Default fallback image

การผ่าตัดเสริมหน้าอก ขั้นตอน วิธีดูแลแผล ป้องกันพังผืด

การเสริมหน้าอกเป็นศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต้องการปรับรูปร่างให้มีความมั่นใจมากขึ้น เสริมความงาม หรือแก้ไขข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น หน้าอกสองข้างไม่เท่ากัน หรือมีขนาดเล็กกว่าปกติ

บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจว่า การผ่าตัดเสริมหน้าอกมีขั้นตอนอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างไร พักฟื้นนานแค่ไหน รวมถึงวิธีดูแลตัวเองให้แผลหายเร็ว และผลลัพธ์ออกมาตรงตามต้องการ

การผ่าตัดเสริมหน้าอกคืออะไร

การเสริมหน้าอกคือการผ่าตัดเพื่อเพิ่มขนาดหรือปรับรูปทรงของหน้าอก โดยการใส่ซิลิโคน (Breast Implant) เข้าไปใต้เนื้อเยื่อหน้าอกหรือใต้กล้ามเนื้อหน้าอก หรือในบางกรณีอาจใช้ไขมันของผู้รับการผ่าตัดเอง (Fat Grafting)

วัตถุประสงค์ของการเสริมหน้าอกมีหลากหลาย ได้แก่

  • เพิ่มขนาดหน้าอกให้ดูอวบอิ่มขึ้น
  • ปรับให้หน้าอกทั้งสองข้างมีความสมดุล
  • ฟื้นฟูรูปทรงของหน้าอกที่หย่อนคล้อยหลังคลอดบุตรหรือน้ำหนักลด
  • เพิ่มความมั่นใจและส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเอง
  • เสริมหน้าอกหลังจากการรักษาโรค เช่น มะเร็งเต้านม

รูปแบบของการเสริมหน้าอก

  1. เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน เป็นเทคนิคที่พบได้บ่อยที่สุด โดยใช้ซิลิโคนที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยจาก อย. ซิลิโคนมีหลายยี่ห้อและหลายรูปทรง เช่น ทรงหยดน้ำ ทรงกลม และมีผิวแบบเรียบกับผิวทราย สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับสรีระของแต่ละคน
  2. เสริมหน้าอกด้วยไขมันตัวเอง (Fat Transfer) เป็นการดูดไขมันจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น หน้าท้อง สะโพก หรือต้นขา แล้วนำมาแยกเซลล์ไขมันบริสุทธิ์ก่อนฉีดกลับเข้าไปที่หน้าอก เทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มขนาดเล็กน้อยและมีไขมันส่วนเกินเพียงพอ

ขั้นตอนการปรึกษาแพทย์ก่อนผ่าตัด

ศัลยแพทย์จะประเมินสรีระหน้าอก พูดคุยถึงความต้องการของผู้เข้ารับการผ่าตัด และแนะนำชนิดของซิลิโคนหรือเทคนิคที่เหมาะสมกับร่างกายโดยขั้นตอนนี้มักประกอบด้วย

  • วัดสัดส่วนของร่างกาย แพทย์จะวัดขนาดรอบอก ความกว้างของทรวงอก ระยะห่างของหัวนม ความยืดหยุ่นของผิวหนัง และรูปร่างโดยรวมของร่างกาย
  • ประเมินความต้องการ เช่น ต้องการหน้าอกที่ดูเป็นธรรมชาติหรือดูชัดเจน สัดส่วนที่ต้องการ และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต 
  • ลองสวมใส่ซิลิโคนจำลอง (Sizers) แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดทดลองใส่ซิลิโคนหลากหลายขนาดและรูปทรงโดยสวมชุดชั้นในเฉพาะ เพื่อช่วยให้เห็นภาพว่าหลังผ่าตัดแล้วหน้าอกจะมีลักษณะอย่างไร ตัวอย่างที่ใช้ลองอาจมีทั้งซิลิโคนทรงกลมและทรงหยดน้ำ
  • ให้คำแนะนำเรื่องยี่ห้อและชนิดของซิลิโคน เช่น ซิลิโคนผิวเรียบ/ผิวทราย ซิลิโคนแบบนุ่มพิเศษ หรือซิลิโคนที่มีการรับประกัน
  • เลือกเทคนิคการวางซิลิโคน ว่าจะวางเหนือกล้ามเนื้อ (Subglandular) หรือใต้กล้ามเนื้อ (Submuscular) หรือ Dual plane (ครึ่งบนใต้กล้ามเนื้อ ครึ่งล่างเหนือกล้ามเนื้อ)
  • เลือกตำแหน่งแผลผ่าตัด เช่น ใต้ราวนม รอบปานนม หรือบริเวณรักแร้ โดยแต่ละตำแหน่งมีข้อดีข้อจำกัดต่างกัน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะส่งตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อม เช่น

  • ตรวจเลือด ดูค่าความเข้มข้นของเลือด ภูมิคุ้มกัน และการแข็งตัวของเลือด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) สำหรับผู้ที่อายุเกิน 35 ปี หรือมีโรคประจำตัว
  • ตรวจเต้านมหรืออัลตราซาวด์หน้าอก หากมีอาการผิดปกติหรือมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว

นอกจากนี้ ก่อนถึงวันผ่าตัด แพทย์จะให้คำแนะนำดังนี้

  1. หยุดยาและอาหารเสริมบางชนิด เช่น แอสไพริน วิตามินอี สมุนไพร หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ประมาณ 7–14 วันก่อนผ่าตัด
  2. งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนและหลังผ่าตัด
  3. งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  4. เตรียมเสื้อผ้าใส่สบาย โดยเฉพาะเสื้อแบบติดกระดุมหน้าเพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนเสื้อหลังผ่าตัด
  5. แจ้งแพทย์หากมีโรคประจำตัว หรือใช้ยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง
  6. จัดเตรียมเสื้อผ้า ที่หลวม ใส่ง่าย เช่น เสื้อกระดุมหน้าหรือเสื้อคลุม เพราะหลังผ่าตัดจะไม่สะดวกยกแขน
  7. เตรียมคนดูแล ในวันผ่าตัดและหลังกลับบ้าน โดยเฉพาะวันแรกๆ ที่ยังไม่สามารถขับรถเองหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวก

ขั้นตอนการผ่าตัดเสริมหน้าอก

ในวันผ่าตัดจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ลงทะเบียนและเซ็นเอกสารยินยอมการผ่าตัด
  2. พูดคุยกับวิสัญญีแพทย์ เพื่อเตรียมวางยาสลบและประเมินความเสี่ยง
  3. ศัลยแพทย์ทำเครื่องหมายบนร่างกาย ระบุจุดที่จะผ่าตัดและตำแหน่งการวางซิลิโคน
  4. วางยาสลบ โดยวิสัญญีแพทย์จะควบคุมให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดหลับอย่างปลอดภัย
  5. ผ่าตัดวางซิลิโคน ศัลยแพทย์จะเปิดแผลตามตำแหน่งที่เลือกไว้ แล้วสร้างโพรงสำหรับใส่ซิลิโคน จากนั้นจึงใส่ซิลิโคนที่เลือกไว้เข้าไป เสร็จแล้วจะเย็บแผลด้วยไหมละลาย และอาจใส่สายเดรนเพื่อระบายของเหลว
  6. พักฟื้นในห้องพักฟื้นประมาณ 1–2 ชั่วโมง ก่อนกลับบ้าน (หรืออาจนอนโรงพยาบาล 1 คืน ขึ้นกับคลินิกและโรงพยาบาลที่เข้ารับการผ่าตัด

การพักฟื้นหลังผ่าตัดเสริมหน้าอก

หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก มีระยะเวลาการพักฟื้น ดังนี้

  • วันแรกหลังผ่าตัด นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 คืน เพื่อดูอาการและให้ยาลดปวด
  • 3–7 วันแรก อาจมีอาการปวดตึงบริเวณหน้าอก และควรหลีกเลี่ยงการยกแขนสูงหรือยกของหนัก
  • หลัง 1 สัปดาห์ สามารถกลับมาทำกิจวัตรเบาๆ ได้ โดยยังควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ออกแรงเยอะ
  • หลัง 1 เดือน กลับมาออกกำลังกายเบาๆ ได้ และหน้าอกเริ่มเข้าที่มากขึ้น
  • หลัง 3–6 เดือน แผลจะเริ่มจางลง และหน้าอกได้รูปทรงที่ชัดเจนขึ้น

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดให้แผลหายเร็ว

ผู้เข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกควรดูแลตัวเองตามแพทย์แนะนำ ดังนี้

  • ใส่ชุดชั้นในซัพพอร์ตตามที่แพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงการกดทับหรือกระแทกบริเวณหน้าอก
  • นอนหงายและยกศีรษะสูงในช่วง 1–2 สัปดาห์แรก
  • ทำความสะอาดแผลตามวิธีที่แพทย์แนะนำ
  • ทายาหรือแผ่นลดรอยแผลเป็นเมื่อแผลเริ่มปิดสนิท
  • เข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และแจ้งหากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้าอกแข็งผิดปกติ แดง บวม หรือมีไข้

วิธีป้องกันพังผืดหลังเสริมหน้าอก

หลังการเสริมหน้าอก ควรดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดพังผืด ดังนี้

    1.  นวดหน้าอกตามคำแนะนำแพทย์ หลังผ่าตัดประมาณ 5–7 วัน (เมื่อแผลเริ่มหาย) แพทย์จะเริ่มให้นวดหน้าอกเป็นประจำ วันละ 2–3 ครั้ง เพื่อป้องกันพังผืดเกาะแน่นซิลิโคน ทำให้หน้าอกนุ่ม ไม่แข็ง แต่บางกรณี เช่น ใช้ซิลิโคนผิวทรายหรือซิลิโคนหยดน้ำ แพทย์อาจไม่แนะนำให้กดนวดแรง เพราะจะทำให้ซิลิโคนเสียทรง
    2. ดูแลแผลให้สะอาด ป้องกันการติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อเป็นสาเหตุหลักของพังผืด ดังนั้นต้องล้างแผลตามนัด และดูแลแผลให้แห้งเสมอ งดใช้ผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่น โลชั่น หรือสบู่หอมแรงบริเวณแผล รวมทั้งสังเกตอาการผิดปกติ เช่น แดง บวม ร้อน เจ็บมากผิดปกติ หรือมีหนอง หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบแจ้งแพทย์
    3. ใส่ซัพพอร์ตบรา หรือชุดชั้นในเฉพาะที่แพทย์แนะนำ เพื่อพยุงซิลิโคนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ขยับมาก และลดการเคลื่อนไหวผิดตำแหน่ง ซึ่งอาจกระตุ้นการเกิดพังผืดได้

การผ่าตัดเสริมหน้าอกเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจและปรับรูปร่างให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขั้นตอนการผ่าตัด การเตรียมตัว และการดูแลหลังผ่าตัด ควรเลือกทำกับศัลยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เสริมหน้าอกวิธีไหนดี? วิธีไหนเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับเรา? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ  หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดเสริมหน้าอก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top