกายที่ฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่รู้สึกปวดแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต่อ
- ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ควรดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากใย และเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว
- ห้ามรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน
การออกกำลังกาย การนอน
- ควรลุกขึ้นเดินประมาณ 5-10 นาที ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง สามารถเพิ่มระยะเดินได้ทีละนิดตามที่รู้สึกว่าทำไหว
- เพื่อลดอาการปวดและบวม ควรนอนโดยยกศีรษะให้สูง และประคบน้ำแข็งวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที
ในช่วงพักฟื้น ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงป๊อบ เสียงวิ้งๆ หรือเสียงกรอบแกรบในหูบ้าง หรืออาจสังเกตเห็นว่าที่หูดูบวมๆ หรือมีรอยช้ำที่ดวงตา เหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติจากการผ่าตัด จะค่อยๆ ดีขึ้นเองภายในไม่กี่สัปดาห์เมื่อร่างกายฟื้นตัว
นอกจากการดูแลตัวเองตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว ทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจบ่งบอกซึ่งอาการแทรกซ้อนร้ายแรง ถ้าพบว่ามีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส โดยไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด
- แผลปริ แตก บริเวณแผลกลายเป็นสีแดง มีของเหลวไหลออกจากแผล
- แผลบวมร่วมกับมีของเหลวใสๆ ไหลออกจากหูหรือจมูก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีอาการบวมหรือเจ็บในน่อง ที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดศีรษะมาก
- อาเจียน
- ปวดคอมากจนไม่สามารถก้มศีรษะได้
- มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ
- พูดจาสับสน
- มีอาการชัก
ข้อดีของการผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
การผ่าตัดรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพประมาณ 95% และยังมีความเสี่ยงต่ำที่จะกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำ (ประมาณ 20% ภายใน 10 ปี)
ข้อเด่นที่สุด คือ เป็นวิธีที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกชาใบหน้า หรือชาน้อยที่สุดหลังจากผ่าตัด เมื่อเทียบกับการผ่าตัดรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเทคนิคอื่นๆ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท
การผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาทให้ผลดีต่อการรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า แต่ไม่ได้ทำได้ในผู้ป่วยทุกราย
ผู้ที่สามารถรับการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีนี้ได้ จะต้องมีร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถรับการผ่าตัดใหญ่และทนต่อยาสลบได้ตลอดระยะเวลาผ่าตัด
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้
แม้ว่าจะเป็นการรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าที่มีประสิทธิภาพ แต่การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาทก็มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ความเสี่ยงทั่วไปที่เกิดได้จากการผ่าตัด เช่น
- เลือดออก
- ติดเชื้อ
- เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- อาการแพ้ยาสลบ
ส่วนความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- อาการชัก
- ไซนัสอุดตัน
- สมองบวม
- น้ำไขสันหลังรั่ว
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้จากการผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท ได้แก่ เส้นประสาทเสียหาย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยิน มองเห็นภาพซ้อน ชาใบหน้าหรือเป็นอัมพาตที่ใบหน้า เสียงแหบ กลืนลำบาก ไปจนถึงมีอาการเดินเซหรือเสียการทรงตัว ขึ้นอยู่กับว่าความเสียหายเกิดที่เส้นประสาทส่วนไหน
การผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท เพื่อรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าอาจดูเหมือนน่ากลัว เนื่องจากมีการผ่าตัดกะโหลก เปิดเข้าไปถึงเส้นประสาทในสมอง แต่โดยทั่วไปแล้วจัดเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย โอกาสเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงมีน้อย
อยากรู้ว่าอาการที่เป็นอยู่ใช่โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าหรือไม่ ต้องหาหมอที่ไหนดีถึงจะมีบริการรักษาอย่างครบครัน? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย