Default fallback image

ภาวะแท้งคุกคาม ภัยเสี่ยงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง!

การมีเลือดออกหรือปวดท้องในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่หลายคนใจไม่ดี ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของ “ภาวะแท้งคุกคาม” ที่ไม่ควรมองข้าม มารู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้กัน เพื่อดูแลครรภ์ให้ปลอดภัยที่สุด

ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร 

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) เป็นภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก โดยมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะปากมดลูกปิดอยู่ อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย มักเกิดในช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไปจนถึง 20 สัปดาห์ หากรักษาไม่ทันอาจรุนแรงถึงขั้นแท้งได้

ภาวะแท้งคุกคามเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน พบได้ประมาณ 20–25% โดยครึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะแท้งจริง โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดท้องน้อย และอีกครึ่งยังสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติ

สัญญาณเตือนภาวะแท้งคุกคามที่ต้องรู้

อาการของภาวะแท้งคุกคามที่พบได้บ่อย คือ

  • มีมูกเลือดหรือเลือดไหลทางช่องคลอด อาจเป็นเลือดสดหรือสีน้ำตาลคล้ำก็ได้ ปริมาณจะมากน้อยต่างกันไป เป็นได้ไม่กี่วันไปถึงหลายสัปดาห์   
  • อาจปวดท้องน้อย ปวดหน่วงคล้ายปวดประจำเดือน อาการปวดอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจปวดร้าวไปด้านหลัง

สิ่งสำคัญคือ หากมีเลือดออกหรือปวดท้องผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตอนท้องอ่อน ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที ภาวะแท้งคุกคามอาจไม่ใช่การแท้งบุตรจริงเสมอไป แต่อาจนำไปสู่การแท้งได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

สาเหตุพบบ่อยของภาวะแท้งคุกคาม

สาเหตุของภาวะแท้งคุกคามยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบความเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย อาจเกิดจากทารกในครรภ์เอง สุขภาพของแม่ตั้งครรภ์หรือสุขภาพของพ่อก็ได้ 

โดยสาเหตุหลักและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม มีดังนี้

  • ความผิดปกติทารกในครรภ์ เช่น โครโมโซมในตัวอ่อนผิดปกติ ตัวอ่อนพิการแต่กำเนิด หรือได้รับสารเคมีที่ส่งผลต่อพัฒนาการ ทำให้ตัวอ่อนไม่พัฒนาเป็นทารกที่สมบูรณ์ ถือเป็นสาเหตุต้น ๆ ทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคามในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ 
  • ความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก อาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากการผ่าตัดก่อนตั้งครรภ์ เช่น มดลูกผิดรูป มีพังผืดในมดลูก หรือปากมดลูกไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถพยุงตัวอ่อนไว้ได้
  • อายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อายุ 35 ปีขึ้นไปมีโอกาสแท้งบุตรได้ถึง 15% และอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมากกว่า 30% เพราะฮอร์โมนเพศลดต่ำลงมาก ส่วนอายุน้อยไปก็มีโอกาสแท้งได้ แต่พบเพียง 4% เพราะฮอร์โมนยังผลิตได้ไม่เท่าวัยเจริญพันธุ์ 
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือไตวายเรื้อรัง
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มีประวัติเคยแท้งเองมาก่อน หากมีประวัติการแท้งมาแล้ว โอกาสเกิดการแท้งในครั้งต่อไปจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 20% เพิ่มเป็น 28% และ 43% 
  • ความผิดปกติของสามี เช่น อสุจิผิดปกติ กลุ่มเลือดมีปัญหา หรืออายุของคุณพ่อมากเกินไป
  • การขาดฮอร์โมนเพศ ทำให้การฝังตัวของตัวอ่อนหรือถุงตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นฮอร์โมนช่วยในการตั้งครรภ์ 
  • พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด ความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ อุบัติเหตุที่กระทบต่อมดลูกหรือบริเวณท้องน้อย การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของฮอร์โมน

หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงดังกล่าว ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย

การวินิจฉัยและการรักษาภาวะแท้งคุกคาม

เมื่อคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าในลักษณะไหน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหา

สาเหตุให้แน่ชัดว่าเป็นภาวะแท้งคุกคามหรือไม่ หรือเป็นปัญหาสุขภาพอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน การตรวจวินิจฉัยอาจใช้การตรวจหลายวิธีควบคู่กัน เช่น 

  • ซักประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุครรภ์ ลักษณะเลือดที่ออก ตำแหน่งที่เกิดอาการปวดท้อง และอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกัน 
  • การตรวจภายใน เพื่อดูปริมาณและลักษณะของเลือด ประเมินขนาดของมดลูกและการเปิดของมดลูก และความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน อย่างการติดเชื้อที่ช่องคลอดจนมีมูกเลือด
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือฮอร์โมน hCG โดยปริมาณฮอร์โมน hCG ที่ลดต่ำลงจะบ่งบอกว่าทารกเสียชีวิตหรือไม่ หรืออาจใช้ระดับฮอร์โมน hCG แยกภาวะครรภ์นอกมดลูกกับครรภ์ปกติ
  • การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อดูตำแหน่งการตั้งครรภ์ รูปร่างของมดลูกและรังไข่ และการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น และวางแผนการรักษาได้เหมาะสม 

สำหรับการรักษาภาวะแท้งคุกคามนั้นไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการของแต่ละคน เช่น ถ้าเกิดจากฮอร์โมนไม่เพียงพอ จะให้ยาเพิ่มฮอร์โมน โดยฉีดวันเว้นวันจนกว่าจะไม่มีภาวะเลือดออก หรือจนกว่าเลือดหยุด 

นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนให้เพียงพอ งดการทำงานหนักทุกชนิด งดการเดินหรือยืนนาน ๆ ลดการทำกิจกรรมที่กระทบต่อครรภ์ให้น้อยที่สุด งดมีเพศสัมพันธ์และออกกำลังกายในช่วงที่มีเลือดออก พยายามไม่เครียด 

วิธีป้องกันภาวะแท้งคุกคาม

ภาวะแท้งคุกคามเกิดได้จากหลายปัจจัย ก่อนการตั้งครรภ์ควรตรวจสุขภาพ และเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ทันที เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากพบความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะได้วางแผนการดูแลรักษาให้เหมาะสม 

นอกจากนี้ คุณแม่ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งคุกคามร่วมด้วย เช่น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด 
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง
  • ไม่ยกของหนักในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเสริมวิตามินตามคำแนะนำของแพทย์
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเองโดยไม่จำเป็น และระวังการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ

การเริ่มต้นดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ คือ ก้าวแรกของการเป็นคุณแม่ ที่เข้มแข็งและพร้อมจะปกป้องชีวิตเล็ก ๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ภายในอย่างดีที่สุด

พร้อมดูแลคุณแม่ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ด้วยแพ็กเกจฝากครรภ์ที่เน้นความปลอดภัย ความใส่ใจ และความพร้อมในทุกช่วงเวลา ที่ HDmall.co.th จองเลย!

Scroll to Top