Default fallback image

4 โรคต้อ พร้อมสาเหตุ อาการ วิธีรักษา การป้องกัน

เมื่อพูดถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา หลายคนมักนึกถึง ‘โรคต้อ’ เป็นอันดับต้นๆ แต่โรคต้อ ก็มีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะอาการ และความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป

บทความนี้จะพาไปรู้จักโรคต้อทุกประเภท ทั้ง ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน ว่าแต่ละโรคต่างกันอย่างไร มีสาเหตุมาจากปัจจัยอะไรบ้าง รวมถึงอาการเบื้องต้น วิธีรักษา และการป้องกัน

โรคต้อมีกี่ประเภท?

โรคต้อ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในดวงตาซึ่งสามารถแบ่งได้ 4 ชนิด ได้แก่ 

  • โรคต้อกระจก (Cataract)
  • โรคต้อลม (Pinguecula) 
  • โรคต้อเนื้อ (Pterygium) 
  • โรคต้อหิน (Glaucoma) 

โรคต้อแต่ละประเภทจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการมองเห็นของผู้ป่วยไม่เหมือนกัน มีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน รวมถึงมีความแตกต่างกันในส่วนของอาการ ปัจจัย วิธีรักษา รวมถึงแนวทางป้องกันด้วย

1. โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์ตาซึ่งปกติจะมีความโปร่งใสเกิดความเสื่อมจนเปลี่ยนเป็นความขุ่นมัว และทำให้แสงที่ลอดผ่านเข้ากระจกตาไม่สามารถตกลงที่จอประสาทได้ทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาการมองเห็นที่ไม่ชัด พร่ามัว คล้ายกับหมอกหรือฝ้ามาบัง 

สาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจก

  • ความเสื่อมตามวัย ทำให้พบโรคนี้ได้มากในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด โดยอาจเกิดจากพันธุกรรมหรือการติดเชื้อบางชนิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
  • การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  • การประสบอุบัติเหตุ การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา รวมถึงประวัติเคยผ่าตัดที่ตา
  • การอักเสบหรือการติดเชื้อที่ดวงตา
  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การทำงานหรือทำกิจกรรมในที่แสงแดดจัดๆ อย่างต่อเนื่อง
  • ประวัติเคยรักษาโรคด้วยการฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือดวงตา

อาการของโรคต้อกระจก

  • มองเห็นภาพซ้อน 
  • มองเห็นภาพมัวคล้ายกับมองภาพผ่านหมอกหรือฝ้า
  • มองเห็นไม่ชัดในที่กลางแจ้ง หรือมีแสงแดดมาก
  • ค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นบ่อย ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยครั้ง
  • มองเห็นสีเพี้ยน
  • เวลาขับรถตอนกลางคืนจะเห็นแสงแตกกระจายจากไฟหน้ารถที่ขับสวนกัน
  • มีฝ้าขาวบริเวณตรงรูม่านตา และยิ่งระยะของโรครุนแรงขึ้นก็จะยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ 

มองเห็นฝ้า เห็นหมอกจางๆ ในตาแบบนี้ เพราะเป็นโรคต้อกระจกหรือเปล่า ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอได้เลยที่นี่

วิธีรักษาโรคต้อกระจก

วิธีรักษาโรคต้อกระจกที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันมีวิธีเดียว คือ การผ่าตัด เพื่อนำเลนส์ตาธรรมชาติของผู้ป่วยที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมซึ่งเป็นวัสดุทดแทนทางการแพทย์เข้าไปแทน ทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยกลับมาคมชัดขึ้นอีกครั้ง 

โดยเลนส์แก้วตาเทียมสำหรับรักษาโรคต้อกระจก นอกจากจะช่วยคืนความคมชัดในการมองเห็นของผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาค่าสายตาได้อีกด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของเลนส์แก้วตาเทียมที่แพทย์เลือกใช้ซึ่งจะสามารถแก้ไขค่าสายตาได้มากสุดถึง 3 ระยะ รวมถึงแก้ปัญหาสายตาเอียงได้ด้วย 

การผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกสามารถแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 เทคนิคๆ ได้แก่

    • การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง นิยมใช้ผ่าตัดในผู้ป่วยโรคต้อกระจกในระยะที่ต้อสุกมากแล้ว ขนาดของแผลจะอยู่ที่ประมาณ 10 มิลลิเมตร และใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งเป็นวัสดุทดแทน ซึ่งมีจุดเด่นในการใส่เข้าไปในถุงรองเลนส์ได้ง่าย แต่มีจุดด้อยคือแก้ปัญหาค่าสายตาได้เพียงระยะเดียว
    • การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลเล็ก เป็นการผ่าตัดโดยใช้พลังงานเลเซอร์ และคลื่นอัลตราซาวด์ช่วยสลายเลนส์ตาธรรมชาติออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนที่จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้เข้าไปแทน ขนาดของแผลจะอยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตร นอกจากนี้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ยังแบ่งย่อยออกได้หลายชนิด เพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกันไปมากที่สุด

การป้องกันโรคต้อกระจก

  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป
  • สวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกไปทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ระมัดระวังอย่าให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ
  • พักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ
  • งดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์
  • หากมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้โรคต้อกระจกได้ง่าย ให้รีบรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือประคองอาการของโรคให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ 

2. โรคต้อลม

โรคต้อลม (Pinguecula) เป็นภาวะการเสื่อมตัวหรืออักเสบของเส้นใยในเยื่อบุตาขาวจนเกิดเป็นก้อนนูนขึ้นที่ตาขาว เป็นประเภทของโรคต้อที่พบได้ในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในกลุ่มผู้ที่ใช้สายตาอยู่ในที่โล่งแจ้ง และอยู่ท่ามกลางฝุ่นหรือมลภาวะมากๆ 

สาเหตุของการเกิดโรคต้อลม

  • ดวงตาสัมผัสกับแสงแดด ฝุ่น ควัน มลภาวะอย่างหนัก ถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคต้อลม
  • การใช้สายตาทำงานอย่างหนัก เช่น ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ
  • โรคเบาหวาน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคต้อลม

อาการของโรคต้อลม

โรคต้อลมเป็นประเภทของโรคต้อที่ไม่ได้ก่ออันตรายรุนแรง แต่ขณะเดียวกัน หากไม่รีบรักษา โรคต้อลมก็สามารถพัฒนากลายเป็นโรคต้อเนื้อได้ โดยอาการหลักๆ ของโรคต้อลมมักจะทำให้เกิดอุปสรรคหรือความรำคาญในการใช้ตามากกว่าส่งผลกระทบต่อคุณภาพการมองเห็น เช่น

  • มีก้อน ปุ่มนูน หรือแผ่นนูนสีขาวเหลืองบริเวณตาขาว ส่วนมากมักพบที่หัวตา และบริเวณดังกล่าวมักจะมีอาการบวมแดงร่วมด้วย
  • รู้สึกระคายเคืองตาบ่อย คันตา
  • มีน้ำตาไหล

วิธีรักษาโรคต้อลม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคต้อลมให้หายขาดได้ แนวทางการรักษาจึงจะเป็นการลดความเสี่ยงหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยทำให้เกิดโรคต้อลม เพื่อให้อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบรรเทาลง เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือหากจำเป็นต้องออกไปในที่โล่งแจ้ง ผู้ป่วยจะต้องใส่แว่นกันลมเพื่อป้องกันแสงแดดและมลภาวะที่ทำให้ตาระคายเคือง
  • ใช้น้ำตาเทียมเมื่อมีอาการตาแห้งหรืออาการระคายเคือง รวมถึงแพทย์อาจจ่ายยาหยอดตาอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อลดอาการระคายเคืองตาให้ผู้ป่วยด้วย
  • งดขยี้ตา
  • งดสูบบุหรี่ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการของโรคต้อลมรุนแรงขึ้น
  • หากผู้ป่วยมีความกังวลเรื่องความสวยงามของดวงตาเมื่อเป็นโรคต้อลม แพทย์ก็อาจพิจารณาการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือเลเซอร์นำก้อนต้อออกได้ แต่ในอนาคตก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

วิธีป้องกันโรคต้อลม

  • งดอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน หรือหากจำเป็นต้องออกไปทำงานหรือทำกิจกรรม ให้ใส่แว่นกันแดดแบบกันลมอยู่เสมอ นอกจากนี้หากใส่หมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันอีกชั้นได้ก็จะยิ่งช่วยป้องกันได้ดี
  • หมั่นพักสายตาเป็นระยะๆ อย่าปล่อยให้ตาล้า
  • งดขยี้ตาเมื่อมีอาการระคายเคืองตาหรือตาแห้ง แต่ให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดช่วยบรรเทาแทน 
  • หากพบอาการคันระคายเคืองตาผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์

3. โรคต้อเนื้อ

โรคต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นโรคที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากโรคต้อลม โดยเป็นภาวะการเสื่อมตัวหรืออักเสบของเส้นใยในเยื่อบุตาขาวเหมือนกัน แต่อาการจะรุนแรงกว่า และลักษณะก้อนที่นูนขึ้นจะเป็นเนื้อเยื่อสีขาวรูปสามเหลี่ยมที่มีเส้นเลือดอยู่ภายใน ซึ่งเมื่อไรที่เนื้อเยื่อนี้ยื่นเข้าไปในตาดำและไปปิดรูม่านตา ผู้ป่วยก็จะเกิดปัญหาสายตาเอียง และการมองเห็นไม่คมชัด

สาเหตุของการเกิดโรคต้อเนื้อ

ปัจจัยการเกิดโรคต้อเนื้อจะเหมือนกับโรคต้อลม เช่น การใช้ดวงตาอย่างหนัก การที่ดวงตาสัมผัสกับแสงแดด ฝุ่น ควัน มลภาวะอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้โรคต้อเนื้อยังมักเกิดจากการเป็นโรคต้อลมก่อน และอาการของโรคลุกลามรุนแรงขึ้นจนก้อนที่ตาขาวพัฒนากลายเป็นก้อนเนื้อเยื่อที่ยื่นเข้าไปปิดรูม่านตา

อาการของโรคต้อเนื้อ

อาการโดยรวมของโรคต้อเนื้อจะคล้ายกับโรคต้อลมนั่นคือ เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล และมีอาการสายตาเอียงเพิ่มเข้ามา หากก้อนเนื้อเยื่อยื่นเข้าไปในกระจกตาดำ 

วิธีรักษาโรคต้อเนื้อ

แนวทางรักษาโรคต้อเนื้อจะแบ่งออกได้ 2 แนวทาง 

สำหรับแนวทางแรกจะคล้ายกับการรักษาโรคต้อลม โดยหากอาการของโรคยังไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น เพียงแต่ก่อความรำคาญหรือเป็นอุปสรรคในการใช้ตา แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต้อเนื้อ เช่น 

  • ใส่แว่นกันแดดแบบกันลมเมื่อออกไปในที่โล่งแจ้ง 
  • หมั่นพักสายตาบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ตาล้า
  • หยอดน้ำตาเทียมเมื่อมีอาการระคายเคืองตาหรือตาแห้ง

แต่หากเมื่อไรที่ก้อนเนื้อเยื่อได้ยื่นเข้าไปในกระจกตาดำ และเริ่มส่งผลต่อคุณภาพการมองเห็นของผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยสายตาเอียง ในกรณีที่อาการลุกลามมาถึงระดับนี้ แพทย์ก็จะพิจารณาให้รักษาด้วยแนวทางที่สอง นั่นคือ การผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ป่วยจะเคยผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคต้อเนื้อซ้ำได้อีกในอนาคต ดังนั้นหลังผ่าตัด ผู้ป่วยก็ยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อเนื้ออยู่

วิธีป้องกันโรคต้อเนื้อ

  • งดการออกไปในที่โล่งแจ้ง หรือหากจำเป็นต้องออกไปทำงานหรือทำกิจกรรม ให้สวมแว่นกันแดดแบบกันลม หรืออาจสวมหมวกด้วย เพื่อป้องกันดวงตาจากแสงแดด ฝุ่นละออง ควัน มลภาวะ
  • หมั่นพักสายตาอยู่เรื่อยๆ เมื่อต้องใช้สายตาอย่างหนัก
  • หากมีอาการตาแห้งหรือระคายเคืองตา อย่าขยี้ตา แต่ให้ใช้วิธีหยอดน้ำตาเทียมช่วย 
  • หากเป็นโรคต้อลม ให้รีบรักษาให้หาย มิฉะนั้นโรคอาจลุกลามจนกลายเป็นโรคต้อเนื้อในภายหลังได้

4. โรคต้อหิน

โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นภาวะความเสื่อมของขั้วประสาทตา ทำให้จำนวนเซลล์เส้นใยประสาทในลูกตาลดลง ส่งผลให้การส่งสัญญาณประสาทไปยังสมองเพื่อให้เกิดภาพการมองเห็นลดลงตามไปด้วย ทำให้ความกว้างในการมองเห็นภาพของผู้ป่วยลดลง และค่อยๆ ลุกลามจนรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

สาเหตุของการเกิดโรคต้อหิน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต้อหินมาจากความดันลูกตาที่สูงกว่าปกติ และไปกดทับจอประสาทตาจนทำให้เส้นใยกระสาทถูกทำลาย ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความดันลูกตาที่สูงขึ้นนั้นยังไม่สามารถระบุได้ แต่มีโอกาสที่จะเกิดได้จากปัจจัยดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น 
  • ประวัติมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคต้อหิน 
  • ปัญหาสายตาสั้นหรือยาวมากเกินไป
  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • การใช้ยาเสตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ประวัติเคยประสบอุบัติเหตุที่ดวงตา

อาการของการเกิดโรคต้อหิน

โรคต้อหินจะแสดงอาการอย่างช้าๆ โดยผู้ป่วยจะมองภาพได้แคบลงเรื่อยๆ ซึ่งกินระยะเวลานานถึง 5-10 ปี ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายมักไม่รู้ตัวถึงการมองเห็นที่ผิดปกติ กว่าจะสังเกตได้และมาพบแพทย์ การมองเห็นก็แคบลงมากแล้ว หรือเริ่มสูญเสียการมองเห็นไปแล้ว

วิธีรักษาโรคต้อหิน

การรักษาโรคต้อหินจะมุ้งเน้นไปที่การลดความดันลูกตา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

  • การใช้ยาหยอดเพื่อลดการสร้างน้ำในลูกตาหรือช่วยระบายน้ำในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาลดลง จัดเป็นวิธีรักษาที่ง่าย แต่ผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในการใช้ยาสูง และต้องกลับมาตรวจผลลัพธ์ในการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัด และสม่ำเสมอ
  • การใช้เลเซอร์ช่วยควบคุมความดันลูกตา และช่วยระบายน้ำออกจากลูกตา เป็นวิธีที่สามารถกลับมาทำซ้ำได้หลายครั้ง นิยมใช้รักษาในกรณีที่วิธีรักษาด้วยการหยอดยาไม่ได้ผล แต่หลังจากรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ผู้ป่วยก็ยังต้องหยอดยารักษาโรคต้อหินต่อไป 
  • การผ่าตัดต้อหิน เพื่อระบายน้ำออกจากลูกตา แต่ในกรณีที่ระบายแล้วความดันในลูกตายังไม่ลดลง แพทย์ก็จะใช้เป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำออกจากลูกตาแทน

วิธีป้องกันโรคต้อหิน

โรคต้อหินเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เรายังสามารถลดความเสี่ยงไม่ให้โรคนี้มาสร้างผลกระทบต่อการมองเห็น หรือรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ ผ่านการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน ผู้ที่สายตาสั้นหรือยาวมากๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง

รีบดูแลสุขภาพดวงตาตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต้อทุกรูปแบบ ควรใส่แว่นตา แว่นกันลมทุกครั้งที่ออกไปในที่โล่งแจ้ง หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดโรคต้อได้ ก็ควรรีบรักษาให้หาย หรือรักษาให้อาการอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และไม่เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

และหากสังเกตเห็นความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นที่ดวงตา หรือการมองเห็นไม่คมชัดเช่นเดิม ก็ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะโรคต้อที่ตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกๆ ยังมีโอกาสรักษาให้หายหรือชะลอความเสื่อมของดวงตาได้ง่ายกว่า

มองเห็นไม่ชัดแบบนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคต้อหรือเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top