Default fallback image

8 เรื่องต้องรู้ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

การฉีดวัคซีนงูสวัดเป็นวิธีป้องกันโรคงูสวัดที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีให้เลือกฉีดอยู่ 2 ชนิด หลายคนอาจยังไม่รู้จักวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดละเอียดนัก บทความนี้ จะมาแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนงูสวัด เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจเบื้องต้นกัน 

1. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมี 2 ชนิด

ตอบ: วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคือ การกระตุ้นหรือสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคงูสวัด มักเกิดบ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุมาก 50 ปีขึ้นไป 

งูสวัดจะก่ออาการทางผิวหนังซีกใดซีกหนึ่ง โดยเฉพาะปวดแสบปวดร้อน ผื่นแดงคัน ปื้นตุ่มน้ำพองใสตามแนวเส้นประสาทบริเวณเอวหรือใต้ชายโครง และอาการปวดเส้นประสาท (Postherpetic neuralgia: PHN) 

งูสวัดไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง สามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด และลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ปัจจุบันในบ้านเรามีใช้กันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดเชื้อเป็น ทำจากเชื้อไวรัสที่ทำให้มีฤทธิ์อ่อนลง ฉีดจำนวน 1 เข็ม  
  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดซับยูนิต ทำจากโปรตีนของไวรัสทดแทน ฉีดจำนวน 2 เข็ม 

2. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด มีทั้งแบบฉีด 1 เข็ม และ 2 เข็ม

ตอบ: วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดเชื้อเป็น จะฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังเพียง 1 เข็มเท่านั้น เข็มละ 0.65 มิลลิลิตร ส่วนวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดซับยูนิต ซึ่งเป็นชนิดใหม่จะฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ทั้งหมด 2 เข็ม เข็มละ 0.5 มิลลิลิตร โดยเว้นระยะห่างแต่ละเข็มที่ 2–6 เดือน ตามแพทย์แนะนำ

3. ผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด  

ตอบ: โรคงูสวัดพบบ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนงูสวัดในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มเสื่อมถอยตามอายุ ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อไวรัสงูสวัดได้ง่าย และเกิดอาการรุนแรงได้สูง 

รวมถึงแนะนำให้ฉีดในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดทั้ง 2 ชนิดจะเหมาะกับกลุ่มคนต่างกัน ดังนี้

  • วัคซีนชนิดเชื้อเป็น เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยกเว้นคนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันและสตรีตั้งครรภ์
  • วัคซีนชนิดซับยูนิต เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งเคยและไม่เคยฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นมาก่อน คนอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) รวมถึงป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวานหรือโรคไต 

กรณีอายุยังไม่ถึงหรือเงื่อนไขไม่ตรงเกณฑ์ที่แนะนำ แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส และไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนงูสวัด เพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส

4. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดไม่เหมาะกับคนบางกลุ่ม

ตอบ: แม้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่อาจส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยงบางรายได้ จึงห้ามฉีดวัคซีนในกลุ่มคนต่อไปนี้

  • คนที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด หรือเคยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อวัคซีนนี้มาก่อน
  • คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง 
  • สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีวิจัยด้านความปลอดภัยเพียงพอ 

สำหรับคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่หรือชนิดซับยูนิตทดแทน หากพิจารณาแล้วว่าสมควรและปลอดภัย 

กรณีมีอาการป่วยเล็กน้อยก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนงูสวัด แพทย์อาจอนุญาตให้ฉีดวัคซีนได้ แต่หากมีไข้สูงหรือป่วยปานกลางถึงหนัก แพทย์จะพิจารณาให้เลื่อนการฉีดไปก่อนจนกว่าจะหายดี

5. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดไม่ควรฉีดพร้อมกับวัคซีนบางชนิด

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดไม่ควรฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมชนิด 23 สายพันธุ์ เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง คนที่มีกำหนดฉีดวัคซีนปอดอักเสบ หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนงูสวัด

6. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดปลอดภัย ผลข้างเคียงไม่รุนแรง 

ตอบ: วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดปลอดภัยต่อร่างกาย โดยเฉพาะวัคซีนชนิดซับยูนิต แต่อาจมีผลข้างเคียงไม่รุนแรงเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดงผิวหนังตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ หรือมีไข้ต่ำ เพียงไม่กี่วันก็หายดี

บางคนอาจพบผลข้างเคียงรุนแรง แต่พบได้น้อย เช่น ผื่นลมพิษ ใบหน้าหรือลำคอบวม หายใจลําบาก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ หรืออ่อนแรง หากพบอาการดังกล่าวหลังฉีดวัคซีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหรือไปพบแพทย์ทันที  

7. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดป้องกันโรคได้นาน

ตอบ: วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันงูสวัด และอาการปวดเส้นประสาทจากงูสวัดที่มักเป็นเรื้อรังหลังหายจากโรคแล้ว ดังนี้

  • วัคซีนชนิดเชื้อเป็นป้องกันงูสวัดได้ 50% และอาการปวดเส้นประสาทได้ 70% ประสิทธิภาพในการปกป้องราว 8 ปี
  • วัคซีนชนิดซับยูนิตป้องกันงูสวัดได้ 97% และอาการปวดเส้นประสาทได้ 91% ประสิทธิภาพในการปกป้องราว 10 ปี

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดอาจมีประสิทธิภาพลดลงหลังผ่านไปแล้ว 3–4 ปี แต่ยังเพียงพอต่อการป้องกันโรคได้

8. งูสวัดเป็นซ้ำได้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดหลังหายดีแล้ว

ตอบ: งูสวัดเป็นซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำ แม้เคยเป็นงูสวัดมาแล้ว ก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แนะนำให้ฉีดวัคซีนหลังหายจากงูสวัดไปแล้ว 6–12 เดือน หรือตามคำแนะนำของแพทย์

งูสวัดเป็นโรคทางผิวหนังที่แอบซ่อนในร่างกายและรอวันกำเริบ หากใครเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนก็จะมีความเสี่ยงสูงในอนาคต จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเมื่ออายุถึงเกณฑ์ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคและความรุนแรงของโรคให้น้อยลง

อายุถึงเกณฑ์ฉีดวัคซีนงูสวัดหรือยังนะ ลองดู แพ็กเกจฉีดวัคซีนงูสวัด จาก รพ. ใกล้บ้าน จองผ่าน HDmall.co.th ได้ราคาดี แบบนี้หาที่ไหนไม่ได้แล้วนะ

Scroll to Top