Default fallback image

สมองเสื่อม…ป้องกันได้จริงไหม

สมองเสื่อม (Dementia) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงวัย และมีแนวโน้มพบได้มากขึ้น  เพราะหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่เพียงเฉพาะปัญหาด้านความจำ ยังส่งผลต่อการสื่อสาร การใช้ชีวิตประจำ และคนรอบตัวผู้ป่วยได้ด้วย

การตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทันเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยชะลอความรุนแรงของโรค ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของตัวผู้ป่วยเอง และคนรอบข้างผู้ป่วย 

รู้สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม ไม่ใช่โรคเสียทีเดียว แต่เป็นคำกว้าง ๆ เรียกกลุ่มอาการที่เป็นผลมาจากการสูญเสียความสามารถของสมองในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความจำ การสื่อสาร การตัดสินใจ การทำกิจวัตรประจำวัน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและอารมณ์

ชนิดของโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของโรคสมองเสื่อมมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุที่รักษาได้ และรักษาไม่ได้ ดังนี้ 

  • อายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงให้เซลล์สมองเสื่อม จนกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะคนอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคสมองเสื่อม ความเสี่ยงของผู้ที่มีประวัติครอบครัวเดียวกันจะสูงขึ้น
  • ปัญหาสุขภาพด้านหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ล้วนมีส่วนให้หลอดเลือดในสมองอุดตันและเกิดความเสียหาย
  • การบาดเจ็บที่สมอง ทั้งกรณีที่รุนแรงและการกระแทกที่สมองซ้ำ ๆ สามารถทำให้สมองเกิดความเสียหาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม
  • โรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส การสูญเสียการได้ยิน ภาวะขาดวิตามินบี 12
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ความเครียด การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาด้านการนอน
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การได้รับสารพิษ สารเสพติด และมลภาวะต่าง ๆ 

อาการแบบไหนเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

อาการของโรคสมองเสื่อมมีความหลากหลายและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว อาจพบสัญญาณเหล่านี้

  • การสูญเสียความจำในระยะสั้น ผู้ป่วยมักลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมเหตุการณ์ในวันนี้ หรือสิ่งที่เพิ่งพูดคุยไป การจดจำสิ่งใหม่หรือเรื่องราวใหม่กลับกลายเป็นเรื่องยากขึ้น
  • ความสับสนเรื่องเวลาและสถานที่ ผู้ป่วยอาจสับสนว่าอยู่ในที่ไหนหรือเวลาใด เช่น ลืมวันที่สำคัญ หรือลืมเส้นทางกลับบ้าน
  • ความสามารถในการแก้ปัญหาและวางแผนลดลง การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน หรือใช้เวลาคิดที่นานกว่าปกติ แม้ว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ ก็ตาม
  • ความสามารถในการสื่อสารลดลง เช่น ไม่เข้าใจคำพูดของคนอื่น แม้เป็นคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เรียงลำดับคำผิด
  • ความเปลี่ยนแปลงในอารมณ์และพฤติกรรม ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หรือขาดความสนใจในสิ่งที่ชอบ
  • ความบกพร่องในการดูแลตัวเอง อย่างประสบปัญหาในการรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ โดยอาจทำไม่ถูก หรือทำไม่ได้เลย

อาการเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อมอาจถูกเข้าใจว่าเป็นอาการทั่วไปของผู้สูงอายุ จนหลายคนมองข้ามไป และตัวผู้ป่วยเองอาจไม่รู้ตัว หากคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายในข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์ และตรวจหาความเสี่ยงให้แน่ชัด

9 วิธีลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมที่ทุกคนทำได้

แม้ว่าสาเหตุของโรคสมองเสื่อมนั้นซับซ้อน แต่การควบคุมหรือจำกัดปัจจัยเสี่ยงของโรคด้วยวิธีต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้เพื่อลดความเสี่ยงสมองเสื่อม 

  1. ทำกิจกรรมฝึกสมอง เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง เช่น อ่านหนังสือ เรียนรู้ภาษาใหม่ เล่นดนตรี เล่นเกมแก้ไขปริศนา และเล่นเกมคำศัพท์ 
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง
  3. พบปะและพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรอบตัวคนอื่น ๆ อยู่เสมอ
  4. ควบคุมโรคประจำตัวอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียหายของหลอดเลือดและสมอง ทั้งในแง่ของการดูแลตัวเอง และการใช้ยารักษาโรคตามที่แพทย์สั่ง
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เน้นผักผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ปลาทะเล เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  6. ดูแลสุขภาพจิตให้ดี ด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ทำสมาธิ อ่านหนังสือ เข้าสังคม ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม
  7. นอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยขับสารพิษออกจากสมอง และรักษาการทำงานของสมองให้ดีอยู่เสมอ
  8. เข้ารับการตรวจและรักษาสุขภาพดวงตาและการได้ยินอย่างเหมาะสม เพราะการสูญเสียการรับรู้เหล่านี้ เร่งให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
  9. เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและคัดกรองโรคสมอง เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายว่ามีความเสี่ยงโรคร้ายอะไรบ้าง รวมถึงโรคความจำเสื่อม หากมีความเสี่ยงแพทย์อาจส่งตรวจเฉพาะทาง เช่น การสแกนสมอง การตรวจเลือด และอื่น ๆ ก่อนจะวางแผนการรักษา หรือหาทางป้องกันได้ทันท่วงที

โรคสมองเสื่อมกระทบคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตในหลายด้าน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การรู้จักสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวเฝ้าระวังโรค และเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ทันเวลา 

โรคสมองเสื่อมตรวจได้ อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุในบ้านต้องเสี่ยง เปรียบเทียบแพ็กเกจตรวจโรคสมอง จากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำใกล้บ้าน ในราคาสุดคุ้ม ไม่ต้องรอโปรโมชันที่ HDmall.co.th

Scroll to Top