ตับแข็งเป็นโรคตับที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงถึงชีวิต โดยเฉพาะตับวายหรือภาวะตับล้มเหลว และโรคมะเร็งตับ ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจว่า ตับแข็งเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก จริง ๆ แล้ว ตับแข็งเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ
บทความนี้จะชวนทุกคนไปรู้จักกับโรคตับแข็งให้มากขึ้น ทั้งตัวโรคเอง ปัจจัยเสี่ยงที่หลายคนอาจเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัว และการตรวจสุขภาพตับที่ไม่ควรละเลย
สารบัญ
โรคตับแข็ง คืออะไร
โรคตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะของโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นผลมาจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ การติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่น ทำให้เกิดแผลเป็นหรือพังผืดยึดเกาะเกิดขึ้นทั่วตับ ทำให้ตับสูญเสียการทำงานไป
เดิมทีตับมีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด ช่วยในเรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน จัดการกับสารอาหาร และอีกหลายหน้าที่ เมื่อเกิดตับแข็ง ตับจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น การติดเชื้อ ม้ามโต โรคความดันโลหิตสูง ดีซ่าน และโรคมะเร็งตับ
สาเหตุของโรคตับแข็ง ไม่ใช่มีแค่การดื่มแอลกอฮอล์
โรคตับแข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซี
- ตับอักเสบจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
- ภาวะไขมันพอกตับ หรือโรคตับคั่งไขมัน
- ภาวะธาตุเหล็กเกิน
- โรคท่อน้ำดีอักเสบ หรือท่อน้ำดีตีบตัน
- โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ทำให้ร่างกายสร้างเมือกมากกว่าปกติ
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคซิฟิลิส โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)
- การได้รับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิดเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง กลไกหลักของการเกิดโรค คือ ตับทำงานหนักหรืออักเสบมากกว่าปกติ จนเกิดการเสื่อมของเซลล์ตับเป็นเวลานาน เป็นผลทำให้เกิดพังผืดที่ตับ และเกิดโรคตับแข็งขึ้น
ฉีดวัคซีนตับอักเสบบี ตัดความเสี่ยงของโรคตับแข็งได้อีกทาง คลิกจองโปรฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ ราคาสบายกระเป๋าที่ HDmall.co.th
อาการแบบไหนเสี่ยงเป็นตับแข็ง
โรคตับแข็งมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก พอตับได้รับความเสียหายมากขึ้น อาจพบอาการต่อไปนี้
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ฝ่ามือแดง ผิวเป็นจ้ำเลือด ช้ำง่าย เลือดออกง่าย
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- คลื่นไส้
- คันตามผิวหนัง
- มีอาการบวมตามเท้า ข้อเท้า ขา หรือท้อง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ประจำเดือนผิดปกติ
- อารมณ์ทางเพศลดลงในผู้ชาย
นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน หากพบอาการในข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน
โรคตับแข็งรักษาได้ไหม
โรคตับแข็งเป็นโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย การรักษาอาจช่วยให้ตับกลับมาทำงานได้ แต่จะไม่ดีเท่าเดิม โดยจะเน้นรักษาต้นเหตุของโรค เพื่อชะลอไม่ให้เนื้อตับถูกทำลาย ไปมากกว่าเดิม และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การใช้ยาต้านไวรัสบีหรือซี การหยุดดื่มแอกอฮอล์
กรณีตับเสียหายมาก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจนควบคุมไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการปลูกถ่ายตับใหม่
เช็กความเสี่ยงโรคตับแข็งได้อย่างไร
การตรวจดูสุขภาพตับว่าเข้าข่ายเป็นตับแข็งหรือไม่ เบื้องต้นจะใช้การตรวจเลือด เพื่อหาร่องรอยความผิดปกติของตับ เช่น ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตรวจค่าตับ ตรวจการแข็งตัวของเลือด
หลังจากนั้นจะตรวจเพิ่มเติม แล้วแต่ความเสี่ยงแต่ละคน เช่น การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี จะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ และความยืดหยุ่นของตับ ตรวจได้จากหลายวิธี
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจวัดพังผืดของตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance elastography: MRE) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั่วไป
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Abdominal ultrasound)
- การตรวจไฟโบรสแกน (Fibroscan) เพื่อตรวจหาไขมันที่สะสมอยู่ในตับ และพังผืดในเนื้อตับโดยเฉพาะ สามารถค้นหาโรคตับแข็งได้ตั้งแต่ระยะแรก
รวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อจากตับ เพื่อเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อตับออกมา และส่งเข้าห้องปฏิบัติการ
หากคุณมีความเสี่ยงของโรคตับแข็ง ควรเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม สำหรับคนทั่วไป ควรดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคตับ อย่างงดดื่มแอลกอฮอล์ รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ กินอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ใช้ยาและอาหารเสริมเท่าที่จำเป็น
ไม่ดื่มก็เสี่ยงตับแข็งได้ รู้ทันความเสี่ยง เช็กเลยอย่าช้า ลองดู โปรตรวจสุขภาพตับ มีเลือกตรวจเฉพาะบางรายการ และตรวจชุดใหญ่ เลือกรพ. ตรวจใกล้บ้านได้ที่ HDmall.co.th