โรคนิวโมคอคคัส (Pneumococcal disease) ก่อให้เกิดการอักเสบที่ปอดและการติดเชื้อรุนแรงในหลายอวัยวะ เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตในเด็กและผู้สูงอายุเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย แม้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่อาจเสี่ยงต่อการดื้อยาตามมา
การฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสตั้งแต่แรกเริ่ม จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและแพร่กระจายในอนาคตได้ มาทำความรู้จักตัวโรคและวัคซีนชนิดนี้ให้มากขึ้นกัน
สารบัญ
โรคนิวโมคอคคัส คืออะไร
โรคนิวโมคอคคัสหรือคุ้นกันในชื่อ โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) ที่พบในระบบทางเดินหายใจคนเรา
เมื่อร่างกายอ่อนแออาจก่ออาการป่วยขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว หากใครที่ติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว ก็จะยิ่งติดเชื้อนี้ได้ง่ายขึ้นด้วย
โรคนิวโมคอคคัสพบบ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสูดละอองเชื้อที่มาจากการไอจามของผู้ป่วย
แม้จะเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่กลับพบปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การรักษาทำได้ยากหรือซับซ้อนตามไปด้วย
เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือวัคซีนปอดอักเสบที่เรียกทั่วไป
โรคนิวโมคอคคัสอันตรายอย่างไร
เชื้อนิวโมคอคคัสมีมากกว่า 90 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 15 สายพันธุ์ คือ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F, 22F, 23F และ 33F
บางสายพันธุ์ก่อโรคบ่อยแต่ไม่รุกราน (Non-invasive pneumococcal disease) ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการมักไม่รุนแรง คล้ายโรคติดเชื้อทั่วไป เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และโพรงไซนัสอักเสบ
บางสายพันธุ์ก่อโรครุกรานหรือโรคไอพีดี (Invasive pneumococcal disease: IPD) อาการมักรุนแรงและแพร่กระจายไปส่วนอื่น เช่น ปอดอักเสบรุนแรง การติดเชื้อในกระแสเลือด และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เสี่ยงเกิดอาการรุนแรง จนอาจพิการหรือเสียชีวิตได้
ใครควรฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสบ้าง
โรคนิวโมคอคคัสเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง จึงควรฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสตั้งแต่เนิ่น ๆ
วัคซีนนิวโมคอคคัสมีกี่ชนิด
วัคซีนนิวโมคอคคัสหรือวัคซีนปอดอักเสบมีอยู่ 2 ชนิดหลัก คือ
- วัคซีน PCV หรือวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต (Pneumococcal conjugate vaccine: PCV) ใช้ในเด็กและผู้ใหญ่ ครอบคลุมสายพันธุ์หลักที่ระบาดและก่อให้เกิดโรค ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C 19A, 19F, 22F, 23F และ 33F
- วัคซีน PPSV หรือวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์ (Pneumococcal polysaccharide vaccine: PPSV ) วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันครอบคลุมสายพันธุ์มากขึ้น ได้แก่ 2, 9N, 17F และ 20
ควรฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสเมื่อไหร่
ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้วัคซีน PCV เป็นหนึ่งในวัคซีนเสริมสำหรับเด็กที่พ่อแม่ควรให้ลูกฉีด
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 4–8 สัปดาห์ หรือฉีดในเดือนที่ 2, 4 และ 6 แล้วฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็มในเดือนที่ 12–15 บางกรณีอาจข้ามเดือนที่ 6 ไปฉีดเดือนที่ 12 เป็นเข็มที่ 3 แทนได้
ผู้ใหญ่ อายุ 18–64 ปี ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีน PCV 1 เข็ม บางคนอาจต้องฉีดวัคซีน PPSV เพิ่มเติมตามแพทย์แนะนำ เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อมากขึ้น โดยเว้นระยะอย่างน้อย 1 ปีจากวัคซีน PCV เข็มแรก
คำแนะนำก่อนฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัส
ก่อนฉีดวัคซีนควรแจ้งประวัติสุขภาพและการใช้ยากับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ เพราะอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น คนที่มีประวัติแพ้วัคซีนคอตีบมาก่อนห้ามฉีดวัคซีน PCV
เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำหลังป่วยไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรค แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย โดยฉีดพร้อมวัคซีนนิวโมคอคคัสในวันเดียวกันได้ แต่ควรฉีดคนละข้าง
วัคซีนนิวโมคอคคัสอาจเกิดผลข้างเคียงได้เหมือนวัคซีนทั่วไป แต่อาการมักไม่รุนแรง และหายได้เองในไม่กี่วัน เช่น ปวดบวมจุดที่ฉีดยา มีไข้ ง่วงซึม เบื่ออาหาร ท้องเสีย หรืออาเจียน หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หลังฉีดวัคซีน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทันที
วัคซีนนิวโมคอคคัสถือเป็นวัคซีนเสริมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการ คนที่สนใจหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง สามารถปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนได้
เสริมความคุ้มกันให้ปอดอีกขั้น ฉีดก่อนเสี่ยง ดู โปรวัคซีนนิวโมคอคคัส จากคลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ ราคาพิเศษเฉพาะจองผ่าน HDmall.co.th ช้าหมดนะ!
TH-PVC-00201