Default fallback image

ผ่าตัดเนื้องอกในไต คืออะไร มีกี่วิธี อันตรายไหม

การผ่าตัดเนื้องอกในไต เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่แพทย์มักแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเนื้องอกในไต ทั้งชนิดธรรมดาและชนิดมะเร็ง แต่ผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลใจว่า การผ่าตัดมีวิธีไหนบ้าง ขั้นตอนยังไง อันตรายไหม หลังผ่าตัดคุณภาพชีวิตจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้

การผ่าตัดเนื้องอกในไต คืออะไร?

การผ่าตัดเนื้องอกในไต (Partial Nephrectomy) คือ การผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกที่อยู่ภายในไตออก เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากการมีก้อนเนื้อจนทำให้ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกในไตทั้งประเภทก้อนเนื้องอกธรรมดา และก้อนเนื้องอกชนิดมะเร็ง

การผ่าตัดเนื้องอกในไตสามารถแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดเนื้องอกในไตแบบเปิด เป็นการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เพื่อนำก้อนเนื้องอกออกมาจากไต ในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนาน รวมถึงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียเลือดและเจ็บแผลได้มากกว่า
  • การผ่าตัดเนื้องอกในไตแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดเปิดแผลเป็นรูขนาดเล็กที่ผนังหน้าท้อง เพื่อให้แพทย์สอดกล้องผ่าตัดขนาดเล็กที่มีกำลังขยายสูง พร้อมเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปผ่านำก้อนเนื้อออกมา เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากให้แผลเล็กกว่า ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว และยังช่วยรักษาไตส่วนที่ยังทำงานได้ดีเอาไว้ได้มากกว่าด้วย
  • การผ่าตัดเนื้องในไตแบบส่องกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ เป็นการผ่าตัดที่ต่อยอดมาจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แต่แพทย์จะมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นผู้ช่วยเสริมในการผ่าตัดด้วย 

ข้อดีของการผ่าตัดในเนื้องอกในไต

การผ่าตัดเนื้องอกในไต เป็นวิธีรักษาที่มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับการผ่าตัดนำไตออก ซึ่งเป็นอีกแนวทางการรักษา เมื่อมีตรวจพบก้อนเนื้องอกที่ไต

แต่ในกรณีที่เลือกการผ่าตัดแบบนำไตออก ผู้ป่วยก็จะสูญเสียไตที่ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย เทียบกับการผ่าตัดนำแค่ในส่วนของก้อนเนื้องอกออก ผู้ป่วยจะยังรักษาไตเอาไว้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินแนวทางการผ่าตัดจากแพทย์อีกครั้ง

ข้อจำกัดของการผ่าตัดในเนื้องอกในไต

การผ่าตัดเนื้องอกในไตเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเนื้องอกในไตเป็นหลัก ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับไตหรือโรคในทางเดินปัสสาวะอื่นๆ แพทย์จะแนะนำแนวทางการผ่าตัดอื่นที่เหมาะสมกว่า

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในไตชนิดมะเร็ง หรือ “โรคมะเร็งไต” หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ในผู้ป่วยบางรายก็ยังต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่นอย่างต่อเนื่องอยู่ เช่น การทำเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา เนื่องจากการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวยังอาจไม่สามารถจำกัดเซลล์มะเร็งให้หายไปจากร่างกายได้อย่างหมดจด

ขั้นตอนการผ่าตัดเนื้องอกในไตแบบส่องกล้อง

  • วิสัญญีแพทย์วางยาสลบผู้ป่วย
  • แพทย์เจาะรูแผลขนาดเล็กประมาณไม่เกิน 2 เซนติเมตร ประมาณ 3-5 รูที่ผนังหน้าท้อง
  • แพทย์ผ่าตัดนำเนื้องอกแยกออกจากไต และนำออกมาผ่านแผลผ่าตัดที่เปิดไว้
  • ในกรณีที่ก้อนเนื้อเป็นชนิดมะเร็ง และมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะอื่นๆ ด้วย แพทย์ก็อาจพิจารณาผ่าตัดนำก้อนเนื้อหรือเซลล์มะเร็งส่วนที่แพร่กระจายนั้น รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ของร่างกายได้รับผลกระทบจากเซลล์มะเร็งออกมาด้วย
  • เย็บปิดแผล และผู้ป่วยยังต้องคาสายสวนปัสสาวะเอาไว้ก่อนอีกประมาณ 2 วัน รวมถึงท่อระบายเลือดและของเหลวภายในแผลซึ่งโดยทั่วไปจะนำออกให้ในวันที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล หรือหรือในวันนัดมาตรวจแผลหลังผ่าตัด

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเนื้องอกในไต

  • ผู้ป่วยแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัว รวมถึงวิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
  • ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์สั่งให้เรียบร้อยเสียก่อน
  • งดยาที่อยู่ในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • งดทาเล็บ ทำเล็บ งดทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว งดแต่งหน้าก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างพักฟื้นที่โรงพยาบาล

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเนื้องอกในไต

  • แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่ออีกปรมาณ 1-2 วัน
  • ในวันถัดมาหลังผ่าตัด แพทย์จะพยายามให้ผู้ป่วยลุกเดินโดยเร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รวมถึงป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการอาบน้ำ ในกรณีที่ทางสถานพยาบาลปิดแผลแบบกันน้ำให้ ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ต้องรีบซับให้แห้งหลังอาบเสร็จ และยังต้องระวังอย่าให้แผลเปียกชื้น
  • งดยกของหนัก งดออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
  • งดว่ายน้ำ งดแช่น้ำจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
  • กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอกในไต

ในกรณีที่ผู้ป่วยผ่าตัดเนื้องอกในไตด้วยเทคนิคส่องกล้อง ความปลอดภัยในการผ่าตัดถือว่ามีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตาม ทุกการผ่าตัดก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงบางประการได้ เช่น 

  • ภาวะแผลติดเชื้อ
  • ภาวะเลือดไหลออกจากแผล
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งกลับมาโตซ้ำ
  • เกิดภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่ไต หรือเป็นโรคไตเรื้อรังในภายหลัง

ราคาการผ่าตัดเนื้องอกในไต

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเนื้องอกในไตจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล รวมถึงเทคนิคการผ่าตัดที่เลือกใช้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ HDcare

ปัจจุบันเทคโนโลยีเพื่อการผ่าตัดเนื้องอกในไตนั้นมีหลายวิธี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยง รวมทั้งอาการแทรกซ้อนต่างๆ ลงไปได้มาก นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้นอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบเนื้องอกในระยะเริ่มต้น มักมีโอกาสที่ผลลัพธ์การรักษาจะมีประสิทธิภาพดีกว่า จึงต้องหมั่นสังเกตตนเองอยู่บ่อยๆ หากเมื่อไรที่มีอาการคล้ายกับเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะสีเปลี่ยนไป มีเลือดปน ปวดเอว บั้นเอว มีไข้ คลำพบก้อนที่เอว ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว

อยากปรึกษาการผ่าตัดไต ตรวจสุขภาพไต ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเนื้องอกในไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top