liver function tests screening process

ตรวจการทำงานของตับ ตรวจอะไร มีอะไรบ้าง

อาการปวดท้องเรื้อรัง ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือรู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตับ การตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Tests) เป็นสิ่งสำคัญในการค้นหาสาเหตุของอาการเหล่านี้ เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Tests) มีอะไรบ้าง?

การตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Tests: LFTs) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการทำงานของตับอย่างครอบคลุม โดยเน้นการตรวจระดับเอนไซม์และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ เพื่อช่วยวินิจฉัยและติดตามโรคต่างๆ เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตับ การตรวจการทำงานของตับมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ รวมทั้งความรุนแรงของอาการ ดังนี้

1. การตรวจเลือด เพื่อประเมินการทำงานของตับ

การตรวจเลือดที่ใช้ในการประเมินการทำงานของตับมีด้วยกันหลายรายการ โดยแต่ละรายการมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • AST (Aspartate Aminotransferase) และ ALT (Alanine Aminotransferase)
    เป็นการตรวจเอนไซม์ที่พบในเซลล์ตับ หากมีค่าสูงเกินมาตรฐาน แสดงถึงความเสียหายของเซลล์ตับ เช่น ตับอักเสบ หรือภาวะตับอ่อนแอ

    • ค่าปกติของ AST ในผู้ชาย คือ 10 – 40 U/L ในผู้หญิง คือ 9 – 32 U/L
    • ค่าปกติของ ALT อยู่ที่ประมาณ 7 – 56 U/L
  • ALP (Alkaline Phosphatase)
    เป็นการตรวจเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับท่อน้ำดี หากมีค่าสูงอาจบ่งบอกถึงภาวะท่อน้ำดีอุดตัน หรือโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โดยค่าปกติของ ALP โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ120 U/L
  • Bilirubin
    เป็นการตรวจเม็ดสีที่เกิดจากการสลายตัวของฮีโมโกลบิน หากมีค่าสูงอาจแสดงถึงภาวะตัวเหลือง ตับอักเสบ หรือภาวะอุดตันของทางเดินน้ำดี โดยค่าปกติของ Bilirubin อยู่ที่ประมาณ 0.1-1.2 mg/dL
  • Albumin และ Total Protein
    เป็นการตรวจโปรตีนที่ผลิตโดยตับ หากมีค่าต่ำอาจแสดงถึงภาวะตับไม่สามารถผลิตโปรตีนได้เพียงพอ มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง โดยค่าเฉลี่ยของ Albumin อยู่ที่ประมาณ 3.5 – 5.0 g/dL
  • Gamma-glutamyl Transferase (GGT)
    เป็นการตรวจเอนไซม์ที่บ่งบอกถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับท่อน้ำดีและตับ โดยค่าปกติของ GGT อยู่ที่ประมาณ 5 – 40 U/L.

2. การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง CA19-9

การตรวจ CA19-9 (Carbohydrate Antigen 19-9) เป็นการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง มักใช้ในการตรวจติดตามโรคมะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งตับ

หากระดับ CA19-9 สูงขึ้น อาจบ่งชี้ถึงการมีมะเร็ง หรือภาวะการอักเสบในระบบตับและทางเดินน้ำดี แต่ไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคมะเร็งได้เพียงอย่างเดียว ต้องใช้ร่วมกับการตรวจอื่นๆ เพื่อยืนยันผล

ทั้งนี้ค่า CA19-9 ในคนปกติ ควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 37 U/mL.

3. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการประเมินตับและอวัยวะโดยรอบ เช่น ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน สามารถใช้เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ นิ่วในถุงน้ำดี หรือการอักเสบของอวัยวะในช่องท้องส่วนบน

การตรวจอัลตราซาวด์มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องใช้สารทึบแสง ไม่เจ็บตัว และใช้เวลาไม่นาน ตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล

4. การสแกนตับและถุงน้ำดี HIDA Scan (Hepatobiliary Iminodiacetic Acid Scan)

HIDA Scan เป็นการตรวจที่ใช้สารทึบรังสีชนิดพิเศษ เพื่อประเมินการทำงานของระบบตับ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตและการไหลเวียนของน้ำดีจากตับไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum)

ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารทึบรังสีที่เรียกว่า HIDA (Iminodiacetic Acid) เข้าไปในเส้นเลือด สารนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับและผสมกับเซลล์ที่ผลิตน้ำดี แพทย์จะใช้กล้องสแกนพิเศษ เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของสารทึบรังสีผ่านทางระบบตับและถุงน้ำดี รวมถึงดูว่ามีการไหลเวียนของน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นอย่างปกติหรือไม่

HIDA Scan ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพการทำงานของตับ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดีได้ชัดเจน หากมีภาวะอุดตันในท่อน้ำดี ถุงน้ำดีบีบตัวผิดปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้เล็กส่วนต้น การตรวจนี้จะช่วยระบุสาเหตุได้

การตรวจ HIDA Scan มีข้อดี คือ สามารถวินิจฉัย ภาวะอุดตันของท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือภาวะท่อน้ำดีตีบแคบ ช่วยประเมินการทำงานของถุงน้ำดี และตรวจหาภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง โดยไม่ต้องผ่าตัด

5. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

CT Scan เป็นการตรวจที่ใช้รังสีเอกซเรย์ร่วมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างภาพที่มีความละเอียดสูงของตับและอวัยวะใกล้เคียง โดยเฉพาะในกรณีที่แพทย์ต้องการตรวจสอบก้อนเนื้อ หรือภาวะอุดตันของท่อน้ำดี เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งตับ หรือผู้ที่ต้องการการตรวจที่ให้รายละเอียดของก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ

การตรวจ CT Scan มีข้อดีคือ ให้ภาพที่มีรายละเอียดสูง เหมาะสำหรับการประเมินความผิดปกติที่ซับซ้อน

6. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

MRI เป็นการตรวจที่ใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพของตับและท่อน้ำดี มีความละเอียดสูงและช่วยให้เห็นความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีก้อนเนื้อหรือเนื้องอกในตับ

การตรวจ MRI มีข้อดีคือ ไม่มีการใช้รังสี และสามารถตรวจความผิดปกติของเนื้อเยื่ออ่อนในตับได้อย่างละเอียด

7. การตรวจโดยการส่องกล้อง ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography)

ERCP เป็นการตรวจและรักษาที่ใช้ กล้องส่องทางเดินอาหาร (Endoscope) ร่วมกับการฉีดสารทึบแสงเข้าสู่ท่อน้ำดีและตับอ่อน เพื่อดูภาพทางรังสี (X-ray) 

การตรวจ ERCP มีข้อดีคือ สามารถตรวจหาความผิดปกติ เช่น นิ่ว หรือภาวะตีบแคบของท่อน้ำดีได้ และสามารถรักษาได้ทันที เช่น การนำก้อนนิ่วออก หรือการใส่ขดลวด (Stent) เพื่อเปิดท่อน้ำดี

8. การตรวจท่อน้ำดีด้วย MRCP (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography)

MRCP เป็นการตรวจเฉพาะสำหรับระบบท่อน้ำดีและตับอ่อน โดยใช้เทคโนโลยี MRI ในการสร้างภาพของท่อน้ำดี เพื่อประเมินภาวะอุดตัน นิ่วในท่อน้ำดี หรือเนื้องอกที่กดทับท่อน้ำดี เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยภาวะอุดตันของท่อน้ำดี และต้องหลีกเลี่ยงรังสี

การตรวจ MRCP มีข้อดีคือ ไม่ต้องใส่เครื่องมือผ่านทางปากลงไปยังท่อน้ำดี และไม่มีการใช้รังสี จึงปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่ต้องหลีกเลี่ยงรังสี เช่น สตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติได้อย่างละเอียด

การตรวจการทำงานของตับไม่เพียงช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับตับเท่านั้น แต่ยังช่วยเฝ้าระวังสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือมีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคตับ 

หากคุณมีอาการผิดปกติ เช่น ตัวเหลือง ท้องอืด หรือปวดบริเวณชายโครงขวา ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจการทำงานของตับ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top