โรคซิฟิลิสเป็นภัยเงียบที่คุกคามคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อย คุณแม่ท้องหลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงอันตรายของโรคนี้ รวมถึงวิธีการป้องกัน วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัย 8 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซิฟิลิสในคนท้อง เพื่อให้คุณแม่ทุกคนได้เตรียมพร้อมรับมือ และดูแลสุขภาพของตนเอง และลูกน้อยได้อย่างดีที่สุด
สารบัญ
- 1. คนท้องติดเชื้อซิฟิลิสได้ไหม?
- 2. อาการของโรคซิฟิลิสในคนท้องเป็นอย่างไร?
- 3. คนท้องติดเชื้อซิฟิลิสอันตรายไหม?
- 4. โรคซิฟิลิสส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างไร?
- 5. ซิฟิลิสกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?
- 6. เคยติดเชื้อซิฟิลิส สามารถมีลูกได้ไหม?
- 7. โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม?
- 8. การป้องกันโรคซิฟิลิสทำได้อย่างไร?
1. คนท้องติดเชื้อซิฟิลิสได้ไหม?
ตอบ: คนท้องมีโอกาสติดเชื้อซิฟิลิสได้ เพราะซิฟิลิสนั้นเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งสามารถติดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือการสัมผัสกับแผลจากคู่เพศสัมพันธ์ที่ติดเชื้อ
2. อาการของโรคซิฟิลิสในคนท้องเป็นอย่างไร?
ตอบ: สำหรับอาการคนท้องติดซิฟิลิสเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีอาการแบ่งเป็นระยะของโรค ดังนี้
- ระยะที่ 1 : สำหรับระยะแรกอาการที่พบก็คือจะเกิด แผลริมแข็ง (Chancre) มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ ตรงบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งแผลนี้สามารถหายเองได้ภายใน 3-6 สัปดาห์
- ระยะที่ 2 : เชื้อจะเริ่มแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ลักษณะอาการที่พบในระยะนี้ คือ ผื่นสีแดงน้ำตาลกระจายทั่วลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีผมร่วง ตุ่มนูนที่บริเวณอวัยวะเพศ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการนี้มักจะพบภายใน 2-8 สัปดาห์
- ระยะแฝง : ระยะนี้จะเป็นระยะแฝง เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆ จะต้องตรวจเลือด ถึงจะพบว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกาย และยังเป็นระยะที่ตรวจพบมากในคนท้อง
- ระยะที่ 3 : เป็นระยะรุนแรงที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ระยะนี้เชื้อจะเริ่มแพร่ไปทำลายอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น หัวใจ ระบบประสาท และหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงสูญเสียความทรงจำ หรือเสียชีวิตได้
3. คนท้องติดเชื้อซิฟิลิสอันตรายไหม?
ตอบ: อันตราย เพราะ โรคซิฟิลิสสามารถแพร่ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ 100% ซึ่งอาจทำให้ทารกเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง รวมถึงยังมีโอกาสทำให้เกิดการแท้ง และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
4. โรคซิฟิลิสส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างไร?
ตอบ: ถ้าหากคนท้องไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง หรือไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ได้ ดังนี้
- ทารกโตช้าในครรภ์
- คลอดก่อนกำหนด
- ทารกน้ำหนักตัวน้อย
- ทารกพิการจากติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด
- พัฒนาการของระบบประสาทและสติปัญญาล่าช้า
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือตายคลอด
5. ซิฟิลิสกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?
ตอบ: เมื่อรักษาโรคซิฟิลิสหายขาดแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ถ้าหากทำพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง หรือได้รับเชื้ออีกครั้ง เช่น มีเพศสัมพันธ์ เช่น ติดเชื้อซ้ำจากคนที่ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง
6. เคยติดเชื้อซิฟิลิส สามารถมีลูกได้ไหม?
ตอบ: โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่ไม่สามารถหายเองได้ จะต้องได้รับการตรวจ และการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ถ้าหากได้รับการรักษาจนหายขาด และผลเลือดมีค่าเป็นลบ ก็สามารถมีลูกได้
7. โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม?
ตอบ: โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะเลือกใช้ยา Benzathine penicillin G ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในการรักษา ซึ่งปริมาณของยาและระยะเวลาในการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
8. การป้องกันโรคซิฟิลิสทำได้อย่างไร?
ตอบ: การป้องกันโรคซิฟิลิสในคนท้องสามารถทำได้หลายวิธี หนึ่งในวิธีป้องกันโรคซิฟิลิสที่สำคัญเลย คือ เน้นการป้องกันทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อซิฟิลิสได้มาก
และการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้ตรวจพบเชื้อซิฟิลิส หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบว่ามีการติดเชื้อ ก็จะสามารถรักษาให้หายก่อนที่จะตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งแม่และทารก
คุณแม่ท้องคนไหนที่กำลังมองหาแพ็กเกจตรวจโรคซิฟิลิส สามารถเลือกดูและจองแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสได้ง่ายๆ ที่ HDmall.co.th จองนัดหมายตรวจได้ง่ายๆ แบบครบวงจร ในราคาพิเศษ เพียงไม่กี่คลิก เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์