ไหล่โดนกระแทกมาแรงๆ ปวดหัวไหล่มาก เสี่ยงไหล่หลุดหรือเปล่า? มีวิธีสังเกตอาการของภาวะนี้ได้อย่างไร และถ้าเป็นแล้ว ร้ายแรงมากหรือไม่ ต้องผ่าตัดเท่านั้นหรือเปล่า มาอ่านข้อมูลอย่างกระชับของนิยาม สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาภาวะข้อไหล่หลุดในบทความนี้
สารบัญ
ภาวะข้อไหล่หลุด คืออะไร?
ภาวะข้อไหล่หลุด (Dislocated Shoulder) คือ ภาวะที่หัวกระดูกข้อไหล่ซึ่งมีรูปร่างคล้ายลูกบอลหลุดออกหรือเคลื่อนที่จนอยู่ไม่ตรงกับเบ้ากระดูกหัวไหล่ โดยอาจหลุดหรือเคลื่อนไปด้านหน้า ด้านหลัง ด้านล่าง หรือทิศทางอื่นๆ แต่โดยส่วนมากที่พบได้บ่อยจะเป็นการหลุดหรือเคลื่อนไปด้านหน้า
สาเหตุของภาวะข้อไหล่หลุด
สาเหตุที่พบได้บ่อยของการเกิดภาวะข้อไหล่หลุด ได้แก่
- การเกิดอุบัติเหตุจนไหล่ได้รับบาดเจ็บ เช่น รถชน รถล้ม ตกจากที่สูง แขนถูกกระชาก หรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
- การเล่นกีฬาที่มีการชนหรือกระแทกอย่างรุนแรง รวมถึงเสี่ยงต้องหกล้ม มีการดึงกระชากกันระหว่างแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล รักบี้ ว่ายน้ำ อเมริกันฟุตบอล
- ความตึงผิดปกติของกล้ามเนื้อ โดยอาจเกิดได้จากไฟดูด ไฟช็อต โรคลมชัก แต่เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย
- อายุ โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่หลุดมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่นๆ รวมถึงหากเป็นแล้ว ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำมากกว่าด้วย เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ข้อกระดูกมีความยืดหยุ่นมากกว่า รองลงมาก็คือกลุ่มผู้ที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป
- ข้อต่อที่ยังไม่แข็งแรง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในเด็กซึ่งเป็นช่วงวัยที่ข้อต่อยังไม่แข็งแรง และมั่นคงเท่ากับวัยผู้ใหญ่ หากมีการเล่นหรือทำกิจกรรมที่มีการดึงกระชาก มีการกระแทกแรงๆ ก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้อไหล่หลุดในเด็กได้
- พันธุกรรมทางกายวิภาค ผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมชื่อว่า “โรคข้อหลวม (Joint Laxity)” จะมีเนื้อเยื่ออ่อนตรงส่วนข้อต่อที่ยืดหยุ่นกว่าปกติ ทำให้ข้อไหล่ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ยืดและหยุดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- ความยืดหยุ่นของร่างกายที่มากกว่าปกติ และเสี่ยงทำให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุดได้ง่าย มักพบได้บ่อยในกลุ่มนักกีฬาแบตมินตัน นักกีฬายิมนาสติก หรือนักกีฬาว่ายน้ำ
อาการของภาวะข้อไหล่หลุด
เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่ ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ร่วมกับรับรู้ถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- สังเกตเห็นว่ากระดูกตรงหัวไหล่มีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีก้อนนูนยื่นมาด้านหน้า ไหล่ด้านข้างดูแฟบลง
- รู้สึกปวดหัวไหล่และบริเวณโดยรอบ อาจปวดรุนแรงจนไม่สามารถขยับไหล่และแขนได้เลย
- รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มทิ่ม ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณใกล้เคียง เช่น คอ แขน สะบัก
- หากเกร็งหัวไหล่ ก็จะยิ่งรู้สึกเจ็บและปวดมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดภาวะข้อไหล่หลุด
- ทันทีที่สังเกตเห็นว่า เกิดภาวะข้อไหล่หลุด ห้ามขยับหัวไหล่กลับเข้าตำแหน่งเดิมด้วยตนเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ หรือกระดูกข้อต่อยิ่งกว่าเดิม
- ให้รีบหาอุปกรณ์มาประคองแขนไว้ เช่น ที่คล้องแขน ผ้า หมอน หรือหากไม่มี ให้ใช้มือประคองจับตรงข้อศอกไว้ก่อนเพื่อไม่ให้แขนขยับมากเกินไป จากนั้นรีบเดินทางไปพบแพทย์โดยทันที
- หากในระหว่างที่ไปพบแพทย์มีอาการเจ็บหรือปวดมาก สามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้
วิธีรักษาภาวะไหล่หลุด
การรักษาภาวะข้อไหล่หลุด สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่เกิดภาวะข้อไหล่หลุดเป็นครั้งแรก โดยวิธีที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การใช้ยาระงับปวด การใส่ที่คล้องแขนเพื่อจัดกระดูกกลับเข้าตำแหน่งเดิมเป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ และการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ หัวไหล่และแขน
- วิธีรักษาแบบผ่าตัด มักใช้รักษาในผู้ป่วยเคยมีภาวะข้อไหล่หลุดมาก่อน และกลับมาเป็นภาวะนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง ซึ่งจะส่งผลเสียทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในข้อไหล่ไม่สามารถซ่อมแซมคนเองได้อีก และอาจทำให้เกิดภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึกหรือหัก ทำให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุดซ้ำต่อไปเรื่อยๆ อีก ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 เทคนิคผ่าตัด ได้แก่
- การผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบเปิด นิยมใช้รักษาในผู้ป่วยที่เกิดภาวะข้อไหล่หลุดซ้ำๆ จนมีภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึกเกิน 15-25% แพทย์จึงจะผ่าตัดเพื่อตัดนำกระดูกกลุ่มโคราคอยด์ โพรเซส (Coracoid Process) มาเสริมที่บริเวณเบ้าหัวไหล่
- การผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบส่องกล้อง นิยมใช้รักษาในผู้ป่วยที่กระดูกข้อไหล่สึกหรอเพียงเล็กน้อย หรือกระดูกข้อไหล่ไม่ได้มีความเสียหายรุนแรง แพทย์จึงจะเจาะรูแผลขนาด 0.5-1 เซนติเมตรจำนวน 3-4 จุด เพื่อนำกล้องผ่าตัดและอุปกรณ์เข้าไปเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อไหล่และหมอนรองข้อไหล่ที่ฉีดขาด
ภาวะข้อไหล่หลุดเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด แต่ก็ยังสามารถรักษาให้ข้อต่อกลับมาเป็นปกติได้ ทั้งด้วยวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมินวิธีรักษาที่เหมาะสมเท่านั้น
หากทำกิจกรรม หรือประสบอุบัติเหตุจนสังเกตว่าข้อไหล่ตนเองผิดปกติไปจากเดิม มีอาการปวดหรือเจ็บอย่างรุนแรง อย่าพยายามดันข้อไหล่กลับเอง เพราะจะยิ่งมีโอกาสที่ข้อต่อจะบาดเจ็บยิ่งกว่าเดิมได้
เจ็บไหล่แบบนี้ มองกระจกแล้วไหล่นูนหรือแฟบลงแบบนี้ เพราะเป็นข้อไหล่หลุดหรือเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย