มะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar cancer) เป็นเนื้องอกร้ายที่เกิดบริเวณปากช่องคลอด หรือด้านนอกของอวัยวะเพศหญิง เช่น ปากช่องคลอด แคมนอก แคมใน เนินหัวหน่าว คลิตอริส หรือต่อมบาร์โธลินที่อยู่แต่ละข้างของช่องคลอด
มะเร็งปากช่องคลอดพบได้ไม่บ่อยเมื่อเทียบกับมะเร็งทางนรีเวชชนิดอื่น เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มักจะพบได้ในผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี
สารบัญ
อาการของโรคมะเร็งปากช่องคลอด
- รู้สึกคันบริเวณปากช่องคลอดตลอดเวลา
- ปวด แสบหรือตึง ๆ บริเวณปากช่องคลอด
- เกิดแผ่นเนื้อหนานูนขึ้นบนผิวหนัง อาจเป็นสีแดง สีขาว หรือสีเข้มกว่าบริเวณข้างเคียง
- มีก้อนเนื้อ หรือโตคล้ายหูดขึ้นบริเวณปากช่องคลอด
- มีเลือดออกจากปากช่องคลอด หรือตกขาวปนเลือดระหว่างช่วงประจำเดือน
- มีแผลเปิดบริเวณปากช่องคลอด
- ปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ
- เกิดตุ่มไฝที่ปากช่องคลอด โดยไฝดังกล่าวจะมีรูปร่างหรือสีที่ผิดปกติกว่าไฝทั่วไป
หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจและวินิจฉัยให้แน่ชัด
สาเหตุของโรคมะเร็งปากช่องคลอด
โรคมะเร็งช่องคลอดยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่อาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น
อายุมากกว่า 65 ปี
ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากช่องคลอดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ มักพบในผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่อาจเกิดในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 50 ปีได้บ้างเช่นกัน
ความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุปากช่องคลอง (Vulvar intraepithelial neoplasia: VIN)
เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุปากช่องคลอดอย่างค่อยเป็นค่อยไป มักใช้เวลานานกว่า 10 ปี เซลล์ที่ผิดปกติอาจหายไปเอง หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง จึงมักแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคตามความเสี่ยง หากตรวจพบจะได้กำจัดเซลล์ที่ผิดปกติออก
ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 ปี คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV และผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี อาจเป็นความผิดปกติของผิวหนังตรงปากช่องคลอด
การติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human papilloma virus
ไวรัส HPV เป็นชื่อของกลุ่มไวรัสที่มีผลต่อผิวหนังและเยื่อบุผิวในปากมดลูก ทวารหนัก ช่องปาก และลำคอ ไวรัสสามารถติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก และทางช่องปาก
เชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางสายพันธุ์มักเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งปากช่องคลอดด้วย
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมีประสิทธิภาพน้อยลง เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ ก็อาจกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ไม่ดีนัก และอาจทำให้เซลล์ของร่างกายเกิดความผิดปกติ
ความผิดปกติของผิวหนัง
ความผิดปกติหรือโรคผิวหนังหลายชนิดเป็นอีกปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากช่องคลอด โดยเฉพาะโรคผิวหนังอักเสบชนิดแห้งฝ่อ (Lichen sclerosus) และโรคไลเคน พลานัส (Lichen planus)
ทั้งสองโรคจะทำให้เกิดอาการคัน เจ็บ บริเวณปากช่องคลอด สีผิวหนังปากช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป และยังพบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคดังกล่าว มักเกิดโรคมะเร็งปากช่องคลอดขึ้นในภายหลัง
สาเหตุอื่น ๆ
เช่น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอจากบางสาเหตุ เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้ยา หรือโรคเอดส์
การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากช่องคลอด
แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ ร่วมกับการตรวจภายใน (Pelvic exam) เพื่อหาร่องรอยของโรค และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อตรงปากช่องคลอดบางส่วนไปตรวจหาความผิดปกติ
กรณีผลตรวจบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง อาจมีการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง และประเมินระยะของมะเร็ง เช่น
- การส่องกล้องตรวจช่องคลอด (Colposcopy)
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy)
- การส่องกล้องตรวจไส้ตรง (Proctoscopy)
- การตัดตรวจชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลืองใกล้ปากช่องคลอด เพื่อตรวจสอบว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองหรือไม่
- การถ่ายรังสีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาร่องรอยมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย
- การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ เพื่อตรวจสอบว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังปอดหรือไม่
ระยะของโรคมะเร็งปากช่องคลอด
มะเร็งปากช่องคลอดแบ่งได้ 4 ระยะ ยิ่งมีค่าที่ต่ำแสดงถึงว่าเซลล์มะเร็งลุกลามน้อย และโอกาสในการรักษามีมากขึ้น
- ระยะที่ 1 มะเร็งยังจำกัดอยู่ที่ปากช่องคลอด
- ระยะที่ 2 มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ช่องคลอดส่วนล่าง ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะส่วนล่าง แต่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงยังจะไม่ได้รับผลกระทบ
- ระยะที่ 3 มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลมากขึ้น
มะเร็งในช่องคลอดระยะที่ 1 และ 2 มักถูกเรียกว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก ซึ่งมีโอกาสรักษาแล้วหายขาดมากกว่า ส่วนมะเร็งระยะที่ 3 และ 4 มักเรียกว่ามะเร็งขั้นลุกลาม หรือขั้นสูง การรักษาให้หายขาดเป็นไปได้ยาก
การรักษาโรคมะเร็งปากช่องคลอด
การรักษามะเร็งปากช่องคลอดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดก้อนมะเร็ง ตำแหน่งที่เกิดโรค อายุ สุขภาพผู้ป่วย ความต้องการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
- มะเร็งปากช่องในระยะที่ 1 มักจะใช้การผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษา วิธีใดวิธีหนึ่ง
- มะเร็งปากช่องในระยะลุกลามแล้ว ตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไป มักเป็นการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธี คือ การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด
หลังจากการรักษาแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งกลับซ้ำถึง 1 ใน 3 ผู้ป่วยควรต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบเป็นระยะว่ามะเร็งไม่ได้กลับมาเป็นซ้ำ
การป้องกันโรคมะเร็งปากช่องคลอด
ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งปากช่องคลอดได้เต็มร้อย แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคลงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส HPV
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัส HPV และภาวะก่อนเป็นมะเร็ง เช่น ภาวะเซลล์ผิดปกติที่เยื่อบุปากช่องคลอด (VIN) ได้ก่อน
- ไม่สูบสูบบุหรี่
- ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่ช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ได้มากถึง 90%